รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
2 พฤศจิกายน 2565
ผู้เขียน ภัทรพร รักเปี่ยม
เปิดให้บริการแล้ว! ทางเลือกใหม่ผู้บริโภค แพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ โมเดลธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์โดยนักวิจัย จุฬาฯ หนุนชุมชนเป็นเจ้าของและประสานประโยชน์ร่วม สร้างงาน สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายผู้บริโภค พร้อมขยายโมเดลในหลายชุมชนทั่วประเทศ
ฟรีค่าจัดส่ง! ส่วนลดค่าอาหาร! บรรดาแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ทั้งหลายต่างปล่อย “โปรสุดคุ้ม” กันออกมารัวๆ เพื่อช่วงชิงลูกค้า แต่ดีลที่ผู้บริโภคได้รับนั้นคุ้มแน่หรือ? เหล่าไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนสมราคาหรือไม่? ร้านค้าอยู่ได้หรือเปล่า?
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อค้นพบจากการทำวิจัยเรื่อง “ไรเดอร์ ฮีโร่-โซ่ตรวน” เมื่อปี 2562 ว่าในระบบธุรกิจดิลิเวอรี่ที่ดำเนินอยู่นั้น ไรเดอร์ได้ผลตอบแทนต่ำ ในขณะที่สภาพการทำงานเสี่ยงและหลักประกันทางสังคมน้อย และท้ายที่สุด ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายมากกว่าที่เชื่อว่าคุ้ม!
“ตอนที่ทำวิจัย เรารู้สึกโกรธที่เห็นไรเดอร์ ร้านค้า และลูกค้าถูกบริษัทฟูดดิลิเวอรีเอกชนเอาเปรียบมากเกินไป ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และมีมาตรการล็อกดาวน์ คนเดินทางน้อยลงเพราะ work from home ทำให้รายได้ของไรเดอร์ลดฮวบ ส่วนร้านอาหารที่ไม่อาจขายหน้าร้านได้ก็ต้องพึ่งช่องทางออนไลน์ แต่กลับถูกเก็บค่าส่วนแบ่งมากจนต้องขึ้นราคาขาย ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น สรุปแล้ว ทุกฝ่ายย่ำแย่กันหมด” คุณอรรคณัฐ เผยจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้เขาแปรรูปงานวิจัย “ไรเดอร์ ฮีโร่-โซ่ตรวน” เป็นโครงการพัฒนาโมเดลธุรกิจเศรษฐกิจสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) ตามสั่ง-ตามส่ง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นโครงการวิจัยที่ศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจ โดยเราทดลองนำแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์มาใช้ในโมเดลธุรกิจ สร้างแพลตฟอร์มให้คนในชุมชนใช้ สร้างกฎหรือกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพิ่มโอกาสและความมั่นคงทางอาชีพให้ชุมชน และที่สำคัญ เราหวังว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในชุมชน” คุณอรรคณัฐ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
โครงการวิจัยโมเดลธุรกิจ ตามสั่ง-ตามส่ง ได้รับทุนสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาฯ สำนักบริหารวิจัย และ CU Social Innovation Hub
“โครงการนี้มาจากงบประมาณภาษีของประชาชนและมาจากสถานศึกษา มันก็ควรจะตอบแทนคืนสู่สังคม ดังนั้น เป้าหมายความสำเร็จของโครงการจึงไม่ได้วัดที่ผลกำไรที่เป็นเม็ดเงิน แต่ดูที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน และสร้างองค์ความรู้เศรษฐกิจสมานฉันท์ในบริบทของประเทศไทย ที่มีการพูดถึงบ้างในเชิงหลักการ แต่ยังไม่ได้มีการลงมือทำอย่างจริงจัง”
ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ที่ให้บริการเหมือนกับแพลตฟอร์มเอกชนเจ้าอื่น ๆ แต่ที่ต่างออกไปก็คือโมเดลธุรกิจนี้ยืนอยู่บนแนวคิดและคุณค่าหลัก (core value) “เศรษฐกิจสมานฉันท์” (social solidarity economy)
คุณอรรคณัฐ ขยายความแนวคิดนี้ในเชิงรูปธรรมว่า “โมเดลธุรกิจบนแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์เปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาสร้างข้อตกลงร่วมกัน ออกแบบกฎและกติกาที่ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการปรับเปลี่ยนอะไร ก็ต้องพูดคุยและตกลงกันก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดความขัดแย้งในอนาคต ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต่างจากโมเดลธุรกิจแบบเดิม ที่มีคนได้และมีคนเสียประโยชน์ หรืออย่างที่พูดกันว่า Winner takes it all.”
แม้จะถูกมองว่าเป็นแนวคิด “โลกสวย” แต่ทีมวิจัยก็มั่นใจว่าโมเดลธุรกิจนี้เป็นไปได้ และจะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
“ก็คงต้องใช้เวลาสักหน่อย โดยเฉพาะกระบวนการที่จะทำให้ทุกฝ่าย ทั้งไรเดอร์ ร้านค้าและผู้บริโภคในชุมชน เห็นประโยชน์และเข้าใจว่าพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากโมเดลธุรกิจนี้อย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่กำไรที่เป็นเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว”
โมเดลธุรกิจด้านการเงิน (financial model) ไม่ใช่ความยากที่สุดของธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ หากแต่เป็นกระบวนการทำงานกับคนในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นทีมวิจัยต้องทำความเข้าใจสภาพสังคมและปัจจัยที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน (social cohesion) รวมถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และชุมชนอยากเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการด้วยตัวเอง
“ในช่วงแรก ต้นทุนในการบริหารจัดการโครงการ พัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการ และดูแลระบบต่าง ๆ ทางโครงการวิจัยจะเป็นผู้สนับสนุนให้ทั้งหมด เมื่อชุมชนรู้สึกว่าพวกเขาได้ประโยชน์และยินดีที่จะดูแลค่าใช้จ่ายในการบริหารธุรกิจนี้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวชุมชนเอง ทีมวิจัยก็จะค่อย ๆ ถอยออกมา แต่จะยังคงสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยีในการใช้งานเท่านั้น”
หนึ่งในความท้าทายสำคัญในการทำธุรกิจดิลิเวอรี่ทางเลือกคือการปรับทัศนคติของผู้บริโภค คุณอรรคณัฐ กล่าวว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ลองใช้บริการ ตามสั่ง-ตามส่ง พอใจที่ได้อาหารในปริมาณและราคาตามจริง (เหมือนที่สั่งตามหน้าร้าน) แต่กลับไม่พอใจที่ต้องจ่ายค่าส่ง ที่ดูเหมือนจะมากกว่าค่าส่งที่เคยจ่ายผ่านโปรโมชันเมื่อใช้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจเอกชน
“เราต้องสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภครู้เท่าทันธุรกิจนี้ การจัดโปรโมชัน ฟรีค่าส่งบ้าง ลดราคาบ้าง เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมองไม่เห็นหรือมองข้ามต้นทุนจริงที่ต้องจ่าย”
“สำหรับ ตามสั่ง-ตามส่ง เราไม่ได้ช่วยค่าส่งหรือบวกค่าอะไรเพิ่ม ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าส่งตามจริง ซึ่งถ้าดูกันจริงๆ เมื่อรวมราคาอาหารและค่าส่งแล้ว สุดท้าย ราคาของเราที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะน้อยกว่าแพลตฟอร์มที่อื่นๆ เราจึงต้องค่อยๆ อธิบายจุดนี้ให้ลูกค้าเข้าใจว่าให้ดูที่ราคารวม อย่าดูเฉพาะค่าส่ง”
ตามสั่ง-ตามส่ง ออกแบบให้เป็นระบบบริการเพื่อชุมชนและโดยชุมชน (community-based) จึงเลือกใช้ระบบแอปพลิเคชันไลน์ ที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว และยังมีระบบอัตโนมัติที่ให้คุยกับแชตบอตได้อีกด้วย
“ทีมพยายามทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องมีทักษะดิจิทัลอะไรมาก เพียงแค่กดไม่กี่ครั้งเท่านั้นก็เข้าถึงบริการได้”
ที่สำคัญ ตามสั่ง-ตามส่ง เน้นการให้บริการในรัศมีประมาณ 3-5 ตารางกิโลเมตร โดยเชิญร้านอาหารกับไรเดอร์ในชุมชนนั้น ๆ มาเข้าร่วมโครงการ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็คือคนที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีกลุ่มเป้าหมายต่างกันออกไป
“อย่างจุฬาฯ สามย่าน ก็จะเน้นให้บริการนิสิต บุคลากร และคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้เป็นหลัก บางพื้นที่ในต่างจังหวัด อาจจะเน้นกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงวัยมีความจำเป็นและไม่สะดวกเดินทาง ทีมก็จะไปหาคนเหล่านั้น แนะนำให้เขารู้จักตัวเครื่องมือ ฝึกให้เขาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พวกเขา”
การที่ ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นระบบบริการที่เน้นชุมชน มีจุดได้เปรียบหลายข้อในเชิงธุรกิจ นอกจากราคารวมที่ย่อมเยากว่าแล้ว ยังเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสั่ง-ให้ตามส่งได้มากกว่า 1 ร้านด้วย
“ในการสั่งแต่ละครั้ง ผู้บริโภคสามารถสั่งได้มากกว่า 1 ร้าน เพราะแต่ละร้านอยู่ไม่ไกลกันมาก ไรเดอร์สามารถไปรับออเดอร์ได้ ค่าส่งก็จ่ายตามจริง โดยบวกเพิ่มค่าส่งให้ไรเดอร์มากกว่าเดิมหน่อย ไม่มีบวกค่า GP หรือหักส่วนแบ่งการขาย ค่าใช้จ่ายของลูกค้าก็จะลดลงเพราะไม่ต้องสั่งแยกออเดอร์ ไม่ต้องเสียค่าส่งสองครั้ง เหมือนแพลตฟอร์มอื่น”
ตามสั่ง-ตามส่ง เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มที่ชุมชนซอยลาดพร้าว 101 เป็นแห่งแรก จนทุกวันนี้ ชุมชนก็ยังคงเหนียวแน่นใช้บริการแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่นี้อยู่ โดยมีร้านค้าร่วมโครงการกว่า 70 ร้าน และไรเดอร์ 44 คน
จากผลตอบรับที่น่าชื่นใจ ทีมวิจัยได้ปรับปรุงแพลตฟอร์มเพื่อไปใช้งานในอีกหลายพื้นที่ เช่น จุฬาฯ สามย่าน เจริญกรุง เมืองเอก บางขุนเทียน หมู่บ้านนักกีฬา เพชรเกษม ฯลฯ
“การทดลองใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในพื้นที่ที่หลากหลายนับเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ เพราะทำให้เราเห็นปัจจัยหรือองค์ประกอบ เช่น สภาพสังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นตัวแปรสำคัญของแต่ละพื้นที่ เราได้เห็นแนวทางในการพัฒนาโมเดลธุรกิจและกระบวนการที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่”
ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทดลองนำโมเดลธุรกิจนี้ไปปรับเป็นโครงการที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ได้แก่
คุณอรรคณัฐ กล่าวว่า โมเดลนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองความเป็นไปได้ ซึ่งหากผลการดำเนินงานดี ก็อาจจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
“ขณะนี้มีสมาคมไรเดอร์สนใจติดต่อเข้ามาขอโมเดลธุรกิจแบบ Worker Co-op ไปทำเองในพื้นที่ เช่น กลุ่มไรเดอร์ใน จ. สมุทรสงคราม พิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม่ ซึ่งทางทีมยินดีมาก”
การดำเนินธุรกิจ ตามสั่ง-ตามส่ง ให้ดอกผลที่น่าชื่นใจกว่าเม็ดเงิน
“ความสัมพันธ์ในหลายชุมชนดีขึ้น ไรเดอร์ ร้านค้า และผู้คนในชุมชนรู้จักกันมากขึ้น สนิทกันและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น”
ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นทำให้ทีมวิจัยตั้งความหวังให้ ชุมชนทั่วประเทศได้ทดลองใช้โมเดลธุรกิจนี้บ้าง ซึ่งทางทีมวิจัยก็พร้อมอำนวยความสะดวก
“ในอนาคตทางทีมพัฒนาอาจจะเปิดเป็น open source เพื่อให้คนแต่ละพื้นที่เอาไปพัฒนาให้เหมาะกับบริบทของตัวเอง ดำเนินการด้วยตัวเอง เพียงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์”
คุณอรรคณัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่าในอนาคต ทีมวิจัยจะทำระบบ infrastructure ให้พร้อมกับการขยายผลการทำงานและเพิ่มพื้นที่ใหม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความอิสระจากกัน ซึ่งก็ต้องค่อย ๆ เป็นค่อยไป
ผู้บริโภคที่สนใจใช้บริการ “ตามสั่ง-ตามส่ง” สามารถเช็กพื้นที่ให้บริการได้ที่ เว็บไซต์ https://www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com/ หรือ Facebook Page: ตามสั่ง-ตามส่งหรือแอดไลน์ https://line.me/R/ti/p/%40456ttsxn
สำหรับชุมชนหรือกลุ่มไรเดอร์ที่สนใจลองใช้โมเดลธุรกิจนี้ สามารถติดต่อได้ที่คุณอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ โทร. 089-000-6667 หรือ อีเมล tamsang.tamsong@gmail.com
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้