รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
1 กันยายน 2565
ผู้เขียน สุรเดช พันธุ์ลี
แพทย์จุฬาฯ เผยการวิจัยพบ “ไซโตไคน์” ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่บ่งชี้ความรุนแรงของโรคข้อเสื่อมในผู้สูงวัย หวังช่วยวางแผนการติดตาม รักษาและลดความรุนแรงของโรค พร้อมแนะเสริมวิตามินดีและวิตามินอี การควบคุมน้ำหนักตัว และออกกำลังกายให้เหมาะสม
ผู้สูงวัยกับโรคข้อเสื่อมดูเหมือนจะเป็นของคู่กัน เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ผู้สูงวัยหลายคนเริ่มเดินช้าลง ขึ้นลงบันไดลำบาก พร้อมมีเสียงกรอบแกรบในข้อหรือบางทีก็มีอาการเจ็บข้อร่วมด้วย ไม่ว่าจะข้อเข่า ข้อสะโพกหรือข้อนิ้ว โรคนี้แม้ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่ก็บั่นทอนความสุขและคุณภาพชีวิตไม่น้อยเลย
“โรคข้อเสื่อมเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยซึ่งมักป่วยเป็นโรคนี้ ยิ่งปัจจุบัน คนไทยอายุยืนขึ้น ก็ยิ่งจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วย โรคนี้รักษาไม่หายขาด แต่หากสามารถทำนายแนวโน้มความรุนแรงของโรคได้ก็จะทำให้เราหาทางลดหรือชะลอความรุนแรงของโรคได้” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาในการริเริ่มโครงการวิจัย“ไซโตไคน์และสารชีวเคมีเพื่อเป็นตัวบ่งชี้และเป้าหมายในการรักษาโรคข้อเสื่อม” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของบุคลากรจุฬาฯ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี 2564
กว่า 10 ปีในการวิจัย ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ และทีมงาน ได้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของโรคข้อเสื่อม กลไกการเกิดโรค และตัวบ่งชี้ความรุนแรงของโรค เพื่อกำหนดแนวทางการติดตาม ป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของโรค ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าวว่าจากการศึกษากลไกการเกิดโรคข้อเสื่อมพบว่าสารไซโตไคน์บางตัวมีส่วนทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมและการดำเนินโรครุนแรงขึ้น
“ไซโตไคน์เป็นสารในกลุ่มโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ที่อักเสบภายในข้อ ไซโตไคน์และสารชีวเคมีจะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกอ่อนหลั่งสารอื่นๆ ออกมา เช่น สารช่วยในการสร้างและสลายกระดูกอ่อนการมีสารไซโตไคน์ที่ไม่สมดุลจะกระตุ้นให้เกิดการสลายตัวของกระดูกอ่อนให้เสื่อมสภาพเร็ว ทำให้ข้อเสื่อมได้มากขึ้น”
ความรู้ที่ได้ค้นพบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาตรวจติดตามผู้ป่วยได้ว่าในอนาคตมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมที่รุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ตลอดจนหาวิธีการลดหรือยับยั้งสารไซโตไคน์ที่เป็นสาเหตุของโรคข้อเสื่อม
ปัจจุบัน การตรวจวัดระดับสารไซโตไคน์จะทำภายหลังผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดข้อเสื่อมแล้ว
“หลังผ่าตัด เราจะทำการตรวจวัดระดับไซโตไคน์ที่ช่วยบ่งชี้ว่าอาจเกิดผลแทรกซ้อนติดเชื้ออักเสบหรือไม่ ถ้าระดับไซโตไคน์สูงมาก บ่งชี้ได้ว่าอาจมีการติดเชื้อหลังผ่าตัด ดังนั้นจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะจนกว่าระดับไซโตไคน์จะลดลงมาเป็นปกติ” ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าว
สาเหตุสำคัญของโรคข้อเสื่อมมาจากคุณภาพของกระดูกอ่อนในข้อต่อที่เสื่อมลงตามวัย เกิดได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และจะปรากฏชัดในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสพบโรคข้อเสื่อมก็มากขึ้นตาม ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นโรคข้อเสื่อม
“ข้อต่อของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายจะมีกระดูกสองชิ้นประกอบกันคือ กระดูกแข็ง และกระดูกอ่อนหุ้มข้อ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น การสร้างกระดูกอ่อนมีคุณภาพลดลง ส่งผลให้การทำงานของกระดูกอ่อนเสียไป ร่างกายจะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกอ่อนผลิตสารไซโตไคน์ออกมา ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อ” ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ อธิบายกลไกการเกิดโรคข้อเสื่อมในผู้สูงวัย ซึ่งเกิดได้กับข้อต่างๆ ในร่างกาย แต่ที่พบมากที่สุดคือข้อเข่า รองลงมาคือข้อสะโพกและข้อนิ้วมือ
นอกจากวัยแล้ว ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า เนื่องจากผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนในร่างกายที่กระตุ้นเซลล์ต่างๆ จะลดลง ส่งผลต่อคุณภาพของกระดูกอ่อน ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยเสี่ยงอีกประการคือน้ำหนักตัวที่มีส่วนทำให้โรคข้อเสื่อมรุนแรงมากขึ้น
ระดับความรุนแรงของโรคข้อเสื่อมมีความแตกต่างกันขึ้นกับระยะเวลาการเป็นโรค โดยในระยะแรก อาการเจ็บปวดตามข้อจะเกิดขึ้นเวลาเดิน ยืน หรือขึ้นลงบันได จากนั้นก็จะเริ่มมีอาการข้อฝืด มีเสียงดัง เดินไปได้สักพักก็ต้องนั่งพัก อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ
หากโรคข้อเสื่อมเข้าสู่ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมในข้อและเกิดการอักเสบ งอ-เหยียดบริเวณข้อได้ไม่เต็มที่ ในรายที่เป็นมาก ข้อจะบิดเบี้ยว เข่าโก่ง นิ้วมือเก เมื่อเอกซเรย์จะพบว่ามีการสร้างกระดูกงอกบริเวณข้อไปทิ่มเนื้อเยื่อในข้อเข่า ทำให้มีอาการอักเสบและเจ็บบริเวณข้อเข่า
“โรคนี้ไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณภาพชีวิตแย่ลง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มานานกล้ามเนื้ออาจจะลีบได้เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน และร้อยละ 50 ของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมีโอกาสที่ข้อเข่าจะเสื่อมทั้งสองข้างได้”
แม้โรคข้อเสื่อมเป็นแล้วไม่หายขาด แต่ก็มีวิธีที่จะดูแลให้มีคุณภาพชีวิตและลดอาการเจ็บปวดได้ ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าวว่าหลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคโดยเอกซเรย์ตรวจความผิดปกติในข้อแล้ว แนวทางการรักษาในปัจจุบันมี 3 ทางด้วยกัน ตามระดับความรุนแรงของโรค เริ่มจากการไม่ใช้ยา การรักษาโดยใช้ยา และการผ่าตัดซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย
ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าวว่าผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมร้อยละ 80 มีน้ำหนักเกิน ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมจะมีส่วนช่วยลดแรงกระทำต่อข้อ และช่วยทำให้อาการข้อเสื่อมดีขึ้น
“วิธีการคำนวณน้ำหนักเกิน ให้ดูที่ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นตัวตั้ง หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ถ้าอยู่ในช่วง 18 – 23 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ อีกวิธีในการคำนวณน้ำหนักเกินแบบง่ายๆคือเอาความสูงลบด้วย 100 ถ้าน้ำหนักตัวมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็แสดงว่าน้ำหนักเกิน”
ศ.นพ.สิทธิศักดิ์แนะนำให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเข่า ด้วยการเหยียดขา 10 วินาทีแล้วเอาลง ทำวันละ 20 รอบๆ ละ 20 ครั้ง ถ้ามีอุปกรณ์พยุงข้อ เช่น ส่ปลอกหุ้มข้อหรือไม้เท้าช่วยพยุงเดินจะช่วยทำให้เดินได้ดีขึ้น
เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการอักเสบ นอกจากนั้น ก็ยังมียาฉีด ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดน้ำไขข้อเทียม การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของผู้ป่วยเข้าไปในข้อเพื่อช่วยลดการอักเสบ ทำให้ผู้ที่มีภาวะข้อเข้าเสื่อมในระยะแรกๆ มีอาการดีขึ้น
“ถ้ามีอาการปวดข้อในระยะ 24 ชั่วโมงแรก ต้องประคบเย็น เพื่อให้ความเย็นไปบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วมีอาการปวดเรื้อรังขึ้นอีกควรจะประคบอุ่น ซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียนบริเวณนั้นได้ดีขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว” ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ แนะนำวิธีการรับมือกับความปวด รวมทั้งแนะนำว่าการฝังเข็มและการใช้อัลตราซาวนด์คลื่นเสียงก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดบริเวณข้อได้
วิธีการนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ข้อผิดรูป มีอาการเจ็บปวดมาก ส่งผลต่อการทำงานและดำเนินชีวิต ทั้งนี้ การผ่าตัดมีหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดโดยวิธี ส่องกล้องเพื่อล้างข้อ เอาเศษกระดูกที่แตกหรือหลุดภายในข้อออก การผ่าตัดแก้ไขเปลี่ยนแนวกระดูกข้อที่ผิดรูปให้ตรง
“วิธีสุดท้ายคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ข้อเข่าเทียมจะใช้ได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา”
ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการวิจัยนี้ยังได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการเสริมวิตามินดี 2 ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจำนวน 200 รายที่มารักษาที่แผนกกระดูกและข้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีผลการตรวจวัดวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรให้รับประทานวิตามินดี 2 (Ergocalciferol ขนาด 20,000 unit/เม็ด) สัปดาห์ละ 2 เม็ด เป็นเวลา 6 เดือน
“วิตามินดี 2 ช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูก ช่วยในการก่อตัวของแร่ธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสเฟตที่กระดูก วิตามินดียังทำงานร่วมกับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อช่วยดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ และกระตุ้นการดูดกลับของแคลเซียมที่ไต ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น จึงช่วยในการสร้างกระดูกให้แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้วิตามินดียังช่วยให้สมรรถภาพของกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น สามารถทำงานได้ดีขึ้น”
ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มทีมผู้วิจัยยังได้ศึกษาวิจัยการใช้วิตามินอี เสริมให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมด้วย โดยให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินอีเป็นเวลา 2 เดือน
“วิตามินอีมีส่วนช่วยลดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งในการวิจัย เราพบว่าวิตามินอีทำให้อาการเจ็บปวดข้อลดลง การใช้งานของข้อดีขึ้น”
ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำคือ 400 – 600 IU/วัน สำหรับวิตามินอี แนะนำปริมาณ 40 – 200 IU/วันทั้งนี้ปริมาณที่แนะนำจะแตกต่างกันตามวัยและภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล ดังนั้น การเสริมวิตามินดี หรือวิตามินอี ควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ แนะนำให้ผู้สูงวัยที่เป็นโรคข้อเสื่อมหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เป็นโรคข้อเสื่อมเร็วขึ้น เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ และเสริมด้วยการฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรงและการออกกำลังกาย ซึ่งคุณหมอแนะนำการว่ายน้ำ เดินและปั่นจักรยานเบาๆ
“ที่สำคัญ ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้ดีจะช่วยลดแรงกระแทกที่ข้อเข่าและชะลอโรคข้อเสื่อม” ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ สรุปทิ้งท้าย
ผู้ที่มีปัญหาโรคข้อเสื่อม ติดต่อ ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชั้น 5 อาคาร ภปร โทร. 0-2256-5351 เพื่อนัดหมายแพทย์ในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ (คลินิกโรคกระดูกและข้อ) หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ http://ortho.md.chula.ac.th
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้