รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
16 สิงหาคม 2565
ผู้เขียน ภัทรพร รักเปี่ยม
จุฬาฯ จับมือ UNESCO บ่มเพาะผู้นำแห่งอนาคตด้วยทักษะ Futures Literacy สร้างโลกที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ตอกย้ำความเป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่นำการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21
“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว
ในวันนี้ โลกพูดกันมากขึ้นถึง Futures Literacy ทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้น “จินตนาการ” ถึงอนาคตที่ดีขึ้นและดีกว่า
“We use the future to innovate the present. เมื่อเราสามารถคาดการณ์ถึงอนาคตได้ เราก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สร้างปัจจุบันที่ดีได้ จินตนาการทำให้เกิดความหวังในใจของมนุษย์ ความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนแรงผลักดันในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จินตนาการจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เสมอ” รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Global Chief Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างงานประชุมวิชาการนานาชาติรูปแบบออนไลน์ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” ที่จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นร่วมกับ UNESCO และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อไม่นานมานี้
โลกทุกวันนี้ผันผวนปั่นป่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกภายหลังยุคโควิด-19 ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ การเดินทางและโลจิสติกส์ ความมั่นคงทางอาหาร การเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ความขัดแย้งทางการเมือง การกดขี่และเหยียดเชื้อชาติ ฯลฯ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในความกลัว ความสิ้นหวัง ไร้ซึ่งจินตนาการถึงอนาคต
”มนุษย์ยังคงต้องการจินตนาการแห่งความหวัง ทักษะ Futures Literacy จึงเป็นทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยเสริมพลังการจินตนาการและเพิ่มความสามารถในการเตรียมตัวรับมือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น” Reil Miller ผู้เชียวชาญทางการคิดและจินตนาการเพื่ออนาคต กล่าว องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization; UNESCO) ได้ริเริ่มโครงการ UNESCO Futures Literacy และสร้างเครือข่าย UNESCO Global Futures Literacy Network ในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายนี้ตั้งแต่ปี 2563 (2020) และเดินหน้าส่งเสริมความเข้าใจเรื่อง Futures Literacy ในประชาคมจุฬาฯ มาโดยตลอด
UNESCO นิยาม Futures Literacy ว่าเป็นทักษะการใช้ความรู้คิดและจินตนาการในการคาดการณ์ถึงโอกาส ทางเลือก และความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบนพื้นฐานของความรู้และความเป็นจริง
“ทุกคนสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะนี้ได้ ไม่ต่างจากทักษะการรู้อ่านเขียน เพราะการคิดและจินตนาการเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ ทักษะนี้จะทำให้เราสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะวางแผนกลยุทธ์รับมือและจัดการสิ่งที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้น จัดลำดับความสำคัญและตัดสินใจลงมือทำได้ดีขึ้น” รศ.ดร.ณัฐชา กล่าว
ผู้ที่ตระหนักและฝึกฝนทักษะนี้จะมีศักยภาพในการเห็นทางเลือกที่หลากหลาย มีความหวังและแรงบันดาลใจลงมือกระทำการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน
รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวถึงแนวทางการบ่มเพาะทักษะ Futures literacy ในรั้วมหาวิทยาลัยว่าการเสริมพลังและขยายกรอบจินตนาการของมนุษย์อย่างไร้ขีดจำกัดต้องการ “วิธีการใหม่ๆ” และ “ความร่วมมือข้ามความแตกต่าง” ทั้งต่างสาขาวิชา วัฒนธรรม วัย อาชีพ ฯลฯ เหตุนี้ จุฬาฯ จึงตั้ง CU Innovation Hub และ CU Social Innovation Hub เป็นต้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาวิจัยข้ามสาขาวิชา (cross-disciplinary platform) ที่นิสิตและนักวิจัยจากต่างคณะและต่างสาขา มาร่วมกันสร้างจินตนาการ ตั้งโจทย์ใหม่ๆ และหาแนวทางหรือนวัตกรรมเพื่อแก้โจทย์ในปัจจุบันและอนาคต
“การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจะทำให้นิสิตได้ความคิดและมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ตราบใดที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้นิสิตได้ทดลองและทดสอบ โดยที่พวกเขาไม่ต้องกลัวว่าผลจะออกมาดีหรือไม่ เพราะความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นบทเรียนให้นิสิตได้คิดหาหนแนวทางที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก”
ด้วยบรรยากาศที่ส่งเสริมจินตนาการ สนับสนุนความกล้าลงมือทำและยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากมาย เช่นปีที่ผ่านมา จุฬาฯ หนุนมากกว่า 304 ทีมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม อาทิ วัคซีนโควิด-19 จากใบยาโดยบริษัท Baiya Phytopharm Co., Ltd. แอปพลิเคชัน ViaBus แอปติดตามรถโดยสารแบบเรียลไทม์อำนวยความสะดวกกับผู้เดินทาง Tann:D ทานดีเส้นโปรตีนจากไข่ขาว พลังงานต่ำ ไร้แป้งและกลูเตน SOPet (เอส โอ เพ็ท) คลินิกสัตวแพทย์ออนไลน์
Futures Literacy เป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมให้นิสิตและประชาคมจุฬาฯ ฝึกฝนเพื่อนำจินตนาการในอนาคตมาสร้างปัจจุบันที่ดีขึ้น นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังใช้กระบวนทัศน์การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดเชิงวิพากษ์ การสร้างความร่วมมือ ความเป็นผู้ประกอบการ ฯลฯ มาสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ทั้งนิสิต ประชาคมจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคตที่จะรังสรรค์การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
“จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยวิจัย Research University ที่สอนและสนับสนุนการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ผ่านบริษัทนวัตกรรม งานวิจัย และการศึกษา ที่แก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับโลก” รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวสรุปทิ้งท้าย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้