รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
11 ตุลาคม 2565
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ สร้างนวัตปะการัง (Innovareef) ซีเมนต์คุณสมบัติเทียบปะการังตามธรรมชาติ ตัวอ่อนปะการังเกาะติดง่ายโตเร็ว ช่วยร่นเวลาการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง เสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งทำหน้าที่ smart station ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในทะเล
แนวปะการังที่สวยงามในท้องทะเลไทยค่อยๆ หดหายลงไปเรื่อยๆ ด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ปราศจากการควบคุมและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ จนวันนี้ แนวปะการังที่สวยงามและสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น! หากเราไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ แหล่งอาหารจากทะเล พื้นที่ดำน้ำศึกษาธรรมชาติ แหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่เหลือให้รุ่นลูกหลาน
ที่ผ่านมา มีความพยายามแก้ปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรมโดยการใช้ปะการังเทียมที่ทำมาจากยางรถยนต์ รถถัง ท่อพีวีซี แท่นปูนสี่เหลี่ยม แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดมลภาวะทางสายตา (visual pollution) เพราะความไม่กลมกลืนกับธรรมชาติใต้ท้องทะเล นอกจากนี้ บ่อยครั้งปะการังเทียมเหล่านี้ก็ถูกน้ำพัดพาหรือจมลงในทราย บ้างก็แตกตัวกลายเป็นขยะไมโครพลาสติกในทะเล
“การอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีนั้น วิธีการสำคัญพอๆ กับผลลัพธ์” รองศาสตราจารย์ สพ.ญ. ดร. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยงานวิจัยโรคสัตว์น้ำ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสัตว์น้ำสวยงาม และสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ นวัตปะการัง (Innovareef) เพื่อตอบโจทย์การอนุรักษ์ปะการังและความงดงามของท้องทะเล
“เราพยายามสร้างปะการังเทียมที่มีลักษณะสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติ มีกิ่งก้านแบบปะการังที่ช่วยเพิ่มการเกาะติดของตัวอ่อนปะการัง มีรูกลวงเพื่อลดแรงต้านน้ำและเป็นที่อยู่ของสัตว์ ซึ่งนวัตปะการังนี้จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของแนวปะการังให้เติบโตเร็วทันกับอัตราการถูกทำลายของปะการังในธรรมชาติ” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว
ในธรรมชาติ ปะการังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแนวกำแพงป้องกันคลื่นลมและกระแสน้ำยามพายุพัดโหม เป็นบ้านของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล และเป็นแหล่งกำเนิดอาหารของมนุษยชาติ ดังนั้น การดูแลให้แนวปะการังยังคงสภาพอยู่อย่างสมบูรณ์และหลากหลายจึงเท่ากับเป็นการดูแลแหล่งอาหารกายและอาหารใจให้มนุษย์เองด้วย
ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวนิ่ม พวกมันจะสร้างชั้นหินปูนเคลือบลำตัวไว้ จึงมีโครงสร้างภายนอกแข็งแรง ตัวอ่อนของปะการังที่เรียกว่า “พลานูลา” (Planula) จะล่องลอยตามกระแสน้ำและลงเกาะในพื้นที่แข็ง อย่าง ก้อนหินหรือซากปะการังเพื่อเจริญเติบโตเป็นปะการังต่อไป ส่วนปะการังชนิดที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ พวกมันจะใช้วิธีแตกหน่อไปตามรูปร่างตามลักษณะของชนิดปะการังนั้นๆ
ดังนั้น ในการสร้างนวัตปะการัง ทีมผู้วิจัยจึงพยายามจำลองลักษณะที่สอดคล้องกับธรรมชาติของปะการังที่สุด ทั้งนี้ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวถึงจุดเด่นของนวัตปะการังที่ต่างจากปะการังเทียมทั่วไป ได้แก่
นอกจากการทำหน้าที่ดุจปะการังตามธรรมชาติแล้ว ทีมวิจัยยังได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลไว้ที่ตัวนวัตปะการังด้วย เพื่อให้นวัตปะการังเป็น “สมาร์ทสเตชัน” (Smart station) ทำหน้าที่ เช่น วัดอุณหภูมิของน้ำ การไหลของกระแสน้ำ วัดความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นต้น
“การตรวจวัดค่าเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยสิ่งมีชีวิตในนวัตปะการัง แต่ยังช่วยเหลือแนวปะการังทั้งแนวในบริเวณที่นวัตปะการังตั้งอยู่ด้วย อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปะการังฟอกขาวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้ปะการังตาย ดังนั้น เมื่อมีสมาร์ทสเตชัน เราจะมีข้อมูลที่จะช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือชีวิตแนวปะการังทั้งแนวได้” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา อธิบายเบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตปะการังให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุดว่าต้องใช้ความรู้จากหลายศาสตร์ อาทิ เทคโนโลยี 3D Cement Printing ขึ้นรูปผลิตซีเมนต์ ซึ่งชนิดซีเมนต์ก็ได้เลือกสรรชนิดที่มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงน้ำทะเล และผสานการออกแบบตามแนวคิดเลโก้ คือ การทำเป็นบล็อกถอดประกอบชิ้นส่วนได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายนวัตปะการังจากแหล่งผลิตไปสู่ท้องทะเล
“กว่าจะเป็นนวัตปะการัง ทีมงานต้องเขียนออกแบบ ขึ้นรูป ทำผิวสัมผัสให้ขรุขระ แยกหล่อส่วนกิ่งปะการัง ทดสอบน้ำวน ทดสอบการจมของฐาน ทดสอบการต้านกระแสน้ำด้วยการทดลองในห้องวิจัยและในทะเล จนได้เป็นนวัตปะการังที่ลดการต้านกระแสน้ำ แข็งแรง ไม่จมหายไปกับพื้นทราย มีน้ำวนเล็กๆ รอบๆ มีกิ่งที่ช่วยเพิ่มการยึดเกาะของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้นักวิจัยต้องใช้ความรู้หลายศาสตร์มาพัฒนาจนได้ผลงานที่สมบูรณ์” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกากล่าว
นวัตปะการังที่ทางจุฬาฯ ออกแบบมี 1 ขนาด คือ 100 x 160 x 50 (กว้าง x ยาว x สูง) เซนติเมตร ซึ่งต่อมา “โครงการรักษ์ทะเล” (Love the Sea) โดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SCG ได้นำต้นนวัตปะการังต้นแบบนี้ มาปรับพัฒนาเพิ่มเติมอีก 5 รูปแบบได้แก่
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ทีมนักวิจัยได้ติดตั้งนวัตปะการังแล้วในพื้นที่ชายฝั่งทะเลหลายแห่งในจังหวัดชลบุรีเป็นส่วนมาก อาทิ ชายฝั่งทะเลบริเวณเกาะสีชัง เกาะล้าน และสัตหีบ
“ลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งนวัตปะการังต้องเป็นพื้นที่ชายทะเลที่มีระดับน้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร มีแสงสว่างส่องถึง และที่สำคัญ ต้องยังมีปะการังตามธรรมชาติหลงเหลืออยู่บ้าง ลักษณะอย่างนี้จึงจะเอื้อโอกาสให้เกิดการเกาะติดและเติบโตของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ”
สำหรับการขนย้ายและติดตั้งนวัตปะการังนั้นก็ง่ายและสะดวก เนื่องจากนวัตปะการังชุดหนึ่งๆ ประกอบด้วยก้อนซีเมนต์ปะการัง 3 ก้อน มีก้อนหลัก 1 ก้อน และก้อนสำหรับประกอบอีก 2 ก้อน
“ตัวนวัตปะการังมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป น้ำหนักเบา คนๆ เดียวก็สามารถยกได้ จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนย้าย เมื่อมาถึงทะเลก็จมชิ้นส่วนนวัตปะการังลงในบริเวณชายทะเลที่ต้องการ แล้วค่อยๆ ดำน้ำลงไปเพื่อต่อประกอบชิ้นส่วนให้เป็นนวัตปะการังที่สมบูรณ์”
“เมื่อประกอบและติดตั้งนวัตปะการังเสร็จ เพียงไม่ถึง 5 นาที ปลาและสัตว์ทะเลหลายชนิดก็เริ่มเข้ามาสำรวจและจับจองพื้นที่ในบ้านหลังใหม่ เกิดความหลากหลายทางชีวิภาพรอบๆ แนวนวัตปะการัง”
“ที่สำคัญ จากการเฝ้าเก็บข้อมูลภายหลังการติดตั้งนวัตปะการัง เราพบว่าอัตราการเกาะติดและเติบโตของตัวอ่อนปะการังที่ตัวนวัตปะการังดีกว่าปะการังเทียมทั่วไปอีกด้วย” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
สิ่งนี้ทำให้ทีมผู้วิจัยมั่นใจว่านวัตปะการังจะช่วยเร่งอัตราการฟื้นตัวของปะการังและคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลโดยเร็ว นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับราคาวัสดุ การผลิต การขนส่ง จนถึงขั้นตอนการติดตั้งนวัตปะการังจนแล้วเสร็จ รวมแล้วค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 26,000 บาทต่อนวัตปะการังหนึ่งตัวเท่านั้น!
ด้วยคุณค่ามากมายเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่นวัตปะการังได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถช่วยให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งรูปแบบสวยงามมีความมั่นคงเสมือนปะการังจริง
นอกจากจะฟื้นคืนระบนิเวศทางทะเล แนวนวัตปะการังยังคืนสวรรค์ใต้ผิวน้ำสีครามให้นักท่องเที่ยวด้วย “แนวนวัตปะการังสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากดำน้ำดูแนวปะการัง แต่ยังดำน้ำไม่ถูกหลัก จนอาจเผลอทำลายแนวปะการังตามธรรมชาติเสียหาย ผู้ที่เริ่มหัดดำน้ำใหม่ๆ หรือผู้ที่ต้องการศึกษาโลกใต้ทะเล ไม่ว่าจะเป็น sea walker, snorkeler ก็สามารถมาดำน้ำดูนวัตปะการังที่สร้างขึ้นเป็นแนวได้ เพราะมีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติมาก และมีสัตว์น้ำสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หลายสายพันธุ์มาอาศัยอยู่ นี่จึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลได้โดยไม่เกิดความเสียหายให้ท้องทะเล” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
แนวนวัตปะการัง Thai Innovareef อาจกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีสีสัน เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และสร้างรายได้ให้ประเทศอีกทาง
สำหรับแผนการผลิตนวัตปะการังในอนาคต รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวว่า “จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอีก และจะเพิ่มความละเอียดสมจริงตามธรรมชาติให้กับปะการังเทียมยิ่งขึ้น”
“สำหรับนวัตปะการังรุ่นต่อๆ ไป เราจะออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเหมาะสมกับสัตว์น้ำแต่ละชนิดในละแวกนั้นๆ เช่น ปลาหมอทะเลชอบถิ่นอาศัยแบบถ้ำ ก็จะมีนวัตปะการังที่มีลักษณะแบบนั้น เป็นต้น”
นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังวิจัยต่อยอดร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการออกแบบนวัตปะการังที่ผสานนาโนเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถปกป้องปะการังจากสภาวะโลกร้อน
“หากอุณหภูมิในท้องทะเลเปลี่ยนแปลงถึงจุดหนึ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อปะการัง สารนาโนที่เคลือบอยู่บนนวัตปะการังจะแตกตัวแบบอัตโนมัติและปล่อยสารปกป้องไม่ให้ปะการังตาย”
นวัตปะการังเป็นหนึ่งในความหวังที่จะฟื้นฟูแนวปะการังตามธรรมชาติให้กลับคืนมาสู่ท้องทะเลโดยเร็ว อาจใช้เวลา 10-20 ปี หรือกึ่งศตวรรษ แต่ก็ยังดีกว่าที่วันนี้เราไม่ได้เริ่มทำอะไร อย่างน้อยรุ่นลูกหลานต้องได้เห็นความงามของท้องทะเล
“แม้ธรรมชาติจะถูกทำลายไปแล้ว แต่มนุษย์สามารถฟื้นฟูและสร้างธรรมชาติให้กลับคืนมาได้ด้วยการใช้นวัตกรรม เราหวังว่านวัตปะการังจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการฟื้นฟูระบบนิเวศ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน การประมง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจร่วมพัฒนา หรือนำนวัตปะการังไปใช้ฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำ สามารถติดต่อ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ (Veterinary Medical Aquatic Animals Research Center-VMARC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2251 8887, 0 2218 9510 อีเมล vmarc.clinic@gmail.com
ข้อมูลเพิ่มเติม
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้