Highlights

ผลวิจัยชี้ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” พฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ แนะขยับร่างกายลดน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังอาหาร


“พฤติกรรมเนือยนิ่ง” พฤติกรรมเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและเบาหวาน ผลวิจัยอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ เผย เพียงเดินเบาๆ 3 นาทีหลังนั่งต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 30 นาที ช่วยลดค่าน้ำตาลและไขมันในเลือดได้


วิถีชีวิตปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงเนื่องจากต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่จำกัด รูปแบบและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตติดที่-ติดโต๊ะ-ติดจอ ทั้งนั่งเรียนและนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง”

พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะเป็นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases; NCDs) ที่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนองค์การอนามัยโลกออกมารณรงค์แนะนำให้คนรักสุขภาพทั้งหลายขยับร่างกายให้มากขึ้น

Dr.Varit Wongpipit
อาจารย์ ดร.วริศ วงศ์พิพิธ
สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ขยับร่างกายอย่างไร บ่อยหรือนานแค่ไหนจึงจะดีต่อสุขภาพ? เหล่านี้มีคำตอบจากงานวิจัย “การแทรกกิจกรรมทางกายระหว่างการนั่งเนือยนิ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และการตอบสนองของเมตาบอลิซึมหลังอาหารในผู้ชายเชื้อชาติจีนที่มีภาวะ“อ้วนลงพุง” ผลงานวิจัยของอาจารย์ ดร.วริศ วงศ์พิพิธ สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาการศึกษา ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

“พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เป็นอย่างไร

อ.ดร.วริศ อธิบายความหมายของ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ว่าเป็นพฤติกรรมการนั่งเอนหลัง หรือนอนในขณะที่ตื่นนอนแล้ว หรือภาวะที่ต้นขาอยู่ขนานกับพื้นในขณะที่ตื่นนอน เช่น เวลานั่งทำงาน นั่งเรียนในห้องเรียน ซึ่งร่างกายจะใช้พลังงานค่อนข้างต่ำคือน้อยกว่า 1.5 METs (หน่วยวัดพลังงาน)ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการนั่งระยะเวลานานเพียงใดถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่งานวิจัยเชิงการทดลองมีแนวโน้มที่จะให้คำแนะนำว่าไม่ควรนั่งนานต่อเนื่องมากกว่า 30–60 นาทีเพื่อสุขภาพที่ดีซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งนั้นสามารถมีได้ทั้งคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำและคนที่ขาดกิจกรรมทางกาย แต่คนที่ขาดกิจกรรมทางกายจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงที่สุด

งานวิจัย “นั่งเนือยนิ่ง” ชิ้นแรกในคนเอเชีย

อ.ดร.วริศ ทำงานวิจัยชิ้นนี้ระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอกที่คณะครุศาสตร์ ที่ The Chinese University of Hong Kong นับเป็นงานวิจัยแรกในศาสตร์ทางด้านสรีรวิทยาของพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ศึกษาวิจัยในคนเอเชีย

“เราศึกษากลุ่มผู้ชายเชื้อชาติจีนอายุ 18–34 ปีที่มีภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต่างๆ โดยศึกษาว่าการนั่งเนือยนิ่งมีผลต่อกลไกเมตาบอลิซึม (metabolism) หรือสรีรวิทยาที่ช่วยให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำหน้าที่ได้ตามปกติหรือไม่ อย่างไร”

งานวิจัยนี้ศึกษากลุ่มเป้าหมายจำนวน 21คน โดยจะมีการเจาะเลือดตรวจร่างกายหลังการนั่งเนือยนิ่งทุกๆ 30 นาทีเป็นระยะเวลา 7 ชั่วโมง

“เราต้องการดูว่ากลุ่มนี้ต้องขัดการนั่งเป็นระยะเวลานานบ่อยแค่ไหนจึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเปรียบเทียบระหว่างการนั่งต่อเนื่องเป็นเวลา 30 นาทีแล้วลุกเดินระดับเบาเป็นเวลา 3 นาที กับการนั่งต่อเนื่อง 60 นาทีแล้วเดินระดับเบาเป็นเวลา 6นาที โดยทั้งสองการทดลองมีการใช้ระดับพลังงานที่เท่ากันแล้วเราจะให้แก่ผู้เข้าร่วมวิจัยรับประทานอาหารที่จัดไว้ให้และเจาะเลือดตรวจทุก 30 นาที” อ.ดร.วริศ อธิบายกระบวนการวิจัย

นอกจากนี้แล้ว อีกงานวิจัยที่ อ.ดร.วริศ ได้ทำเป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่เพศชายจำนวน 18คน ที่มีภาวะอ้วนลงพุงแต่ร่างกายแข็งแรงปกติดีเพื่อศึกษารูปแบบของการลดการนั่งเป็นระยะเวลานานว่ามีผลแตกต่างกันอย่างไร

“กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวต้องมาร่วมวิจัยต่อเนื่องจำนวน 3ครั้ง โดยให้ 1) นั่งเนือยนิ่ง 7 ชั่วโมง  2) เดินเบา ๆ 3 นาทีทุก 30 นาทีของการนั่งตลอด 7 ชั่วโมง และ 3) เดินเร็ว 1.5 นาทีทุก 30 นาทีของการนั่งตลอด 7 ชั่วโมง”

เดิน 1-3 นาทีหลังมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ลดความเสี่ยง NCD ได้

โดยทั่วไป คนเราใช้เวลาในการออกกำลังกายเพียง 5% ของเวลาในแต่ละวัน หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ที่กล่าวว่าไม่มีเวลาออกกำลังกายต่อเนื่อง งานวิจัยเผยว่าเราไม่จำเป็นต้องออกกำลังกาย ต่อเนื่องเป็นชั่วโมงต่อวันก็ได้ เราสามารถสะสมการออกกำลังกายตลอดทั้งวันได้โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำว่าต้องทำต่อเนื่องกี่นาที ก็สามารถลดความเสี่ยงในการไม่เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ได้

“หลังจากนั่ง 30 นาที หากลุกขึ้นแล้วเดินช้าๆอย่างน้อย 3 นาที หรือถ้าต้องการสะสมการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย อาจจะเดินเร็วๆ สัก1 นาทีครึ่งเป็นต้นไปแทนก็ได้ ก็จะส่งผลดีต่อเมตาบอลิซึม  ทำให้ค่าน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังรับประทานอาหารลดลงและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจได้”

อ.ดร.วริศ กล่าวว่าผลการวิจัยเรื่องนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนไทยได้ทุกช่วงวัย ทั้งวัยเรียนวัยทำงาน และผู้สูงวัยเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร และส่งเสริมคุณภาพชีวิต

“ระหว่างวัน หลังจากพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่อง 30 นาที เราควรแทรกกิจกรรมทางกายเข้ามา เช่น ยืน เขย่งขา ย่อตัวๆ อยู่ที่โต๊ะทำงาน โต๊ะเรียน หรือเดินเบาๆ เดินเร็วเพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ มีการบีบและคลายตัว เพียงประมาณ 1.5- 3 นาทีเท่านั้น โดยที่เราสามารถทำได้ด้วยตนเองทั้งที่ทำงานหรือที่บ้าน ซึ่งไม่ทำให้เสียเวลางานหรือหลุดจากโฟกัสของงานเลยและยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น” อ.ดร.วริศแนะนำ

อ.ดร.วริศ ได้ประยุกต์ผลงานวิจัยนี้มาใช้กับการเรียนการสอนที่คณะครุศาสตร์  จุฬาฯ ในรายวิชาที่อาจารย์สอน โดยแนะนำให้นิสิตยืน ลุกนั่ง เดินไปเข้าห้องน้ำหรือดื่มน้ำ หรือทำกิจกรรมในห้องเรียนที่ให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างน้อย 1.5 – 3 นาทีทุกๆ 30 นาทีของการนั่งต่อเนื่อง แล้วจึงกลับมาเรียนต่อ ซึ่งได้รับผลตอบรับจากนิสิตเป็นอย่างดี เพราะนิสิตมีสุขภาพที่ดีขึ้น ตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น ไม่ง่วงนอน นับเป็นการส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพด้วย

ปัจจุบัน อ.ดร.วริศ ได้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ศึกษาวิจัยต่อยอดเรื่องพฤติกรรมนั่งเนือยนิ่งกับการแทรกกิจกรรมทางกายในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงไทยที่มีน้ำหนักเกิน โดยร่วมมือกับภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คาดว่างานวิจัยจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้า

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า