รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 ธันวาคม 2565
ผู้เขียน สุรเดช พันธุ์ลี
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษานวัตกรรมตรวจเลือดหาสารบ่งชี้อาการสมองเสื่อมแฝง รู้ล่วงหน้า 10 ปี เตรียมตัวเพื่อชะลออาการอัลไซเมอร์เมื่อสูงวัย
อัลไซเมอร์ โรคที่หลายคนภาวนาว่าอย่าได้กล้ำกรายมาใกล้ตัวและคนใกล้ชิดเลย แต่เมื่อดูบริบททางสังคมวันนี้แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะโรคนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเราอายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้น ยิ่งสังคมของเราเป็นสังคมสูงวัย อุบัติการณ์ของการเกิดโรคสมองเสื่อมก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบัน จำนวนผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมทั่วโลกมีราว 50 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทย พบผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมประมาณ 7 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ 5 แสนคนเกิดจากโรคอัลไซเมอร์! หากไม่มีมาตรการ ทั้งส่วนบุคคลและสังคมในการชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม จำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้น ดังที่มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีประชากรสูงวัยที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าภายในสามสิบปี!
ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หนทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือชะลอการเกิดโรคให้ช้าที่สุด
นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการป้องกันอัลไซเมอร์ว่า “โรคอัลไซเมอร์มีระยะฟักตัว 10 – 15 ปี ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ เรียกได้ว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์แฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเมื่อการดำเนินโรคไปถึงจุดที่อาการเริ่มปรากฎ ผู้ป่วยก็สูญเสียเนื้อสมองไปมากแล้ว ตอนนั้นก็ยากจะฟื้นฟูหรือกู้สุขภาวะของสมอง แต่ตอนนี้ เรามีวิทยาการทางการแพทย์ที่ช่วยให้เราสามารถตรวจพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ได้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อที่เราจะได้ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการสมองเสื่อมก่อนที่จะเกิดอาการ”
ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายโรค โรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของภาวะสมองเสื่อมคืออัลไซเมอร์ รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้นเกิดมาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และความเครียด ฯลฯ
อาการสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มักเกิดกับผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 16 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราส่วนของการพบผู้ป่วยโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 6 คน
ภาวะสมองเสื่อมเริ่มต้นจากอาการหลง ๆ ลืม ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา เมื่อมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองอย่างที่เคยเป็นมา ทำให้ต้องมีผู้คอยดูแลตลอดเวลา และเมื่อการดำเนินโรคมาถึงระยะท้าย ผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้
“โรคนี้เป็นฝันร้ายของคนที่ป่วยเพราะทำให้ตัวตนที่สั่งสมมาหายไป การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างในครอบครัว” อ.นพ.ภูษณุ กล่าว
โดยทั่วไป การตรวจโรคอัลไซเมอร์ก่อนแสดงอาการมี 2 วิธี ได้แก่
แต่ปัจจุบัน อ.นพ.ภูษณุ เผยว่าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ ใช้เทคนิคทางอิมมูนวิทยาหรือวิทยาภูมิคุ้มกันในการตรวจเลือดแทนการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยใช้เครื่องตรวจที่มีชื่อว่า Simoa (Single molecule array) และเครื่อง LC-MS (Mass spectrometer) เพื่อตรวจสาร Phosphorylated Tau ในเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัลไซเมอร์แฝง และสาร Neurofilament light chan ซึ่งเป็นการตรวจการสูญเสียเนื้อสมอง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
วิธีนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่า ลดความซับซ้อนและความเจ็บในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมแฝง และยังได้ผลการตรวจที่แม่นยำอีกด้วย
“วิธีเจาะเลือดตรวจสารโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์เป็นวิธีใหม่ที่มีความคุ้มค่า ผลการตรวจมีความแม่นยำถึง 88 % ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยเทคนิคที่ใช้ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการตรวจก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบเดิมที่ใช้อยู่ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มอัตราการเข้าถึงการบริการที่ง่ายกว่าวิธีเดิมด้วย” อ.นพ.ภูษณุ เผยข้อดีของการเจาะเลือดตรวจอัลไซเมอร์แฝง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการตรวจว่า “การตรวจก็ง่ายและปลอดภัย ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการเจาะเลือด ซึ่งพยาบาลหรือนักเทคนิคการแพทย์จะเจาะเลือดเพียง 10 ซีซีเท่านั้นและเป็นการตรวจเพียงครั้งเดียว ส่วนการวิเคราะห์ผลใช้เวลา 2 เดือนเท่านั้น”
นอกจากนี้ ผู้รับการตรวจเลือดยังต้องทำแบบทดสอบความสามารถของสมองควบคู่ไปด้วย เพื่อดูต้นทุนทางสมองว่าอยู่ในระดับไหน
“ผู้ที่มีต้นทุนทางสมองที่ดี แม้จะมีโรคอัลไซเมอร์หรือโรคอื่น ๆ แฝงก็จะไม่แสดงอาการออกมา” อ.นพ.ภูษณุ กล่าว
ผลจากการตรวจเลือดจะนำไปประมวลกับผลการทำแบบทดสอบก่อนจะแปรผลรวมอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปรผล มีความซับซ้อน และต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น!
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และอายุที่มากขึ้น หากดูแลตัวเองได้ดี ลดปัจจัยเสี่ยงเสริมต่าง ๆ ก็อาจจะลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 40% ทั้งนี้ อ.นพ.ภูษณุ แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ได้แก่
ดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือหากเป็นแล้วก็รักษาและควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวให้ดี
ผู้ที่มีอาการหูหนวก หูตึง จะทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้น ส่งผลให้สมองเสื่อมได้ง่าย จึงควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อม เช่น ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ควรเป็นอาหารทะเล งดของหวาน ของเค็ม ของทอด ทานไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือ ถั่วชนิดต่าง ๆ ฯลฯ งดสูบบุหรี่ ลดหรืองดการดื่มสุรา
“สิ่งสำคัญที่สุดคือควรออกกำลังกายทุกวัน ๆ ละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง การออกกำลังกายสามารถลดภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสร้างสารฟื้นฟูสมอง” อ.นพ.ภูษณุ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละคนจะดูแลเพื่อรักษาสุขภาพกายและสมองของตัวเองได้แล้ว ยังมีมีปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มลภาวะทางอากาศ โรคซึมเศร้า รวมถึงความเปล่าเปลี่ยวทางสังคมที่มาจากการใช้ชีวิตลำพังของผู้สูงวัย เหล่านี้ก็ส่งผลต่อโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมที่จะช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ เพื่อให้เราห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ไปด้วยกัน
ผู้สนใจรับบริการตรวจเลือดหาสารโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์แฝง สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ https://www.facebook.com/trceid
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณอดิภา โทร.0-2256-4000 ต่อ 3562, 08-4113-4443
อีเมล trc.eid@gmail.com
เว็บไซต์ https://trceid.org
Line ID: trceid
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้