Highlights

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำด้านการมาตรฐานและวิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับโลก


ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมโยงครัวไทยสู่ครัวมุสลิมโลก ครบครันนวัตกรรมและการบริการด้านการมาตรฐานฮาลาล การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานระดับสากลตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ


ช่วง พ.ศ.2537-2538 เกิดกระแสกังวลในหมู่มุสลิมประเทศไทยเรื่องการปนเปื้อนสิ่งหะรอม (สิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการในศาสนาอิสลาม) ในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล (อนุมัติตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม) สำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งในเวลานั้นดูแลการรับรองฮาลาลได้ขอให้นักวิทยาศาสตร์จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารฮาลาลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิม ต่อมาใน พ.ศ.2540 ห้องปฏิบัติการได้ตรวจพบการปนเปื้อนสุกรในไส้กรอกเนื้อสำหรับมุสลิมกระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่

นับจากนั้น กระแสความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในอาหารฮาลาลเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคมุสลิมให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 สนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาคุณภาพการรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์อาหารไทย ต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติในการประชุมวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2547 ให้ยกระดับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปสู่การยอมรับคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยในโลกมุสลิม ส่งผลเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งครัวมุสลิมนับเป็นครัวขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากรมุสลิมถึง 2,000 ล้านคน

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลผ่านการมาตรฐานฮาลาล (Halal standardization) และการตรวจพิสูจน์สภาพฮาลาล (Halalness) ตามมาตรฐาน เป็นแห่งเดียวในประเทศที่เน้นการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม รวมทั้งสร้างสรรค์งานวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ศูนย์ฯพัฒนางานมาอย่างต่อเนื่องร่วม 20 ปีแล้ว” รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงพันธกิจของศูนย์ฯ

ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล รศ.ดร.วินัย ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 500 ผู้ทรงอิทธิพลในโลกมุสลิมจากศูนย์ยุทธศาสตร์อิสลามศึกษา (The Royal Islamic Strategic Studies Centre) ภายใต้รัฐบาลจอร์แดน เป็นปีที่ 13 ติดต่อกันนับจาก ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา

Winai Dahlan
รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตลาดฮาลาล โอกาสของเศรษฐกิจไทย

ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา เมื่อไทยมีนโยบายเปิดประเทศให้เป็น “ครัวของโลก” มีการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ขึ้นใน พ.ศ.2547 นับจากนั้นศูนย์ฯก็แสดงบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลก

“แม้ประเทศไทยมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม แต่คนมุสลิมทั่วโลกเชื่อมั่นอาหารฮาลาลจากประเทศไทยเมื่อรับทราบว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการพิสูจน์และรับรองมาตรฐานตามแนวทางศาสนาควบคู่วิทยาศาสตร์”  รศ.ดร.วินัย กล่าวพร้อมเผยตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ “ตลาดฮาลาลเป็นตลาดที่ใหญ่ ครอบคลุมประชากร 1 ใน 4 ของโลก หรือราว 2,000 ล้านคน ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกผลผลิตทางอาหารและการเกษตรที่มีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 24 ของผลผลิตมวลรวมของชาติ (GDP) ให้ความสนใจเศรษฐกิจฮาลาลโลก (World Halal economy) มาก เนื่องจากมูลค่าสูงกว่า 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เฉพาะอาหารมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ”  

ด้วยมูลค่าของตลาดที่มีขนาดมหึมาเช่นนี้ ใน พ.ศ.2558 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติผลักดันยุทธศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยสู่คุณภาพ “ผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับเพชร” (Thailand Diamond Halal) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558

HAL-Q การมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร

รศ.ดร.วินัย อธิบายว่า “ฮาลาล หมายถึง สิ่งที่อนุมัติให้มุสลิมบริโภคได้อย่างปลอดภัย ทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ จำเป็นต้องปราศจากการปนเปื้อนสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ได้แก่ สุกร สุนัข สัตว์มีเขี้ยวเล็บเพื่อล่าเหยื่อ สัตว์มีพิษ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ สัตว์บกสัตว์ปีกที่บริโภคได้ต้องผ่านการเชือดตามหลักศาสนาอิสลามด้วย เป็นสัตว์แข็งแรง ไม่เป็นโรค ไม่ทรมานก่อนเชือด ผู้เชือดเป็นมุสลิม อุปกรณ์เชือดถูกหลักการ ความซับซ้อนของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเป็นผลให้มุสลิมใส่ใจในมาตรฐานฮาลาลปลอดภัย”

โดยทั่วไป มาตรฐานเป็นเรื่องของหลักการตามเอกสาร ขณะที่การนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติ เรียกกันว่า “การมาตรฐาน” (Standardization) ในทางสากลมีการกำหนดระบบการมาตรฐานพื้นฐานไว้ ดังเช่น  SOP, SSOP, GMP, HACCP ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้พัฒนาแนวทางบูรณาการเข้ากับระบบดังกล่าว เช่น Halal-GMP/HACCP ที่ต่อมาพัฒนาสู่ระบบ HAL-Q (Halal Assurance, Liability–Quality System) ซึ่งได้รับรางวัล Best Innovation in Halal Industry จากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียใน พ.ศ. 2549

 “HAL-Q เป็นระบบการบริหารจัดการครบวงจรเพื่อรับประกันและรับผิดชอบสภาพฮาลาล บูรณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบความปลอดภัยอาหารเพื่อผลิตอาหารฮาลาลให้ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม สะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล”

รศ.ดร.วินัย กล่าวว่าปัจจุบัน มีโรงงานเข้าร่วมระบบ HAL-Q กว่า 770 โรงทั่วประเทศ ครอบคลุมแรงงานกว่า 200,000 คน

HAL-Q
HAL-Q

นอกจาก ระบบ HAL-Q แล้ว ศูนย์ฯ ยังพัฒนาระบบ SILK (Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol) ซึ่งได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมในงาน World Halal Research Summit ประเทศมาเลเซียใน พ.ศ.2555 “SILK เป็นระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานฮาลาล โลจิสติกส์และการทวนสอบย้อนกลับฮาลาล ครั้งแรกของโลก เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบ HAL-Q สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน (Competitive advantage) ให้กับอุตสาหกรรมที่นำระบบ HAL-Q ไปประยุกต์ใช้” ต่อมา จึงพัฒนาต่อยอดระบบ SILK เกิดเป็นระบบ SPHERE (System Protocol for Halal Electronic Resource Exchange) แลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบฮาลาลตั้งแต่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร หน่วยราชการ องค์กรศาสนาอิสลาม มหาวิทยาลัย ไปจนถึงผู้บริโภค

สร้างคนพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล

ด้วยหลัก “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ มุ่งพัฒนา “คน” 2 กลุ่ม ได้แก่ นักวิชาการศาสนาและนักวิทยาศาสตร์ ให้เข้าใจศาสตร์ทั้งสองไปพร้อมกัน

“เราพัฒนานักวิชาการศาสนาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ โดยนำนักวิชาการศาสนาฝึกอบรมในภาคอุตสาหกรรมตามแนวทางวิทยาศาสตร์ฮาลาล ทั้งฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้นักวิชาการศาสนามีความรู้เพิ่มเติมทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย”  

“ขณะเดียวกัน เราสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเข้าใจงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นทุนเดิมให้เข้าใจงานศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกแยะสิ่งที่ฮาลาล หะรอม” รศ.ดร.วินัย กล่าว

ในแนวทางพัฒนาคุณภาพบุคลากรที่เป็นทั้งนักวิชาการศาสนาและนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้จับมือกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย พัฒนาระบบและหลักสูตรการอบรมสำหรับกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ผู้ตรวจการฮาลาล นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการฮาลาล ผลิตภัณฑ์ฮาลาล ฮาลาลโลจิสติกส์ ฮาลาลการเงิน ฮาลาลการท่องเที่ยว การแพทย์พยาบาลฮาลาล ฯลฯ

“มาตรฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบการปนเปื้อนควรใช้เทคนิคอะไร วิธีการแบบไหน คุณภาพของคนที่เข้าไปทำงานควรเป็นแบบคนลักษณะไหน คนที่ต้องตัดสินจะเป็นคนกลุ่มใด ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมององค์รวมทั้งระบบ” รศ.ดร.วินัย ยกตัวอย่างสาระที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบหลักสูตรการอบรม

วิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยในเวทีสากล

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ไม่เพียงได้รับการยอมรับภายในประเทศ แต่ยังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยตั้งแต่ พ.ศ.2560 ศูนย์ฯ เข้าเป็นสมาชิกและคณะทำงานของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (Standards and Metrology Institute for Islamic Countries – SMIIC) ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ของ SMIIC ทุกปี

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเป็นจุดเชื่อมโยงโลกมุสลิมทั้งระดับภูมิภาค และนานาชาติด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติและแสดงสินค้าฮาลาล Thailand Halal Assembly เป็นประจำทุกปีด้วย

Thailand Halal Assembly
Thailand Halal Assembly
ขอขอบคุณภาพจาก Bangkok Post

ตรวจสอบฮาลาลฉับไวด้วย Halal Blockchain

การเข้าร่วมเวทีนานาชาติในโลกมุสลิม ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายฮาลาลที่เข้มแข็งทั่วโลก สร้างระบบ Halal Blockchain เทคโนโลยีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีข้อมูลครบถ้วน ตั้งแต่แหล่งที่มาจนถึงปลายทางที่เป็นการซื้อขายของผู้บริโภค

“เนื่องจากฐานข้อมูลของบล็อกเชนฮาลาลจะถูกแบ่งปันในทุกสถานี (Node) ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานฮาลาลตามระบบดิจิตอล ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลจึงง่าย เพียงแค่สแกนรหัสคิวอาร์ (QR-code) ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ ในบล็อกเชนคุณสามารถตรวจสอบและระบุกลุ่มที่อยู่ในระบบได้ง่ายดาย เทคโนโลยีนี้จึงขัดขวางไม่ให้หน่วยงานในระบบทำการฉ้อฉลข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานฮาลาล ในขณะเดียวกันระบบจะช่วยจัดอันดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้เข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานฮาลาลอื่นๆ ตามลำดับประสิทธิภาพในการให้บริการของพวกเขา” ระบบ Halal Blockchain นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

นวัตกรรมเด่นจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล

เกือบ 2 ทศวรรษ ศูนย์ฯ ไม่เคยหยุดการวิจัยและพัฒนาทั้งระบบมาตรฐานและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล มีหลายงานที่สร้างความภูมิใจแก่ศูนย์ฯ เช่น ระบบ Halal-GMP/HACCP ได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านอุตสาหกรรมฮาลาลจากงาน World Halal Forum ประเทศมาเลเซีย พ.ศ.2549 ระบบ HAL-Q ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริหารภาครัฐ ระดับดีเด่น พ.ศ.2556 ล่าสุดคือ H-Number ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริหารภาครัฐ ระดับดีเด่น พ.ศ.2563

H-Number คือ ฐานข้อมูลการถอดรหัสสารเคมีฮาลาลที่ถูกจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกแทนที่ระบบรหัสแบบ E-Number หรือ รหัส INS Number ซึ่งเป็นระบบที่มีใช้กันทั่วโลก” รศ.ดร.วินัยกล่าวเชิญชวนให้ผู้ผลิตนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้

“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ตรวจและถอดรหัสสารกว่าพันชนิดผ่านการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล สารและผลิตภัณฑ์ต่างๆกว่า 1.3 แสนชนิด ดูตั้งแต่ที่มาของสาร ขั้นตอนการผลิต เพื่อคัดแยกสารเคมีที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก (นะญิส) ออกจากสารที่สะอาด กระทั่งได้เป็นฐานข้อมูล H-Number ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนแก่ผู้ผลิต และโรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องคัดเลือกตรวจซ้ำสารก่อนเข้ากระบวนการผลิตตามหลักฮาลาล”

H-Number
H-Number

นอกจากนี้ นวัตกรรมเด่นอื่นๆ ของศูนย์ฯ มีอาทิ สบู่ดินสำหรับชำระล้างสิ่งสกปรกตามหลักศาสนาอิสลาม ผลิตภัณฑ์ดูแลสิวผสมแร่ดิน (คาโอลิน, เบนโทไนท์) และน้ำมันเมล็ดเทียนดำ ระบบตรวจติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสิงค้าฮาลาลโดยใช้บาร์โค้ดชนิดสองมิติ (ได้รับรางวัลดีเด่นจากงาน World Halal Research ประเทศมาเลเซีย) ผงไมโครแคปซูลจากน้ำมันเมล็ดเทียนดำสกัดเย็นช่วยต้านอนุมูลอิสระ และชุดตรวจเนื้อต้องห้ามอย่างง่าย โดยใช้เทคนิค multiplex PCR ร่วมกับ DNA strip (nucleic acid lateral flow) “ชุดตรวจนี้ใช้เวลาตรวจประมาณ 1.30 ชั่วโมง (ปกติใช้เวลาตรวจ 1 วันในห้องปฏิบัติการ) สามารถตรวจพบการปนเปื้นของสัตว์ต้องห้ามแบบรวดเร็ว 5 ชนิดพร้อมกัน ได้แก่ สุกร ลิง หนูนา แมว และสุนัข ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย”

มั่นใจฮาลาลชัวร์! ทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ

สำหรับผู้บริโภค หรือผู้นำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ถูกหลักฮาลาลหรือไม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลยินดีไขข้อข้องใจ โดยใช้ “บริการทดสอบตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์” ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ครอบคลุมการตรวจทดสอบการปนเปื้อนเจลาติน กลีเซอรรอล สารประกอบโพลาร์ สัดส่วนไขมัน ปริมาณเอธิลแอลกอฮอล์ การปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกร และคอลลาเจนสุกร เป็นต้น โดยห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพการบริหารจัดการตามระบบ ISO 9100:2008

ผู้ประสงค์ส่งตัวอย่างทดสอบติดต่อได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 11-13 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร. 0-2218-1054 อีเมล info.hsc.cu@gmail.com

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า