รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
20 กรกฎาคม 2565
ผู้เขียน คณาจารย์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับประเทศไทย หลายภาคส่วนได้เริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ เนื่องจากเกรงว่า อัตราภาวะเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) ของไทยที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก (อ้างอิงสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง) โดยในปี พ.ศ. 2564 (เดือนมกราคมถึงธันวาคม) ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิด 19,080 คน ในขณะที่ปี พ.ศ. 2563 ประเทศยังมีการเกิดมากกว่าการตายอยู่ถึง 85,930 คน
หากมองย้อนไปในอดีตในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) และแผนฯ 2 (พ.ศ. 2510-2514) พบว่าอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศไทยเคยอยู่ที่ร้อยละ 6 ซึ่งอาจกล่าวง่ายๆ อีกนัยหนึ่งว่าแต่ละครอบครัวเคยมีบุตรประมาณ 6 คนโดยเฉลี่ย โดยในขณะนั้นมีการมองว่า อัตราภาวะเจริญพันธุ์ในระดับสูง เป็นการถ่วงโอกาสการพัฒนาของประเทศ รัฐบาลจึงได้เริ่มกำหนดนโยบายลดอัตราการเพิ่มประชากรไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) โดยมุ่งดำเนินการลดอัตราการเพิ่มประชากรอย่างต่อเนื่องจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) นอกจากนี้ปัจจัยทางสังคมและทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของอัตราการมีส่วนร่วมในกําลังแรงงานของสตรี (female labor force participation) มีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายทางประชากรในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2545-2549) โดยกำหนดนโยบายที่เน้นการกระจายตัวประชากรและการตั้งถิ่นฐานชุมชนเมือง-ชนบทที่เติบโตอย่างเหมาะสม และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2550-2554) มุ่งรักษาระดับของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ไม่ให้ต่ำกว่า 1.8 โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อๆไปก็ยังคงมุ่งเน้นรักษาระดับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ไม่ให้อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดีการรักษาระดับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้โดยง่าย โดยในปี พ.ศ. 2553 อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศลดลงเหลือ 1.6 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน (Replacement Level) และยังคงลดลงเรื่อยมา โดยตัวเลขจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบอัตราภาวะเจริญพันธุ์ลดลงเหลือ 1.44 ในขณะที่ สถิติสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2562 พบอัตราภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ระดับ 1.29 การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับประเทศ โดยประเด็นเหล่านี้ได้ถูกบรรจุให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลายๆประเด็น
การกลับลำของนโยบายทางประชากรแบบนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น อาทิเช่น ประเทศจีนที่เคยใช้นโยบายลูกคนเดียว ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่เน้นการส่งต่อความมั่งคั่งจากลูกสู่พ่อแม่ (wealth flows from children to parent) เพราะการมีลูกเยอะช่วยพ่อแม่ทำงานได้ ก็ได้เปลี่ยนนโยบายให้ไปสู่การมีลูกสองคนและในปัจจุบันได้ปรับนโยบายเป็นลูกสามคน ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่เน้นการส่งต่อความมั่งคั่งจากพ่อแม่ไปสู่ลูก เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์สู่สังคมอย่างยั่งยืน (อ้างอิงจาก Xinhua Headlines: China Unveils Details of Three-Child Policy, Support Measures, 2022; สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร, 2022; China allows three children in major policy shift, 2022))
อย่างไรก็ดี ความท้าทายอีกมุมหนึ่งของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับความสนใจและยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ คือการก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้บุตรหลาน” จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง 2561 พบว่า โครงสร้างของครัวเรือนที่ “ไร้บุตรหลาน” มีสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2561 นั้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 37.4 ของครัวเรือนทั้งหมด (เพิ่มจากร้อยละ 26.1 ในปี 2549) ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต (growth rate) ที่สูงถึงร้อยละ 43.3 โดยโครงสร้างของครัวเรือนที่ไร้บุตรหลาน ประกอบด้วยครอบครัว DINK (Double Income No Kids) หรือ ครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่มีบุตร และครอบครัว SINK (Single Income No Kids) หรือ ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ครอบครัว DINK กับ ครอบครัว SINK พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ครอบครัว SINK มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ของ เกื้อ (2549) และ Wongboonsin และ คณะ (2014) ถ้าคิดเป็นจำนวนจะพบว่า ประชากรไทยในปัจจุบันกว่า 21 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือน “ไร้บุตรหลาน” ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก และที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น คือตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
สาเหตุหลักของการเกิดสังคมไร้บุตรหลานนั้นเกิดจากการที่สังคมไทยมีแนวโน้มการมีบุตรในจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถเห็นได้จากการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ หรือจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อสตรีหนึ่งคนตามที่กล่าวแล้วข้างต้น สาเหตุหลักของการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์นั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคม อาทิเช่น การมีงานทำของสตรีที่มีจำนวนและอัตราที่สูงขึ้น อายุแรกสมรสของคู่สมรสที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การที่สตรีไทยมีบุตรคนแรกในวัยที่สูงกว่าในอดีต แนวโน้มของการเป็นโสดที่เพิ่มมากขึ้น และ แนวโน้มการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้เป็นผลจากค่านิยมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการมีความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองเป็นลำดับต้นในการบรรลุเป้าหมายของชีวิต ซี่งจะเห็นได้จากแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมที่เน้นเลือกที่จะทำงานสร้างรายได้ก่อนที่จะแต่งงาน และเลือกที่จะมีบ้าน มีรถ เครื่องอำนวยความสะดวกภายในบ้าน ก่อนที่จะมีบุตร หรือเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตด้วยตนเองและไม่ต้องมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบอีกชีวิตหนึ่ง
หากอ้างอิงข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง 2561 พบว่าจำนวนครัวเรือนผู้สูงอายุที่ไร้บุตรหลานมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2561 จำนวนครัวเรือน DINK และครัวเรือน SINK ที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลานนั้นจะมีผลกระทบอย่างไร ในการตอบคำถามนี้ เราจะอ้างอิงถึงงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลาน โดยงานวิจัยสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป และอีกกลุ่มคืองานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิเช่น ประเทศจีน และ ประเทศไทย จากงานวิจัยเหล่านี้การไม่มีลูกหลานอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุได้หลักๆอยู่ 2 ทาง คือ ทางการเงินเนื่องจากผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานมาช่วยเหลือปัญหาทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในวัยเกษียณ ซึ่งปัญหาทางการเงินเหล่านี้อาจจะมาจากการเก็บเงินออมไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการมีปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องใช้เงินในการรักษาตัวมากกว่าที่ได้วางแผนเตรียมไว้ สำหรับผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งคือ ทางสุขภาวะทางจิต โดยผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานอาจรู้สึกเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกไม่มีค่า และขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เป็นต้น
งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนมากจะพบว่าก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลานนั้นไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุทั้งในด้านการเงินและด้านสุขภาวะทางจิต อาทิเช่น งานวิจัยของ Plotnick (2009) ที่ศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีทรัพย์สินโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้สูงอายุที่มีลูกด้วยซ้ำ นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตร ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินไว้สำหรับมรดกของบุตรหลานจึงสามารถใช้จ่ายเงินในวัยเกษียณได้มากกว่า อีกตัวอย่างมากจาก งานวิจัยของ Hank and Wagner (2013) ที่พบว่าการไม่มีลูกหลานไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุในด้านการเงิน ในด้านสุขภาวะทางจิต และ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น ถ้าเราอ้างอิงจากงานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะตีความไปว่าก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลานนั้นไม่ได้น่ากลัวอะไร
แต่งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิเช่น ประเทศจีน และ ประเทศไทย ผลการศึกษากลับเป็นตรงกันข้ามกับที่พบในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลานนั้น มีผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจนต่อผู้สูงอายุทั้งในด้านการเงินและด้านสุขภาวะทางจิต อาทิเช่น งานวิจัยของ Guo, M. (2014) ที่ทำขึ้นในประเทศจีน พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่า และรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตในปัจจุบัน โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรและรายได้น้อย สาเหตุหลักของความทุกข์เกิดมาจากการไม่ได้รับการดูแลทางการเงินจากบุตรที่ตนเองไม่มี การได้รับการดูแลทางการเงินจากบุตรเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุชาวจีนคาดหวังตามแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา อีกตัวอย่างคือ งานวิจัยของ Djundeva และ คณะ (2018) ซึ่งก็ทำขึ้นในประเทศจีน พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีสุขภาพที่แย่กว่าผู้สูงอายุที่มีบุตร และมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ที่ต่ำกว่า สำหรับในประเทศไทย งานวิจัยในด้านนี้ที่ยังมีค่อนข้างน้อย แต่ก็พบผลกระทบเชิงลบสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรเช่นกัน โดยงานวิจัยของ Quashie และ Pothisiri (2018) ก็พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรจะมีสุขภาวะทางจิตที่แย่กว่าและมีโอกาศเกิดโรคซึมเศร้าได้สูง
ดังนั้นผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลานนั้นอาจจะน่ากลัวกว่าที่เราคิดไว้ด้วยซ้ำ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีโอกาสส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้างและมีความรุนแรงมากกว่าสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างเช่น ประเทศไทย เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้โดยเฉลี่ยที่สูงกว่า และมีสวัสดิการทางสังคมที่ค่อนข้างดีกว่ามาก อย่างที่เรามักจะกล่าวกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น “รวยก่อนสูงวัย” แต่ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา “สูงวัยก่อนรวย”
สำหรับอนาคตประชากรไทย ผู้เขียนได้คาดประมาณแนวโน้มประชากรไทยเป็นสามแนวโน้ม กล่าวคือ 1. แปรผันปานกลาง (Medium Variant) 2. แปรผันสูง (High Variant) และ 3. แปรผันต่ำ (Low Variant) ดังต่อไปนี้
ในส่วนข้อสมมุติอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด พ.ศ. 2538– 2583 ผู้เขียนได้ตั้งค่าไว้ตามตารางต่อไปนี้
แนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ของไทยในสมมุติฐานแปรผันต่ำ (Low Variant) แปรผันปานกลาง (Medium Variant) และแปรผันสูง (High Variant)
จากสมมุติฐานข้างต้น พบว่าประชากรไทยจะเริ่มลดลงราวปี พ.ศ. 2566 2573 และ 2578 สำหรับสมมุติฐานการแปรผันสูง ปานกลาง และต่ำ โดยในกรณีแปรผันสูงซึ่งภาวะเจริญพันธุ์อยู่ในระดับที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 65.4 ล้านคนในปีพ.ศ. 2568 โดยจะลดลงต่อไปเป็นประมาณ 62 ล้านคนในปีพ.ศ. 2588 และเหลือเพียง 55.9 ล้านคนในปีพ.ศ. 2598 ซึ่งเป็นการลดลงเกือบ 10 ล้านคน
สำหรับประเด็นการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของไทยที่ต่ำกว่าระดับทดแทนในปัจจุบันนั้น จากประสบการณ์ของประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนมาก่อนประเทศไทย พบว่ายังไม่มีประเทศใดสามารถทำให้อัตราภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มสูงขึ้นได้ภายในระยะเวลา 10-20 ปี เนื่องจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างบริบททางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลต่อภาวะการมีบุตรในจำนวนที่ต่ำกว่าความปรารถนา โดยประเด็นที่สำคัญที่ต้องแก้ไขคือการปรับทัศนคติว่าการมีบุตรไม่ใช่เรื่องของแต่ละครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคมด้วย เนื่องจากบุตรของแต่ละครอบครัวจะเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของสังคมต่อไปในอนาคต และทุนมนุษย์นี้จะกลายเป็นทุนทางสังคมและเป็นฐานพลังทางเศรษฐกิจที่จะรองรับสัดส่วนประชากรสูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
โครงสร้างประชากรไทย ปี พ.ศ. 2543 2563 และ 2593: แปรผันต่ำ (Low Variant) แปรผันปานกลาง (Medium Variant) และแปรผันสูง (High Variant)
การคาดประมาณแนวโน้มประชากรไทย พ.ศ. 2493 – 2593: แปรผันต่ำ (Low Variant) แปรผันปานกลาง (Medium Variant) และแปรผันสูง (High Variant)
แต่ทว่า การปรับทัศนคติดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลามาก ดังเช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อาทิ ประเทศสวีเดน ซึ่งอัตราภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก 1.52 ในปีพ.ศ. 2542 มาเป็น 1.57 ในปีพ.ศ. 2544 และ 1.67 ในปีพ.ศ. 2548 (รายละเอียดงานวิจัยข้างต้นดูได้จาก พัชราวลัย. บรรณาธิการ. 2558 รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำที่เหมาะสมกับสังคมไทย ภายใต้โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยแต่ละครอบครัวเน้นที่จะมีบุตรให้สามารถทดแทนประชากรรุ่น (generation) ก่อนหน้าตน เนื่องจากได้เล็งเห็นปัญหาของหลายประเทศที่ครอบครัวมีบุตรน้อยลงจนต้องพึ่งแรงงานย้ายถิ่นจากต่างแดน ทำให้ประเทศที่พึ่งแรงงานย้ายถิ่นจากต่างแดนมักเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ (heterogeneous society) เกินกว่าความต้องการ นอกจากนี้ ประเทศสังคมผู้สูงอายุหลายประเทศ รวมถึงประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีแนวโน้มในการให้ความสำคัญลดลงต่อการนำเข้าแรงงานย้ายถิ่น โดยให้ความสำคัญกับปริมาณและคุณภาพของคนในชาติ เป็นหลัก
เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องยอมรับว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคม “ปู่ย่าตายาย” หรือสังคม “พ่อแม่ลูก” ไปสู่สังคม “ไร้บุตรหลาน” อย่างรวดเร็ว ดังนั้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยไร้บุตรหลานอย่างเร่งด่วน โดยผู้สูงวัยในอนาคตจะไม่สามารถอาศัยการดูแลของครอบครัว แต่ต้องอาศัยการวางแผนเพื่อดูแลตัวเอง ส่วนภาครัฐเองก็จำเป็นต้องเป็นที่พึ่ง(สุดท้าย)ที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุไทยในอนาคต นอกจากนี้แล้วการมีกลุ่มเพื่อนฝูงในวัยใกล้เคียงกันคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็น่าจะมีส่วนสำคัญในลดปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยไร้บุตรหลานได้ (อ้างอิงงานวิจัยของ Mair, 2019)
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้