รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 กรกฎาคม 2565
ผู้เขียน ขนิษฐา จันทร์เจริญ
ทีมวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาวิธีการสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัขจากสเต็มเซลล์และเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์สำเร็จเป็นแห่งแรก มุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย เพื่อใช้ในการรักษาสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานต่อไป
ไม่เฉพาะมนุษย์ สัตว์เลี้ยงก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน โดยปัจจุบัน พบอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในสุนัขและแมวถึง 5 – 10 % ซึ่งการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินยังไม่สู้จะให้ผลดีนัก ทีมวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด (Bio ink Co., Ltd.) บริษัทสปินออฟ (spin-off) ของจุฬาฯ พัฒนาวิธีการสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัขจากสเต็มเซลล์ และเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศ มุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย เพื่อใช้ในการรักษาสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานต่อไป
“โรคเบาหวานในคนและสัตว์เลี้ยงมีความใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง แต่องค์ความรู้ในการรักษาเบาหวานในสัตว์และในคนยังห่างไกลกันมาก ปัจจุบัน การรักษาโรคเบาหวานในคนมีแนวโน้มที่จะใช้สเต็มเซลล์และเทคโนโลยีขั้นสูง เราจึงพยายามนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาการรักษาในสัตว์ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เจนภพ สว่างเมฆ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ co-founder ของบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด กล่าวถึงแรงจูงใจในการพัฒนาวิธีการสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัขจากสเต็มเซลล์
“เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย หากมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากตัวโรคก็สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ หรือหากไม่สามารถคุมน้ำตาลได้ ในระยะยาวก็จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ รวมถึงเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง”
ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ อธิบายว่าโรคเบาหวานที่เกิดในสุนัขส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือร่างกายไม่มี beta-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ใช้ในการสร้างอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายขาดอินซูลิน ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่พบในแมวนั้น ร่างกายยังมี beta-cells แต่มีความบกพร่องในการหลั่งอินซูลิน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้น การรักษาโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดก็จะมีความแตกต่างกัน
อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ศิริรัตน์ นันวิสัย และ ดร.วัชรีวรรณ รอดประเสริฐ co-founder บริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการวิจัยครั้งนี้ หน่วยวิจัย Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด เน้นการศึกษาเพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เกิดขึ้นในสุนัข เป็นลำดับแรก เนื่องจากพบว่ากระบวนการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันที่ใช้การฉีดอินซูลินให้สุนัขยังให้ผลการรักษาไม่ดีนัก
“ในการวิจัย เราสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัข หรืออาจเรียกว่า เซลล์สังเคราะห์อินซูลิน (insulin-producing cells, IPCs) ซึ่งเป็นเซลล์ตับอ่อนที่เหนี่ยวนำมาจากสเต็มเซลล์ชนิดมีเซนไคม์ของสุนัข (canine mesenchymal stem cells, cMSCs) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกถ่าย เพื่อใช้ในการทดแทนเซลล์ตับอ่อนที่เสียหายหรือถูกทำลายไป โดยเซลล์ที่ผลิตได้นี้ มีความสามารถในการสร้างและหลั่งอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร.วัชรีวรรณ กล่าวต่อไปว่าวิธีการดังกล่าวใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี double encapsulation ทำให้เซลล์แข็งแรง ป้องกันเซลล์จากความเสื่อมและเสียหาย รวมทั้งการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
“โรคเบาหวานเป็นที่โรคที่รักษาไม่หายขาด องค์ความรู้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าสเต็มเซลล์สามารถทดแทนเซลล์อื่นในร่างกายได้ จึงนำความรู้ที่มีอยู่มาสร้างเซลล์จำเพาะด้วยกระบวนการเหนี่ยวนำในห้องทดลอง ร่วมกับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ โดยมุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วยในระยะต่อไป ซึ่งทีมมีความมุ่งหมายในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด ลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาให้น้อยลง”
ปัจจุบัน ทีมงานวิจัยสามารถพัฒนาเซลล์จากเนื้อเยื่อของสุนัข นำมาคัดแยกสเต็มเซลล์ เลี้ยงเพิ่มจำนวน และประสบความสำเร็จในการสร้างกระบวนการเหนี่ยวนำเซลล์ พร้อมเทคโนโลยีการปลูกถ่าย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สำเร็จพร้อมทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยทั้งตัวเซลล์ และระบบการนำส่งในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย คาดว่าไม่เกิน 3 ปีก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาจริงในสัตว์ต่อไป
“สเต็มเซลล์สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ถ้าเราสร้างเซลล์จากสเต็มเซลล์ได้ ในอนาคตทุกอวัยวะในร่างกายจะถูดทดแทนโดยการใส่เซลล์หรือเนื้อเยื่อเข้าไปแทนได้เลย ขณะนี้เราได้ทำการศึกษาควบคู่ไปกับการทำกระดูกเทียมเพื่อทดแทนกระดูกที่มีความเสียหายหรือเร่งการซ่อมแซมกระดูก รวมถึงการทำกระจกตาในสุนัขซึ่งศึกษาวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ”
ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ กล่าวว่าเทคโนโลยีสเต็มเซลล์เป็นความหวังในการใช้รักษาโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในการรักษาสัตว์เลี้ยงจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้รักษาคนด้วย
จากองค์ความรู้ด้านไบโอเอนจิเนี่ยริ่งและสเต็มเซลล์เทคโนโลยี หน่วยวิจัย VSCBIC คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ทั้งในส่วนของเซลล์บำบัด (cell therapy) และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ (stem cell-derived products) สำหรับใช้ในการรักษาโรคในสัตว์เลี้ยงในอนาคตอันใกล้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Exosome Product โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาทำเป็นเวชภัณฑ์ที่สามารถใช้เพื่อรักษาโรคให้กับสัตว์ป่วย หรือให้เข้าไปในอวัยวะเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูอวัยวะที่เสื่อมหรือเสียหาย นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้รักษาโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต และโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ การติดเชื้อ หรือโรคทางภูมิคุ้มกัน คาดว่าจะพร้อมทดสอบในสัตว์ทดลองภายในปีนี้ และไม่เกิน 2 ปี จะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เพื่อใช้ในการรักษาโรคในสัตว์ป่วยต่อไป
สนใจโปรดติดต่อ https://www.cuvscbic.com/ หรือ https://www.bioinkcu.com/
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้