รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
9 สิงหาคม 2565
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
คณาจารย์ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ พัฒนา Chula Wealth Plus แอปพลิเคชันคำนวณเงินออมเพื่อช่วยวางแผนเกษียณอย่างแม่นยำ หวังกระตุ้นให้ประชาชนวางแผนเกษียณล่วงหน้าเพื่อพึ่งพาตนเองได้หลังวัยเกษียณ
“วันนี้คุณวางแผนเกษียณแล้วหรือยัง?”
หลายคนโดยเฉพาะคนในวัยหนุ่มสาวที่กำลังสนุกกับการทำงานและสร้างเนื้อสร้างตัว อาจมองว่ายังไม่ถึงวัยที่จะคิดหรือตอบคำถามนี้ “ไว้อายุสัก 50 ปีก่อน ค่อยคิดหรือวางแผนแล้วกัน” หรือ “อายุยังน้อยอยู่ ขอเอาเงินไปสร้างความสุขก่อนดีกว่า”
แต่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ายิ่งคิดถึงคำถามนี้เมื่ออายุน้อยเท่าไร ยิ่งดี
“การออมเพื่อเกษียณเป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาว หลายคนเลยไม่ค่อยได้นึกถึงการออมเพื่อเกษียณเท่าไร มองว่าเราอาจจะเสียชีวิตก่อนที่เราจะเกษียณ หรือแม้เกษียณแล้วก็อาจจะเสียชีวิตในอีกไม่กี่ปี ทำให้ไม่ใส่ใจการออม มานึกถึงอีกทีก็อาจจะสายไปแล้ว” อาจารย์รุ่งเกียรติ สะท้อนการขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คณาจารย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าโครงการดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ รวมทั้ง ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ พัฒนาแอปพลิเคชัน “Chula Wealth Plus” เพื่อเป็นตัวช่วยในการคำนวณเงินออมเพื่อวางแผนเกษียณได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ยิ่งออมเร็ว ยิ่งได้เปรียบ” อ.รุ่งเกียรติ ตอบ
“เรามักเริ่มตะหนักถึงการออมเพื่อเกษียณตอนอายุ 45 -50 ขึ้นไป ทำให้เราเหลือเวลาออมเงินเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น ซึ่งช้าเกินไป ถ้าเราเริ่มออมเงินและวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะมีช่วงระยะเวลาในการได้ผลตอบแทนมากกว่า”
แม้จะเป็น first jobber มนุษย์เงินเดือนที่รายได้ต่อเดือนอาจจะเหลือให้ออมไม่มากนัก ก็ควรเริ่มออมเงินไว้แม้จะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยก็ตาม
อ.รุ่งเกียรติ ชวนให้จินตนาการในวันที่เราเกษียณ ไม่มีรายได้ หากเราไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเองด้านการเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็คือลูกหลาน แล้วถ้าเราไม่มีลูกหลาน?
“ถ้าลูกหลานต้องมาคอยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ ไม่ว่าจะเป็นค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะลูกหลานเองก็จะขาดเงินออมของตัวเอง และออมไม่พอต่อไปเรื่อยๆ เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว สร้างความเครียดให้สังคมต่อไป”
การออมเพื่อวางแผนเกษียณมีได้หลายวิธี ทั้งการปันส่วนรายได้เป็นเงินออมในธนาคาร หรือในรูปแบบอสังหาริมทัพย์และสินทรัพย์มีมูลค่ารูปแบบต่างๆ อาทิ ภาพวาด พระเครื่อง เป็นต้น
“การซื้อบ้านเป็นการบังคับการออมประเภทหนึ่งเพราะเมื่อซื้อบ้าน คุณมีหนี้ที่ต้องจ่าย แต่เมื่อจ่ายไปแล้ว คุณจะมีที่อยู่อาศัยที่เป็นของคุณเองและบ้านก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” อ.รุ่งเกียรติ แนะ
เมื่อตระหนักได้ว่าเราควรจะเริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่เริ่มทำงานมีรายได้ คำถามต่อมาก็คือจะต้องออมเงินเป็นจำนวนเท่าไร จึงจะสามารถดูแลชีวิตหลังเกษียณได้อย่างราบรื่น
“Chula Wealth Plus เกิดจากแนวคิดที่ว่าคนทั่วไปมักจะไม่รู้ว่าตอนเกษียณแล้วควรจะมีเงินกี่บาท พอเราไม่รู้ว่าตอนเกษียณควรจะมีเงินเท่าไร ก็เลยไม่รู้ว่าควรจะออมเดือนละเท่าไร” อ.รุ่งเกียรติ เล่าถึงที่มาของแนวคิดแอปฯ Chula Wealth Plus
“แอปฯ นี้จะช่วยในการ ‘ตั้งเป้าหมาย’ ในการออมเงินเพื่อเกษียณ ช่วยประเมินความพร้อมและทำให้เราเห็นภาพในการออมชัดเจนมากขึ้น เมื่อเรารู้จักใช้ รู้จักประเมิน ก็จะรู้พฤติกรรมของตัวเองว่าจะออมพอหรือไม่พอ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเอง” อ.รุ่งเกียรติ หวังว่าแอปพลิเคชัน Chula Wealth Plus จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนหันมาตระหนักถึงการวางแผนเกษียณมากขึ้น
ในปัจจุบัน มีแอปพลิเคชันมากมายที่สามารถช่วยคำนวณเงินออมเพื่อวางแผนเกษียณได้ แต่ Chula Wealth Plus มีจุดเด่นต่างจากแอปพลิเคชันอื่นที่ 2 ฟังก์ชันหลัก ดังนี้
โปรแกรมจะช่วยคำนวณให้ว่าหากเราทำอาชีพนี้ มีสวัสดิการแบบนี้ มีการลงทุนแบบนี้ สุดท้ายแล้วเราจะมีเงินเก็บในวันที่เกษียณเท่าไร และจะพอกับที่เราต้องการจะใช้จ่ายหรือไม่ โดยฟังก์ชันของ Chula Wealth Plus จะประเมินเงื่อนไขต่างๆ ตามความเป็นจริง เช่น เงื่อนไขการออมผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ แอปฯ จะใช้หลักสถิติและการจำลองสถานการณ์เพื่อประเมินความน่าจะเป็นของมูลค่าเงินออมในอนาคต ตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละหลักทรัพย์ รวมทั้งมีการคำนวณเงินเฟ้อให้อีกด้วย
“ฟังก์ชันนี้ จะทำให้ผู้ใช้เห็นภาพว่าควรจะลงทุนอย่างไร วางแผนในการหารายได้เพิ่มอย่างไร เพื่อที่จะออมเงินเพื่อเกษียณได้ถึงเป้าหมาย” อ.รุ่งเกียรติ สรุป
โปรแกรมจะช่วยคำนวณให้ว่าหากในวันที่เราเกษียณมีเงินอยู่เท่านี้ และเราต้องการถอนมาใช้เดือนละเท่านี้ เงินออมของเราจะหมดเมื่ออายุเท่าไร หรือเมื่อเราอายุ 99 ปี เราจะเหลือเงินเก็บอยู่เท่าไร ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนได้อย่างเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าเราควรจะใช้จ่ายอย่างไร เพื่อไม่ให้ลำบากในอนาคต
ไม่ว่าแอปพลิเคชัน Chula Wealth Plus จะมีจุดเด่นมากมายและคำนวณการออมได้อย่างแม่นยำแค่ไหน ก็ยังมีข้อจำกัด
“ข้อจำกัดของแอปฯ คือตัวเราเอง นิสัยของเราเองนี่แหละคือข้อจำกัด ขี้เกียจทำบ้าง ทำไปงั้นๆ บ้าง ไม่ได้ใส่ใจกับการออมจริงจัง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างนิสัยในการออมเสียวันนี้” อ.รุ่งเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Chula Wealth Plus ได้ฟรี ผ่าน App Store
และติดตามข่าวสารและเคล็ดลับการออมเงินดีๆ ได้ทาง
Facebook: Chula Wealth Plus
YouTube Playlist: https://www.youtube.com/playlist?list=PLXuMvoAfsgK2apuRe4VJs3r3hj_p6ygp8
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้