รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
12 ตุลาคม 2565
ผู้เขียน รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีความสำคัญระดับโลก มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งในปี ค.ศ. 2022 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปี รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้
ในวาระสำคัญเช่นนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความสะท้อนความหมายและความสำคัญของ APEC 2022 Thailand ที่คนไทยควรรู้เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี เพราะนี่คือจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย!
ปี 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก ทำไมเราถึงสามารถกล่าวเช่นนี้ได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะอย่างน้อย 2 เหตุผลด้วยกัน
เหตุผลส่วนแรก APEC 2022 Thailand คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก และนี้คือกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พิจารณาได้จากสัดส่วนของประชากรของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากที่มีสัดส่วนของคนจนสูงถึง 41.7% ของประชากรในปี 1990 ปัจจุบันตัวเลขนี้ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.8% ของประชากร APEC เท่านั้นที่ยังอยู่ในสถานะยากจน
APEC 2022 Thailand จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก
ตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากปี 1990 ถึง 2020 มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC เพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 67.9% นั่นแปลว่า 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือผู้ลงทุนรายสำคัญที่ต่างก็ลงทุนภายกลุ่ม APEC ด้วยกันเอง ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากการที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง APEC ที่เน้นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) อาทิ การลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี การสร้างความร่วมมือเพื่อให้พิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดความซับซ้อนลง หรือ การอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ APEC ได้ทำให้ดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB Index) เฉลี่ยของทั้งกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11.3%
ในภาพรวมแล้ว การประชุม APEC มีขอบเขตสารัตถะของการประชุมครอบคลุมเกือบจะทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอาจจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
นอกจากผลการประชุมที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ผลได้จากการประชุม APEC ที่เกิดขึ้นทันที โดยไม่ต้องรอการประชุมสุดยอดผู้นำ นั่นคือ ตลอดทั้งปี มีคณะของ 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ในทุกระดับ ที่มาประชุมกันรวมแล้วกว่า 14 คลัสเตอร์ ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ จนถึงรัฐมนตรี และผู้นำของประเทศ รวมทั้งกองทัพสื่อ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศ เข้าทางประชุม เข้ามาใช้บริการต่าง ๆ ทั้ง อาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมของที่ระลึก ขนส่ง ภาคบริการ และกาคการผลิตของไทยก็ได้รับผลประโยชน์ไปแล้ว ลองนึกภาพว่าแต่ละประเทศที่เข้ามาประชุมมีคณะทำงานตั้งแต่ 10 ท่าน จนถึงระดับผู้นำที่มีคณะทำงานหลักหลายร้อย ร่วมกับกองทัพนักข่าวอีกนับพัน ทั้งหมดคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศไทยเกิดการขยายตัว และยังถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี เพราะต้องอย่าลืมว่า โรงแรมทุกโรง อาหารทุกมื้อ ของที่ระลึกทุกชิ้น ภาคบริการเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุม ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือ และความตั้งใจอย่างดีที่สุดของชาวไทย ที่จะนำเสนอต่อสายตาชาวโลก
เหตุผลส่วนที่สองที่ยิ่งขับให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญนี้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย ก็เนื่องจาก ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา การประชุม APEC มักจะเกิดอุปสรรคขึ้นเสมอ ๆ เริ่มตั้งแต่ สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นประกาศสงครามการค้ากับ 15 ประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าด้วย โดยเฉพาะ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสงครามการค้าในครั้งนี้ที่เริ่มต้นในปี 2018 ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ควรจะต้องหารือกันเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่สามารถบรรลุผลการประชุมร่วมกันและออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ในปี 2018 ที่ประเทศปาปัวนิวกีนีเป็นเจ้าภาพ ต่อเนื่องด้วยปี 2019 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองขึ้นในประเทศเจ้าภาพการประชุม นั่นคือ ประเทศชิลี ทำให้ในปี 2019 ไม่มีการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC
จากนั้นทั่วทั้งโลกก็เผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ในปี 2020 และ 2021 การประชุม APEC ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบพบหน้าในที่ประชุม หากแต่ต้องใช้ระบบการประชุมทางไกล ซึ่งถึงแม้จะสามารถบรรลุเป้าหมาย สามารถออกวิสัยทัศน์ “ปุตราจายา 2040” และแผนปฏิบัติการ “เอาทีรัว” ได้ แต่สิ่งที่ทั่วโลกจับตามองมากกว่าการประชุมใน Plenary Session นั่นก็คือ Sideline meetings ที่ผู้นำจะได้พบปะกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษมากกว่าการประชุมหลัก รวมทั้งการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้นำกับผู้นำ ระหว่างผู้นำประเทศกับผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจ ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ 3 ปีแล้ว
ดังนั้นการประชุมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2022 และการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2022 จึงเป็นการประชุมแบบพบปะ ถกแถลง เสวนาแบบเจอตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปี ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทั่วทั้งโลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อฟื้นฟูห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติหลังการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางปัญหาวิกฤตการณ์อาหาร วิกฤตการณ์พลังงาน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และความพยายามของบางชาติที่ต้องการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธในการกดดันประหัตประหารบางเขตเศรษฐกิจ
สถานการณ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้โลกต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพก็ได้เตรียมความพร้อม จัดการวาระการประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างเพียบพร้อมมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้า เพื่อให้การประชุมครั้งสำคัญนี้บรรลุผลดังที่ทุกคนต้องการ นั่นคือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบเพื่อให้เศรษฐกิจของทั้ง 21 เขต และของทั้งโลกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ สร้างสรรค์และยั่งยืน โดยมีการเตรียมการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพ หรือ Bangkok’s Goals อันประกอบไปด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่
1) ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade and Investment)
2) ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยั่งยืน
3) ร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ
4) ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน
ดังนั้นผู้นำที่ไม่มาเข้าร่วม หรือมาเข้าร่วมแต่กลับมาสร้างความแตกแยก แทนที่จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเรือนหลายพันล้านคน จึงเป็นผู้นำที่คนทั่วทั้งโลกคงต้องทบทวนพิจารณา
และสำหรับทุกภาคส่วนที่ช่วยกันสนับสนุน ตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษาที่มาช่วยงาน คนไทยทุกคนที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ เจ้าหน้าที่และพนักงานในระดับต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ไปจนกระทั่ง คณะทำงาน เจ้าหน้าที่ระดับสูง รัฐมนตรี และผู้นำเขตเศรษฐกิจ ทุกคนสมควรได้รับการยกย่องขอบคุณ ที่ทำให้ประเทศไทย และเศรษฐกิจของทั้งโลกอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้