รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 ธันวาคม 2565
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” ผสานความรู้จากห้องเรียนกับสนามประสบการณ์ ให้นิสิตได้เรียนรู้จากการทำงานจริงกับภาคีนักกฎหมาย ร่วมปกป้องและส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
การเรียนรู้จากประสบการณ์และความสามารถในการนำความรู้มาใช้กับชีวิตให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเองและสังคมคือความหมายของการเรียนรู้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นให้ความสำคัญ อย่างที่คณะนิติศาสตร์ ได้เปิดโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” (LawLAB for Human Rights) ให้นิสิตปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ที่สนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ได้เป็นอาสาสมัครทำงานร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะได้รับประสบการณ์ทำงานที่หาไม่ได้จากในห้องเรียนแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและเผยแพร่ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนด้วย
โครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนิสิต นักศึกษา และนักเรียนจำนวนมากออกมาแสดงพลังเพื่อเรียกร้องทางการเมือง นำไปสู่เหตุปะทะกับรัฐ รวมถึงการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทำให้คณาจารย์หลายคนและภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาโดยเฉพาะในด้านคดีดความ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดร.พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
“ในประเทศไทย สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญ รัฐมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ โดยที่หลายครั้ง ผู้ถูกละเมิดไม่รู้ว่าตัวว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิ เช่น การใช้กฎหมายฟ้องคนหรือกลุ่มคน เพื่อขัดขวางการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” อาจารย์ ดร.พัชร์ กล่าว
“กลไกการปกป้องสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากประชาชนไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไร หรือแม้รู้แล้ว ก็ต้องเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะสิทธิที่ถูกละเมิด ไม่ใช่แค่สิทธิของผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่เป็นสิทธิของทุกคน ซึ่งหากเราเห็นคนอื่นถูกละเมิด เราก็ควรเข้าไปช่วยปกป้อง เพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องร่วมกันปกป้อง”
เหตุการณ์ทางการเมือง ประกอบกับกระแสความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง สิ่งแวดล้อม ปัญหาปากท้อง ความเป็นธรรมด้านสาธารณสุข การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ ได้จุดประกายให้อาจารย์ ดร.พัชร์ จัดตั้งโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” (LawLAB for Human Rights) เพื่อให้นิสิตได้ร่วมยกระดับความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้การสนับสนุนโครงการฯ ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) มูลนิธิเส้นด้าย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
โครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” แบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 3 แล็บ โดยมีจุดเน้นแตกต่างกัน ดังนี้
แล็บ 1 : การติดตามการทำงานของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนที่เปิดให้นิสิตชั้นปี 2- 4 ได้เข้าฝึกงานกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
แล็บ 2 : การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน นิสิตชั้นปี 2-4 จะได้เข้าอบรมเนื้อหาทางด้านสิทธิมนุษยชน และทำงานร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
“แล็บที่ 1 และ 2 จะเน้นให้นิสิตเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน อาทิ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยนิสิตจะได้ร่วมสังเกตการณ์ทางคดี ทำฐานข้อมูล (database) ซึ่งข้อมูลบางส่วนจะนำไปพัฒนาเป็นเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) จะมีบันทึกไว้ว่าสืบพยานอย่างไรบ้าง นิสิตก็จะเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงมีโอกาสได้ทำบทความวิเคราะห์ด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมี iLAW ที่นิสิตจะได้ไปร่วมสัมผัสกับเหตุการณ์การชุมนุมจริงแล้วเขียนเป็นบทความเผยแพร่” อาจารย์ ดร.พัชร์ อธิบาย
แล็บ 3 : เป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้เฉพาะเรื่อง รับสมัครเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 3-4 ซึ่งในครั้งล่าสุด นิสิตได้เข้ารับการอบรมในประเด็น “Anti-SLAPP Law” (SLAPP ย่อมากจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือการใช้กฎหมายปิดปาก และได้สัมภาษณ์เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจาก SLAPP Law
นิสิตในโครงการทั้ง 3 แล็บ จะได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ การติดตามทนายไปร้องเรียน ยื่นหนังสือ ร่วมสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบที่เกิดเหตุ การสังเกตการณ์การชุมนุม กระบวนการพิจารณาคดี การเลือกตั้ง รวมถึงการศึกษาร่างกฎหมายใหม่ เป็นต้น
“นอกจากการสร้างฐานข้อมูลและคอนเทนต์ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว นิสิตในโครงการจะมีโอกาสร่วมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย อาทิ เป็นกลุ่มทนายความที่พาลูกความไปฟ้องคดี เข้าร่วมประท้วงเรียกร้องสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับชาวบ้าน ชุมนุมและฟ้องรัฐบาลเพื่อเรียกร้องประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5”
“ที่สำคัญ เราหวังว่าการทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จะช่วยให้นิสิตได้เปิดมุมมองและทัศนคติใหม่ ๆ รวมถึงเกิดการตั้งคำถามกับมาตรากฎหมายบางประการที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน” อาจารย์ ดร.พัชร์ กล่าวเน้นจุดมุ่งหวังสำคัญของโครงการ
การเรียนในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมาก อาจารย์ ดร.พัชร์ เล่าว่าในห้องเรียนคณะนิติศาสตร์ อาจารย์จะออกแบบประเด็นสำหรับการเรียนการสอนมาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ข้อเท็จจริง แล้วนิสิตก็จะนำสิ่งที่อาจารย์คิดไว้ก่อนนั้นมาวิเคราะห์ แต่การเรียนในแล็บเป็นการเรียนจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นและมีสภาพแวดล้อม ที่ตำราหรือการเรียนในห้องไม่สามารถหยิบยกหรือสร้างขึ้นมาให้ได้
“ในห้องเรียน เราเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ศาล มีหน้าที่และบทบาทอย่างไร ควรทำแบบไหน อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น อย่างคดีทางการเมืองซึ่งว่าตามกฎหมายแล้ว จำเลยหรือผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และเมื่อยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนผู้ที่ถูกศาลตัดสินหรือได้รับการปฏิบัติแบบนักโทษ แต่ที่เกิดขึ้น จำเลยใช้ชีวิตทุกอย่างในเรือนจำเหมือนนักโทษ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ไม่ควรเป็นเช่นนั้น” อาจารย์ ดร.พัชร์ อธิบายยกตัวอย่าง
“นิสิตต้องตั้งคำถามและหาวิธีหาคำตอบจากสิ่งที่พบเองว่าปัญหาทางกฎหมายและข้อเท็จจริงคืออะไร การกระทำที่แต่ละฝ่ายกล่าวอ้างนั้น ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ มีกฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้อง”
การดำเนินการโครงการที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นิสิตเกิดการตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวเนื่องด้วยข้อกฎหมาย และเกิดความตระหนักในการร่วมปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงเห็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับความเข้าใจให้คนในสังคมในประเด็นสิทธิมนุษยชน อาทิ เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมาย ร่างกฎหมายใหม่ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในขณะนั้น ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ
“เราจะพัฒนาตัวแล็บไปเรื่อย ๆ โดยจะเน้นประเด็นที่เป็นลักษณะเฉพาะให้มากขึ้น เช่น Anti-SLAPP Law เราเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้เฉพาะเรื่องนั้นดีกว่า ตอนวิเคราะห์จะได้ผลชัดเจนกว่า” อาจารย์ ดร.พัชร์ กล่าวถึงแนวทางของโครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชนในอนาคต
นอกจากโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” แล้ว คณะนิติศาสตร์ยังมีห้องเรียนปฏิบัติการอีกหลายโครงการ เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสหาประสบการณ์ทางด้านกฎหมายหลากหลาย อาทิ ห้องปฏิบัติการกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ห้องปฏิบัติการกฎหมายสำหรับ Startup ห้องปฏิบัติการกฎหมายการสืบสวนสอบสวนยุค 5G
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้