รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
30 มิถุนายน 2565
ผู้เขียน คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และเทคโนโลยีบล็อกเชนได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วทั้งโลกให้ความสนใจและกำลังหาทางในการประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง องค์กร และสังคม
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีทุกเทคโนโลยีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เปรียบเสมือนมีดหรือดาบที่สามารถใช้ในการตัดสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถบาดมือและสร้างบาดแผลให้กับผู้ใช้ที่ไม่ระมัดระวังได้ ดังเช่นในคำสุภาษิตไทยคำว่า “ดาบสองคม”
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” (ฺBlockchain Technology) ในการ “บันทึก” ข้อมูลธุรกรรม (Transaction Data) ทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติการบันทึกข้อมูลแบบเดิมๆ จากการอาศัย “คนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ” ในการบันทึกข้อมูลแต่ละชุดข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน สู่การบันทึกข้อมูลรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางแบบเดิมๆ ที่อาจจะ “ไว้ใจไม่ได้” แต่อาศัยตัวกลางที่เป็นระบบเครือข่าย (Network System) ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์จากผู้คนทั่วทั้งโลกในการบันทึกข้อมูล โดยทุกชุดข้อมูลจะถูกสร้างความสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกัน (โดยการสร้างลายเซ็นดิจิทัล) เสมือนการสร้าง “ห่วงโซ่” ที่ผูกทุกชุดข้อมูลเอาไว้อย่างแน่นหนาเพื่อทำให้ชุดข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นชุดข้อมูลที่ “แข็งแกร่ง” ที่ทุกคนในโลกเชื่อถือได้อย่างสมบูรณ์
แต่สำหรับคริปโตเคอร์เรนซีนั้น ผู้เขียนคิดว่าคำว่า “ดาบสองคม” น่าจะยังไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอที่จะสะท้อนถึงลักษณะของข้อดีและข้อเสียที่แท้จริงของคริปโตเคอร์เรนซีได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอการใช้คำว่า “ดาบแสนคม” ในการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของคริปโตเคอร์เรนซี โดยผู้เขียนต้องการที่จะสื่อให้เห็นว่าคริปโตเคอร์เรนซีนั้น ถึงแม้จะมีประโยชน์ในด้านต่างๆ อยู่หลายด้าน แต่ถ้าถูกใช้อย่างไม่ระมัดระวังหรือไม่ถูกต้อง ก็สามารถสร้างผลเสียอย่างรุนแรงในรูปแบบที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักมาก่อน
มีบทความมากมายที่กล่าวถึงคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะในด้านประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมากได้แก่ ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำโดยอัตโนมัติได้ตลอด 24 ชม. และค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่จะถูกลงเนื่องจากไม่ต้องทำผ่านสถาบันทางการเงินที่อาจจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง (เพราะสถาบันทางการเงินเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายอยู่มาก เช่น เงินเดือนพนักงาน และค่าเช่าสำนักงาน) ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เนื่องจากค่าธรรมเนียมมีอัตราสูงสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
นอกจากนี้ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมาก “ต้องเล่นคริปโตฯ” คือโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในการลงทุนในระดับสูงเพราะเชื่อว่าคริปโตเคอร์เรนซีคือสกุลเงินแห่งอนาคตที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตเช่นกัน
แต่ถ้าหากพิจารณาดูให้ดี ประโยชน์ที่กล่าวข้างต้นไม่ใช่ประโยชน์ “จริงๆ” ของคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะประโยชน์ในปัจจุบัน (และอีกหลายปีในอนาคต) ที่คนๆหนึ่ง หรือองค์กรหนึ่งๆ ควรหันมาใช้หรือถือครองคริปโตเคอร์เรนซี เพราะในปัจจุบันธุรกรรมทางการเงินที่ทำผ่านสถาบันทางการเงินก็มีความปลอดภัยในระดับที่สูงมาก แถมยังต้องได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ ในทางกลับกันธุรกรรมทางการเงินที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซีนั้นแทบจะตรวจสอบไม่ได้เลย ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้คริปโตเคอร์เรนซี เช่น เหตุการณ์การโจรกรรมคริปโตเคอร์เรนซีครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นกับ Mt. Gox ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่เคยมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่ใช้ระบบ Mobile Banking ก็มีความสะดวกรวดเร็วในระดับที่สูงมาก ซึ่งค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหลายประเภทนั้นแทบจะไม่มีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคล หรือการจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่าน QR Code หรือ ระบบ Online Payment
ส่วนประโยชน์ในด้านการลงทุนนั้น คริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการ “รวยทางลัด”หรือ “รวยเร็ว” จากการได้รับผลตอบแทนในระดับสูง เพราะผลตอบแทนของคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมากและไม่มีอะไรมายืนยันหรือรองรับว่าราคาของคริปโตเคอร์เรนซีนในแต่ละตัวนั้นจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดไป อันที่จริงประโยชน์ในด้านการลงทุนของคริปโตเคอร์เรนซีที่พอจะมีความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง คือประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยมีงานวิจัยชั้นนำหลายชิ้นพบว่าคริปโตเคอร์เรนซีสามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนได้ เช่น งานวิจัยของ Akhtaruzzaman และคณะ (2020) ที่ศึกษาข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2011 ถึง 2018 และพบว่า Bitcoin สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและดัชนีหุ้นกู้ได้เพราะราคาของ Bitcoin ไม่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อื่นอย่างสมบูรณ์ งานวิจัยของ Urquhart และ Zhang (2019) พบว่า Bitcoin สามารถช่วยป้องกัน (Hedge) และช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversify) ในการซื้อขายระหว่างวันในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ Bouri และคณะ (2020) ยังพบอีกว่านอกจาก Bitcoin แล้วยังมี Ethereum และ Litecoin ที่มีคุณลักษณะของการป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในหุ้นสามัญในตลาดเอเซียแปซิฟิกและญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ดี Goodell และ Goutte (2021) กลับพบว่า Tether ซึ่งเป็นหนึ่งใน Stable Coin ตัวหลักของโลกมีคุณลักษณะในการเป็น Safe Haven (สินทรัพย์ที่ราคาไม่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อื่นในพอร์ตการลงทุน) ได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงเช่นในช่วงการระบาดของ Covid-19 ในขณะที่ Bitcoin ไม่มีคุณลักษณะในการเป็น Safe Haven เพราะราคามีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์หลักตัวอื่นๆ เช่น หุ้นสามัญเป็นต้น ดังนั้นแม้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีมีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน แต่เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีเป็นนวัตกรรมทางการเงินชนิดใหม่มากๆ ที่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยอีกมาก แถมข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์มีระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีอีกหลายอย่างที่เราทุกคนควรตระหนักว่า “เรายังไม่รู้” อีกมากเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี
สิ่งที่อันตรายที่สุดของคริปโตเคอร์เรนซีคือ การที่คนจำนวนมากเข้ามา “เล่นคริปโตฯ” หรือ “เล่นดาบแสนคม” เล่มนี้ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชำนาญอย่างแท้จริง ซึ่งคล้ายๆ กับการที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งเอาของมีคมมาเล่นกับเพื่อน ซึ่งคงเป็นภาพที่คิดแล้วน่าจะสร้างความกังวลให้กับทุกๆ คนอย่างไม่น้อย ในปัจจุบันคนจำนวนมากซื้อคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการลงทุน โดยหวังว่าราคาของคริปโตเคอร์เรนซีจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต อย่างไรก็ตามมูลค่าของเหรียญจะสูงขึ้นได้จะมีเพียงกรณีเดียวก็คือมีคนที่มีความต้องการซื้อและถือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น เนื่องจากเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีนั้นไม่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทน เช่นเงินปันผล และไม่สามารถนำไปบริโภคหรือใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ได้
การลงทุนในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการคาดการณ์ว่าจะมีเงินใหม่ไหลเข้ามาในตลาดเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เงินเก่า และเนื่องจากจำนวนคนที่สนใจซื้อเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมีจำกัด ในที่สุดแล้วราคาเหรียญคริปโตก็จะไม่สามารถขึ้นต่อไปได้ตลอดเวลาและอาจจะถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ราคาของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซียังมีความผันผวนมากกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นที่นักลงทุนนิยมเช่น การลงทุนในหุ้นค่อนข้างมาก และที่สำคัญงานวิจัยของ Phiromswad และคณะ (2021) ยังตรวจพบวันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Jump) ในราคาของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่มากกว่า 27 ใน 123 วันที่ทำการศึกษาซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูง
อันตรายอีกประการหนึ่งของคริปโตเคอร์เรนซีคือการที่หลายคนคิดไปเองว่าตนสามารถเก็งกำไรในการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีได้ และหวังว่าวิธีนี้จะเป็นวิธี “รวยทางลัด” โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Delfabbro และคณะ (2021) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “Journal of behavioral addictions” ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของโลกในด้านพฤติกรรมเสพติดได้กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้ที่ชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในเชิงจิตวิทยาว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่เหมือนกับการพนันออนไลน์ (Online Gambling) หรือนักเก็งกำไรรายวัน (Day Trader) เช่น การคิดไปเองว่าตนสามารถควบคุมผลลัพธ์ (Illusion of Control) ของการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีได้ ซึ่งคนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองไปว่าตอนที่สามารถทำกำไรได้จากการพนัน การเก็งกำไรรายวัน หรือการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเป็นผลมาจากความสามารถในกลยุทธ์ของตนเอง แต่ในขณะที่ขาดทุนกลับไม่โทษกลยุทธ์นั้นและกลับคิดไปเองว่าปัจจัยภายนอกเป็นสาเหตุที่ทำให้ขาดทุน
อีกประเด็นที่สำคัญคือผู้ที่ถือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีอยู่แล้วจะมีแนวโน้มที่อยากจะชักชวนให้ผู้อื่นเข้ามาถือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น ทั้งในแบบบริสุทธิ์ใจที่อยากแบ่งปันสิ่งที่ตนคิดว่าดีให้กับผู้อื่น หรือทั้งแบบไม่บริสุทธิ์ใจที่อยากให้คนอื่นเข้ามาซื้อเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้นเพื่อให้ราคาเหรียญที่ตนถืออยู่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสความนิยมของคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า “ความกลัวตกกระแส (แต่ไม่กลัวเจ็บ)” (Fear of Missing Out: FOMO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เวลาคนเราเห็นคนอื่นมีความสุข มีความสนุก หรือกำลังได้รับประโยชน์อะไรบางอย่าง เช่น ถูกรางวัลลอตเตอรี่ ชนะพนัน ได้กำไรจากการเก็งกำไรรายวัน หรือได้กำไรจากการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ก็อยากที่จะได้รับความสุข ความสนุก หรือประโยชน์อย่างที่คนอื่นๆ เขาได้กันบ้าง และมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะต้องเจ็บตัวจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้
การลงทุนในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการใช้เงินใหม่เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เงินเก่า ประกอบกับการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซียังไม่มีการกำกับควบคุมดังเช่นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าอาจจะมีกลุ่ม “เงินเก่า” ระดับใหญ่ ที่บางคนเรียกว่า “เจ้ามือ” หรือ “วาฬ” ที่เป็นกลุ่มคนที่ถือเหรียญบางเหรียญไว้เป็นจำนวนมาก มีความตั้งใจที่จะสร้างกระแสและโฆษณา หรือ “ปั่น” เพื่อดึง “เงินใหม่” จากนักลงทุนรายเล็กที่มักจะถูกเรียกว่า “แมงเม่า” ให้มีความต้องการซื้อเหรียญนั้นๆ เพิ่มมากขึ้นและดันราคาเหรียญให้มีราคาสูงขึ้น แต่เนื่องจากเงินใหม่หรือจำนวนคนที่มีความต้องการเหรียญมีจำกัด สุดท้ายแล้วราคาเหรียญก็จะไม่สามารถขึ้นต่อไปได้ ถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งเจ้ามือก็จะเทขายทำกำไร ได้รับผลกำไรอันสวยงาม ในขณะที่นักลงทุนรายเล็กทั้งหลาย ต่างก็ต้องรับการขาดทุน ดังเช่นการ “หนีตาย” ที่เกิดขึ้นกับเหรียญ Luna ไม่นานมานี้ที่เหรียญมีมูลค่าลดลงถึง 99% ในสองวัน ดังนั้นผู้ที่ซื้อคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการลงทุนจะต้องพึงระวังเอาไว้มากๆ ว่า เมื่อถึงจุดอิ่มตัวที่ไม่มีผู้ซื้อใหม่หรือเงินก้อนใหม่เข้ามาซื้ออีก มูลค่าของเหรียญจะหยุดและไม่ขึ้นสูงได้อีก
ของมีคมทุกชนิดต่างๆ ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ ยิ่งคมมากก็ยิ่งต้องมีความระมัดระวังในการใช้อย่างมาก เช่นเดียวกันกับคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถมองได้ว่าเป็น “ดาบแสนคม” ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้สังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์มากกว่าโทษจากนวัตกรรมทางการเงินชนิดนี้ อย่างเช่น การกำกับดูแลการโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนทุกคนทราบทั้งประโยชน์และโทษของนวัตกรรมนี้อย่างรอบด้าน การโฆษณาที่อาจจะกระทบกับกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กและเยาวชน การเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงข้อควรระวังต่างๆ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาคริปโตเคอร์เรนซี การบริหารความเสี่ยงทางการเงินส่วนบุคคลไม่ให้ใช้เงินทั้งหมดที่มีหรือกู้ยืมเงินมาเล่นคริปโตเคอร์เรนซีจนหมด การประชาสัมพันธ์ข่าวด้านลบของผู้ที่หมดตัวจากคริปโตเคอร์เรนซีให้กว้างขวางเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเสพแต่ข่าวดีเพียงด้านเดียว การบังคับให้ผู้ลงทุนทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนในเหรียญคริปโต การควบคุมดูแลโฆษณาที่ขัดแย้งกับหลักการที่กล่าวข้างต้นโดยเฉพาะโฆษณาที่สื่อว่าการมีความรู้ ความชำนาญ และความเข้าใจในความเสี่ยงของคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น การกำกับดูแลธุรกรรมต่าง ๆ ของคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถสร้างผลเสียมากกว่าผลดีต่อสังคม เช่น การหลอกลวง การโจรกรรมทางดิจิทัล การจงใจ “ปั่นราคา” หรือแม้แต่ผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากคริปโตเคอร์เรนซี เพราะเราทุกคนไม่ควร “ประมาท” ถ้าไม่อยากถูกบาดด้วย “ดาบแสนคม”
Akhtaruzzaman, M., Sensoy, A., & Corbet, S. (2020). The influence of Bitcoin on portfolio diversification and design. Finance Research Letters, 37. https://doi.org/10.1016/j.frl.2019.101344
Bouri, E., Lucey, B., & Roubaud, D. (2020). Cryptocurrencies and the downside risk in equity investments. Finance Research Letters, 33. https://doi.org/10.1016/j.frl.2019.06.009
Delfabbro, P., King, D. L., & Williams, J. (2021). The psychology of cryptocurrency trading: Risk and protective factors. Journal of behavioral addictions, 10(2), 201-207.
Goodell, J. W., & Goutte, S. (2021). Diversifying equity with cryptocurrencies during COVID-19. International Review of Financial Analysis, 76. https://doi.org/10.1016/j.irfa.2021.101781
Phiromswad, P., Chatjuthamard, P., Treepongkaruna, S., & Srivannaboon, S. (2021). Jumps and Cojumps analyses of major and minor cryptocurrencies. PloS one, 16(2), e0245744.
Urquhart, A., & Zhang, H. (2019). Is Bitcoin a hedge or safe haven for currencies? An intraday analysis. International Review of Financial Analysis, 63, 49–57. https://doi.org/10.1016/j.irfa.2019.02.009
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้