Highlights

อุปนิสัย “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” สร้างได้ นักวิจัย ครุศาสตร์ จุฬาฯ แนะวิธี


นักวิจัยคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แนะวิธีบ่มเพาะนิสัยและคุณลักษณะ “บุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เด็กตั้งแต่วัยประถม เพื่อปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันตลอดเวลา


ปัจจุบัน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong learning) เป็นแนวทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ใน ประเทศไทยเอง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกคน ทุกช่วงวัย มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต-สร้างได้อย่างไร? ทำไมต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต? อะไรคือทักษะและคุณลักษณะของนักเรียนรู้ตลอดชีวิต? การปลูกฝังความเป็นนักเรียนรู้ควรทำเมื่อไร? และอย่างไร?

ดร.กฤษพร อยู่สวัสดิ์
นิสิตปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหล่านี้เป็นโจทย์ที่พาให้ ดร.กฤษพร อยู่สวัสดิ์ นิสิตปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาและทำงานวิจัย “แนวทางในการส่งเสริมการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับนักเรียนประถมศึกษา” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564 

“เด็กในช่วงชั้นประถมศึกษาเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมในการส่งเสริมทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากที่สุด เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ในช่วงวัยต่อๆ ไปจนถึงการศึกษาต่อในระดับสูง และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพ”

ดร.กฤษพร กล่าวเพิ่มเติมว่าการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็กในช่วงที่พ้นวัยระดับประถมศึกษาไปแล้ว จะทำได้ยากขึ้น หรือยากกว่า และอาจจะช้าไป

ทำไมต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดร.กฤษพร กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่า “โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีความรู้ วิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทุกคนและทุกช่วงวัยจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันโลกอยู่เสมอ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้นจึงจะทำให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นอย่างไร  

การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้หมายถึงการเรียนในชั้นเรียนหรือการท่องจำข้อมูลต่างๆ เท่านั้น หากแต่มีความหมายเน้นไปที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตของแต่ละคนจนลมหายใจสุดท้าย

“โจทย์ในพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีเป้าหมายที่มุ่งให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต หรือที่เรียกว่า “บุคคลแห่งการเรียนรู้” หรือ “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” ดร.กฤษพร อธิบาย

การเรียนรู้สำหรับผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) เป็นได้ทุกรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้แบบที่เป็นทางการ (formal learning) และไม่เป็นทางการ อย่างที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการเรียนรู้ตามอัธยาศัย (informal learning) สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่เป็นการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner – Centered Learning Model) และโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning for All)

“ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง เลือกแหล่งเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง การจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นแบบการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning ที่เน้นให้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติมากกว่าการฟังผู้สอนเพียงอย่างเดียว ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ปฏิบัติและมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการเรียนรู้”

5 คุณสมบัติ “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต”

ดร.กฤษพร เผยถึงคุณลักษณะ 5 ด้านของผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่

1)   เจตคติต่อการเรียนรู้ หมายถึง ความเชื่อ ความคิดเห็นหรือความรู้สึกที่มีต่อการเรียนรู้ โดยเล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ ตระหนักว่าชีวิตคือการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะช่วยในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งมีความเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สนุกและท้าทาย

2)   แรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ หมายถึง ลักษณะภายในที่เป็นแรงผลักดันให้บุคคลแสดงความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ โดยมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ให้สำเร็จ มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง มีความกระหายใคร่รู้ มีจิตใจรักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แสวงหาโอกาสที่จะเรียนรู้ทั้งจากการเรียนรู้ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของตนเองอยู่เสมอ

3) ความสามารถในการเรียนรู้ หมายถึง ทักษะในการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปประเด็นข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่ได้รับ ความสามารถในการหาวิธีการเรียนรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย รวมทั้งมีความสามารถในการอ่านเขียนและการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น

4)   ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง หมายถึง ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลความรู้ต่างๆ จากแหล่งหรือสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ของตนเอง วางแผนการเรียนรู้ ดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนองและประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง

5) ความสามารถในการสื่อสาร หมายถึง ความสามารถในการพูด เขียนหรือสื่อสารถ่ายทอดข้อมูลความรู้ หรือความคิดเห็นต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับบุคคลอื่น และมีความสามารถในการฟังเพื่อรับข้อมูลความรู้ ทัศนะและความคิดเห็นต่างๆ รวมทั้งมีความสามารถในการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่สื่อสารได้

แนวทางส่งเสริม 4 อุปนิสัย “นักเรียนรู้ตลอดชีวิต”

จากงานวิจัย ดร.กฤษพร พบ 3 ตัวแปรหรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียนประถมศึกษา ได้แก่ ปัจจัยด้านนักเรียน ปัจจัยด้านโรงเรียน และปัจจัยด้านครอบครัว ทั้งนี้ ปัจจัยด้านนักเรียนมีอิทธิพลมากที่สุด นอกจากนี้ ภายใน 3 ตัวแปรดังกล่าวยังประกอบด้วย 4 ตัวแปรย่อย เริ่มจากการมุ่งอนาคต การเห็นคุณค่าในตนเอง การรู้จักตนเอง และความเชื่ออำนาจในตน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดร.กฤษพร ได้เสนอแนวทางที่ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง จะร่วมกันสนับสนุนการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเด็ก ดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมการเป็น “ผู้มุ่งอนาคต” เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต เห็นผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งสามารถวางแผนและปฏิบัติตามแผนเพื่อจะให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต โดยแนวทางในการส่งเสริมสำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละฝ่าย เช่น

  • ผู้บริหารสถานศึกษา – สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมการเรียนรู้และประสบการณ์ทางอาชีพ รวมถึงการแนะแนว
  • ครู – สร้างโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ให้ผู้เรียนได้สัมผัสและฝึกปฏิบัติจริง
  • ผู้ปกครอง – ปลูกฝังความรับผิดชอบ ความมีวินัย และทัศนคติเชิงบวก (positive attitude) ต่อการเรียน การศึกษา การทำงานและความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จในชีวิตในอนาคต

2.   ส่งเสริมการเป็น “ผู้เห็นคุณค่าในตนเอง” เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้สึกต่อตัวเองในแง่บวก ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองว่าเป็นผู้มีศักยภาพ มีความสามารถในการกระทำสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญหรือเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมสำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละฝ่าย เช่น

  • ผู้บริหารสถานศึกษา – ปลูกฝังจิตสำนึกรู้จักชื่นชมคนอื่นและเห็นคุณค่าในตนเอง เปิดพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถอย่างหลากหลาย
  • ครู – สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความรู้ ความสามารถที่สนใจ มีความถนัดหรือมีความภูมิใจจากการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ
  • ผู้ปกครอง – ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพหรือต่อยอดในด้านที่ผู้เรียนมีความถนัดและมีความสนใจ เพื่อให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตนเอง

3.   ส่งเสริมการเป็น “ผู้รู้จักตนเอง” ให้นักเรียนรับรู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้อย่างถูกต้องตรงกับสภาพความจริงตามธรรมชาติของตนเอง อันได้แก่ การรู้จุดเด่น จุดด้อย ความสามารถ ความต้องการ ความสนใจ อารมณ์ ความรู้สึก นิสัยและความชอบ เพื่อจะได้เข้าใจตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมสำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละฝ่าย เช่น

  • ผู้บริหารสถานศึกษา – พัฒนาระบบการแนะแนวของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การแนะแนวเป็นช่องทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและการรู้จักตนเองของผู้เรียน
  • ครู – สนับสนุนให้ผู้เรียนมีทักษะหรือความสามารถในการวิเคราะห์ตนเอง (self-analysis) เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง รู้จักความต้องการของตนเอง รู้จักที่จะยอมรับตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพของตน
  • ผู้ปกครอง – สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อค้นพบตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเลือกทางเลือกในการเรียนรู้ การศึกษาและอาชีพที่สอดคล้องเหมาะสมกับตนเอง

4.   ส่งเสริมการเป็น “ผู้มีความเชื่ออำนาจในตน” ให้ผู้เรียนมีความคิดและการยอมรับว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวล้วนเป็นผลมาจากทักษะ ความเพียรพยายามและความสามารถที่เกิดจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมสำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละฝ่าย เช่น

  • ผู้บริหารสถานศึกษา – สนับสนุนให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีกระบวนการเกิดความตระหนักและการยอมรับว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการกระทำของผู้เรียนเอง
  • ครู – จัดกิจกรรมถอดบทเรียนจากประสบการณ์การเรียนรู้และงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการกระทำของผู้เรียนเอง
  • ผู้ปกครอง – ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะและตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันโดยใช้เหตุผล

Lifelong learning เป็นกระบวนการของชีวิตที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันอยู่เสมอ (disruptive change) ซึ่งในยุคนี้ การเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นไม่ยากอีกต่อไป เพราะผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างอิสระและกว้างขวาง ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรูปแบบต่าง ๆ เพียงแต่ต้องเรียนรู้ “วิธีการเรียนรู้” “การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้” และที่สำคัญ “การพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่เด็กเพื่อให้มีนิสัยเป็นผู้รักในการเรียนรู้ไปชั่วชีวิต

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า