รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
11 ตุลาคม 2565
ผู้เขียน ขนิษฐา จันทร์เจริญ
นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ แปลงร่างน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม ทำความสะอาดดี ละลายน้ำ 100 % ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ปลอดภัยต่อระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมเป็นทางเลือกเพิ่มมูลค่าและศักยภาพชุมชนในการจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วด้วยตนเอง เร่งต่อยอดเป็นสารควบคุมแมลงในแปลงเกษตรอินทรีย์
น้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหารแล้ว ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำเนื่องจากมีสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อสุขภาพ นอกจากนี้ หากเท-ทิ้งน้ำมันเหล่านั้นไม่ถูกที่ถูกทางก็จะส่งผลกระทบด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น สภาวะโลกร้อน และปัญหาน้ำท่วมขังอันเนื่องมาจากท่อระบายน้ำอุดตัน
ในทางตรงกันข้าม หากมีการจัดการที่ดี น้ำมันพืชใช้แล้วก็จะกลายเป็น “ทรัพยากรที่มีมูลค่า” ที่สามารถกลับมาเป็นประโยชน์ให้ชุมชนได้อีกครั้ง อย่างที่ในปัจจุบัน น้ำมันพืชใช้แล้วจำนวนหนึ่งจากภาคอุตสาหกรรมอาหาร ถูกแปลงให้เป็นไบโอดีเซล – น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก
อย่างไรก็ตาม ยังมีน้ำมันที่ผ่านการประกอบอาหารแล้วอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคครัวเรือนและร้านค้า ที่ยังขาดการจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นปัญหามาก ซึ่งประเด็นนี้เป็นโจทย์ที่ ดร.ณัฐพงศ์ ตันติวิวัฒนาพันธ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามหาทางออก ซึ่งหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาคือการวิจัยแปลงน้ำมันพืชใช้แล้วให้เป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม ที่ชุมชนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อใช้ในการทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ เช่นสบู่ทั่วไป และต่อยอดใช้กับการควบคุมแมลงในแปลงเกษตรอินทรีย์
น้ำมันพืชใช้แล้ว (Used cooking oil หรือ UCO) เป็นขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการประกอบอาหาร ที่เราทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นจากอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม และที่น่ากังวลมากที่สุดคือภาคครัวเรือน เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับและควบคุม
สถิติจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่าในปี 2550 น้ำมันพืชใช้แล้วในประเทศไทยมีปริมาณราว 74 ล้านลิตร ซึ่งหากดูอัตราการบริโภคน้ำมันพืชต่อปีและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็อาจประมาณการได้ว่าในปัจจุบัน (2565) ปริมาณน้ำมันพืชใช้แล้วในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นถึงราว 115 ล้านลิตร/ปี – น้ำมันพืชใช้แล้วจำนวนมหาศาลนี้ได้รับการจัดการอย่างไร? และหากจัดการไม่ถูกต้องจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ดร.ณัฐพงศ์ เผยว่า ปัจจุบัน การจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วในภาคอุตสาหกรรมอาหารมีกฎหมายของกรมโรงงานควบคุมอยู่ ทั้งการจัดการด้วยระบบการบำบัดน้ำเสียและการนำน้ำมันพืชเหล่านี้ไปผลิตเป็นไบโอดีเซล ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโรงงานผลิตไบโอดีเซล 15 โรง ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
“ราคารับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานผลิตไบโอดีเซลจะได้ราคาดี แถมยังมีผู้มารับซื้อถึงหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้นำน้ำมันใช้แล้วกลับไปสร้างประโยชน์ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ที่อยู่ไกลจากโรงงานผลิตไบโอดีเซล ราคารับซื้อน้ำมันไม่สู้จะจูงใจนัก เพราะมีค่าการขนส่ง ทำให้แหล่งที่มีน้ำมันพืชใช้แล้ว เช่น ร้านค้า เลือกที่จะทิ้งน้ำมันใช้แล้วมากกว่า” ดร.ณัฐพงศ์ แจงปัญหา
เช่นเดียวกับภาคครัวเรือน ที่ยังไม่มีระบบและขาดแรงจูงใจในการเก็บน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อแปลงเป็นไบโอดีเซล ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงมักเทน้ำมันลงในท่อระบายน้ำ หรือเทรวมกับขยะอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ดร.ณัฐพงศ์ อธิบายว่าการเทน้ำมันพืชใช้แล้วลงท่อระบายน้ำ โดยไม่มีบ่อดักไขมัน จะทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน เกิดกลิ่นเหม็น เป็นปัญหากับการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หรือ น้ำรอการระบาย เช่นที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายพื้นที่ในเขตเมือง
ส่วนการเทน้ำมันพืชใช้แล้วลงในถุงขยะพลาสติกและปนกับขยะทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นในครัวเรือนส่วนมาก ก็จะเป็นปัญหากับการคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
“น้ำมันพืชใช้แล้วเหล่านี้ หากปนเปื้อนกับขยะรีไซเคิลก็จะทำให้ขยะรีไซเคิลไม่อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นของเหลวไม่ละลายน้ำ เวลาสัมผัสกับพลาสติก จะเอาออกยากมาก และหากมีการทิ้งโดยใส่ถุงพลาสติกหรือขวดพลาสติกไปพร้อมกับขยะทั่วไป เมื่อรถขยะเก็บไปก็จะถูกบีบอัดทำให้ถุงหรือขวดนั้นแตก ส่งผลให้น้ำมันไหลไปตามท้องถนน เกิดกลิ่นเหม็น พื้นถนนลื่นเป็นอันตราย ล้างออกยาก และยังไหลลงท่อระบายน้ำอีกด้วย”
นอกจากนี้ น้ำมันพืชใช้แล้วที่ปนเปื้อนขยะมูลฝอย เมื่อไปถึงหลุมฝังกลบ จะเกิดการย่อยสลายแบบไร้อากาศ ทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า!
“เราจำเป็นต้องเอาน้ำมันพืชใช้แล้วออกจากระบบขยะให้มากและเร็วที่สุด” ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว
โรงอาหาร จุฬาฯ เป็นแห่งหนึ่งที่มีการแยกขยะรูปแบบต่าง ๆ ตามแนวทางของ Chula Zero waste ที่เน้นการจัดการขยะอย่างเป็นระบบในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่ที่ยังเป็นความท้าทายคือการจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วและกากไขมัน
“สำนักงานกายภาพของจุฬาฯ ให้เราช่วยวิจัยเพื่อจัดการปัญหากากไขมันจากโรงอาหารในจุฬาฯ เราเห็นว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่นำเอากากไขมันไปใช้หมักกับปุ๋ย และจุฬาฯ ก็มีโรงหมักปุ๋ยจากใบจามจุรีอยู่แล้วด้วย”
“จากการทดลองเอากากไขมันหรือน้ำมันใช้แล้ว ซึ่งเป็นของเหลวที่ไม่ละลายน้ำ ไปหมักกับปุ๋ย เราพบว่าได้ผลไม่ค่อยดีเท่าไร เราเลยปรับสภาพของกากไขมันให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ ด้วยการแปลงน้ำมันเหล่านั้นให้เป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม แล้วจึงนำไปหมักร่วมกับปุ๋ยจามจุรี ซึ่งได้ผลดีทีเดียว นอกจากจะกำจัดกากไขมันได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มแร่ธาตุโพแทสเซียมให้กับปุ๋ยจามจุรีด้วย”
ด้วยโครงสร้างที่มีทั้งส่วนที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ สบู่เหลวโพแทสเซียม (Potassium Soap หรือ K-Soap) มีคุณสมบัติของการเป็นสารลดแรงตึงผิว จึงสามารถขจัดคราบสกปรกต่าง ๆ บนพื้นผิวออกได้ดีเหมือนกับน้ำยาทำความสะอาดที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่จุดเด่นที่แตกต่างอย่างสำคัญคือ K-Soap มีความเป็นพิษต่อจุลินทรีย์ต่ำ ทำให้ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100 % เมื่อเปรียบเทียบกับสารทำความสะอาดชนิดซัลเฟตที่ใช้กันทั่วไปในครัวเรือน
นอกจากการทำความสะอาดแล้ว ดร.ณัฐพงศ์ พบอีกว่าสบู่เหลวโพแทสเซียมมีคุณสมบัติในการกำจัดแมลง ซึ่งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยอมรับให้ใช้ได้อีกด้วย
“สบู่เหลวโพแทสเซียมตอบโจทย์ในการกำจัดปัญหาแมลงได้ดีและสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วย”
จากความตั้งใจลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากน้ำมันพืชใช้แล้วในภาคครัวเรือน ทีมวิจัยได้ถ่ายทอดวิธีการผลิต K-Soap ให้กับวิสาหกิจชุมชนบ้านไผ่เหลือง จังหวัดน่าน ภายใต้โครงการ “เที่ยวน่าน ใส่ใจ ไร้คาร์บอน” โดยได้รับการงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2564 เพื่อผลักดันให้จังหวัดน่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เราพัฒนากระบวนการผลิตสบู่โพแทสเซียมจากน้ำมันพืชใช้แล้วให้ง่ายและปลอดภัยเพื่อให้ชุมชนสามารถนำผลิตเองได้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้สามารถจัดการขยะชนิดต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และนำขยะเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน”
กระบวนการนี้ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบ –น้ำมันพืชใช้แล้ว – ในพื้นที่จังหวัดน่าน แล้วนำมาผลิตเป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม เพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของสบู่เหลวโพแทสเซียมในการทำความสะอาดรถขนขยะของเทศบาล อ.เมือง จ. น่าน ล้างพื้นผิวถนนคนเดิน “กาดข่วงเมือง” ซักผ้าขี้ริ้ว หรือห้องน้ำของวัด เป็นต้น
“ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ นอกจากสบู่เหลวจะมีประสิทธิภาพดีและทำเองได้ง่ายๆ แล้ว ยังมีต้นทุนถูกกว่าน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้อยู่เดิมด้วย”
เพราะไม่มีสิ่งใดเป็น “ขยะ” ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวเสริมอีกว่าขณะนี้กำลังทดลองเอาน้ำล้างรถขยะที่ล้างด้วยสบู่โพแทสเซียม มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ หรือเอามาหมักเป็นปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยทางใบ (โดยใช้ร่วมกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสงสีแดงที่ชาวบ้านผลิตเองได้อยู่แล้ว) เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเคมีอีกด้วย
นอกจากชุมชนใน จ.น่าน โครงการยังได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดวิธีการใช้ชุดแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว ในการผลิตสบู่แหลวโพแทสเซียมให้กับชุมชนปากลัด จ.สมุทรปราการ โดยร่วมมือกับโครงการขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดปลอดขยะ (Zero-Waste) ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทดาวประเทศไทย
นอกจากคุณสมบัติในการเป็นสารทำความสะอาด ดร.ณัฐพงศ์ ยังเห็นโอกาสเพิ่มมูลค่าของสบู่เหลวโพแทสเซียมในภาคการเกษตรด้วย ทางโครงการจึงจับมือกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ พัฒนาสบู่เหลวโพแทสเซียมให้มีความสามารถในการเป็นสารจับใบ (เคลือบผิววัสดุของน้ำ) ใช้เสริมฤทธิ์ของสารออกฤทธิ์ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมโรคพืชและแมลงรบกวนในแปลงเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์
“เรากำลังตรวจสอบความเข้ากันได้ของสบู่โพแทสเซียมกับสารชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช ลดปริมาณการใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีราคาค่อนข้างแพงได้”
ในอนาคตโครงการมีแผนที่จะทดลองใช้สบู่เหลวโพแทสเซียมในการทำความสะอาดและล้างยาฆ่าแมลงตกค้างในผักและผลไม้ตั้งแต่ในสวน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผลผลิตเกษตรปลอดภัย (ปราศจากยาฆ่าแมลงตกค้าง) และให้เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ PGS (participatory guarantee system) จ.น่าน ทดลองใช้สบู่เหลวโพแทสเซียมเป็นทางเลือกในแปลงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่าสบู่เหลวโพแทสเซียมสามารถใช้จัดการเพลี้ยแป้ง มด และหนอนบางประเภทได้
“นอกจากนี้ K-Soap มีความเป็นพิษที่ต่ำมาก และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายในเวลาเพียง 5 วัน เมื่อย่อยสลายเสร็จจะปล่อยแร่ธาตุโพแทสเซียมให้แก่พืช”
ปัจจุบัน แหล่งผลิตสบู่เหลวโพแทสเซียมของจุฬาฯ อยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งพร้อมผลิตเพื่อเป็นสารทำความสะอาดสำหรับรถขยะและสารควบคุมเพลี้ย แต่สำหรับการใช้เพื่อการเกษตร ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวว่ายังต้องรอผลการทดสอบประสิทธิภาพจากแปลงสาธิตก่อน คาดว่าน่าจะพร้อมผลิตเพื่อจำหน่ายสำหรับภาคการเกษตรได้ภายในปี 2566 หรือ 2567
ปัจจุบัน ขยะส่วนใหญ่ยังกระจัดกระจายและการรวบรวมก็ยังเป็นปัญหา ดร.ณัฐพงศ์ มองว่าแนวทางการจัดการขยะควรมุ่งที่ระดับชุมชน (area-based) โดยให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา คัดแยกขยะ และแปรรูปให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้กลับคืนให้ชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
“เมืองใหญ่มีความมั่นคงทางอาหารต่ำมาก หากมีการปิดเมืองยาว ๆ อย่างสถานการณ์โควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ก็ไม่รู้จะเอาอาหารจากไหน ดังนั้น จึงควรขยายพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง เช่น ทำสวนผักดาดฟ้า สวนผักในเมือง ซึ่งการจัดการขยะโดยการเอาเศษอาหารมาหมักทำเป็นปุ๋ย เอาน้ำมันพืชใช้แล้วมาทำเป็นสารทำความสะอาดและจัดการแมลง ก็ช่วยทั้งการจัดการขยะ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยังเพิ่มพื้นที่เกษตรในเมืองด้วย”
ดร.ณัฐพงศ์ ยังมีอีกหลายแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าขยะจากการประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น กากไขมันที่ยังไม่ค่อยมีใครนำไปใช้ประโยชน์ กากกาแฟ หรือพลาสติกถุงแกงที่ปนเปื้อนน้ำมัน ฯลฯ
“มันจะไม่มีอะไรเป็นขยะเลย หากเราคัดแยกขยะให้ถูกต้อง ถูกประเภท และมีการจัดการขยะก็จะกลายร่างเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าและกลับมาสร้างประโยชน์ให้ชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน” ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจร่วมทดสอบประสิทธิภาพของสบู่เหลวโพแทสเซียมในการควบคุมแมลงรบกวน สามารถติดต่อขอตัวอย่างได้ที่ Nattapong.T@chula.ac.th
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้