รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
6 มกราคม 2566
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
จากห้องเรียนสู่สนามธุรกิจ นิสิตชมรม SIFE คณะบัญชีฯ จุฬาฯ จับมือชุมชน จ.นครสวรรค์ พัฒนาแบรนด์ “นลิน” ชาบัวเพื่อสุขภาพ คว้ารางวัลชนะเลิศแผนธุรกิจ ตอบโจทย์ความยั่งยืนธุรกิจชุมชนบนฐานการพัฒนาคนและการเรียนรู้ร่วมกัน
การเรียนรู้ภาคทฤษฎีและการจำลองแผนธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ก็จริง แต่ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากการลงมือทำ – นี่เป็นเสียงสะท้อนจากนิสิตชมรม Chula SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ TSX Youth Award Program 2022 ในงาน Thailand Sustainability Expo 2022 ที่ผ่านมา จากโครงการพัฒนาสินค้าชุมชน “ชาบัวเพื่อสุขภาพ” ภายใต้แบรนด์ “นลิน” ร่วมกับนักเรียนมัธยมโรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยา จังหวัดนครสวรรค์
“การทำกรณีศึกษาหรือการจำลองทำธุรกิจในห้องเรียน เราได้แค่การวางแผน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จจริงหรือไม่ แต่เวลาเราได้ร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชน เราต้องลงพื้นที่ เห็นปัญหาและโอกาสทางธุรกิจ ได้ลองคิดวางแผนแล้วลงมือทำจริง ๆ เราก็จะได้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดและวางแผนนั้นเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เป็นประสบการณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้” ภัธรภรณ์ พุฒิพรรณพงศ์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าว
เพื่อนร่วมทีม Chula SIFE อีก 3 คนที่ทำโครงการ “นลิน” ประกอบด้วย นางสาววรกมล ธารสุวรรณวงศ์ นางสาวจิดาภา อธิภัคกุล และนายธีร์ พงศ์พลไพรวัน ซึ่งร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้ฝึกให้พวกเราได้ลงมือทำธุรกิจจริง ๆ พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับคน การทำบัญชี การตลาด ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเราได้เห็นและรู้จักตัวเองว่าเราชอบการบริหารธุรกิจหรือเปล่า ถนัดตรงไหน มีทักษะใดที่เรายังต้องเรียนรู้เพิ่มเติม”
Chula SIFE ย่อมาจาก Students in Free Enterprise เป็นชมรมหนึ่งของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่เปิดพื้นที่ให้นิสิตจากทุกสาขาวิชาของคณะฯ ฝึกเป็น “ที่ปรึกษาทางธุรกิจ” นำความรู้และทักษะที่เรียนมารับใช้สังคม ดังข้อความในประกาศเชิญชวนนิสิตชั้นปีที่ 1 ให้มาสมัครเข้าร่วมชมรมว่า “ใครที่อยากหาประสบการณ์การลงพื้นที่ทำงานจริง ที่จะนอกจากจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ นอกห้องเรียนแล้ว ยังได้พัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กันด้วย”
ชมรม Chula SIFE ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 และเปิดรับสมัครนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้าร่วมชมรมทุกปี ซึ่งตลอด 18 ปีของการก่อตั้ง ชมรม SIFE ได้ช่วยธุรกิจชุมชนแล้วมากกว่า 10 โครงการทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ ธุรกิจชุมชนที่ชาวชมรม SIFE กำลังร่วมช่วยดูแลในปัจจุบัน อาทิ โครงการผ้าขาวม้า จ.นครราชสีมา โครงการสวายสอ จ.บุรีรัมย์ โครงการคนทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการนลิน จ.นครสวรรค์
แบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเหล่านี้ นิสิตเป็นผู้เสาะหามานำเสนอกันเอง ส่วนการดำเนินงานชมรม Chula SIFE ได้รับการสนับสนุนจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยมีคณาจารย์คอยให้คำปรึกษาแก่นิสิต จัดสรรงบ และดูแลนิสิตในการลงพื้นที่ด้วย
“เราจะลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อน ดูว่าธุรกิจของชุมชนมี pain point ตรงไหน เราจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง แล้วก็จะกลับมาปรึกษากันเองก่อนที่จะนำข้อแนะนำกลับไปให้ชุมชน” จิดาภา กล่าวยกตัวอย่างการทำงานของชมรม Chula SIFE ที่เป็นเสมือนหน่วยธุรกิจบริการให้คำปรึกษาการวางแผนธุรกิจและพัฒนาแบรนด์ให้กับชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
บริการที่นิสิตชมรม SIFE ทำร่วมกับชุมชนครอบคลุมทั้งการพัฒนาสินค้า (product developer) การให้คำปรึกษาวางแผนธุรกิจและการตลาด (business consultant) การถ่ายทอดความรู้และอบรมทักษะสำคัญทางธุรกิจ (knowledge sharer) และการผลิตเนื้อหาในการสื่อสาร (content creator)
“เป้าหมายของพวกเราก็คือเมื่อพวกเราจะถอนตัวออกไป ชุมชนจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยตัวเอง” จิดาภา กล่าวเน้น
เมื่อนึกถึงของฝากจากเมืองปากน้ำโพ นักท่องเที่ยวหลายคนจะคิดถึงขนม “ไดฟุกุ” ที่มักซื้อหาติดไม้ติดมือกลับบ้าน แต่นิสิตชมรม SIFE เห็นว่าของดีเมืองนครสวรรค์มีมากกว่านั้น
“จริง ๆ แล้วสิ่งที่มีมากและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์คือ “บัว” เราจึงอยากดันให้ “ชาบัว” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของฝากและของดีจากนครสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวคิดถึงและซื้อกลับไปฝากคนที่บ้าน” จิดาภา เล่าถึงความคาดหวังในการทำโครงการ
จากการที่สมาชิกในทีม Chula SIFE รู้จักคุณครูในโรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยา และรู้ว่าที่นั่นมีสูตรชาบัวอยู่แล้ว จึงเข้ามาช่วยพัฒนาตัวสินค้า วางแผนธุรกิจให้เป็นรูปธรรม และสร้างเป็นแบรนด์ “นลิน” ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเน้นที่ความเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ
“เราดึงเอาเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์มาใช้ในการสร้างแบรนด์ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ธุรกิจนี้ดำเนินการโดยนักเรียนจากโรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยา และรายได้ก็จะกลับสู่โรงเรียน เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ในการเรียนการสอนต่อไป” ธีร์ หนึ่งในทีม SIFE แบรนด์ “นลิน” กล่าว พร้อมเผยว่าในปีที่ผ่านมา ยอดขายผลิตภัณฑ์ “นลิน” สร้างผลกำไรกลับมาเป็นทุนหมุนเวียนให้ชุมชนดำเนินธุรกิจต่อได้ในอนาคต
การพัฒนาแบรนด์ ‘นลิน’ เป็นโครงการที่นิสิต Chula SIFE ช่วยกันจากรุ่นสู่รุ่น ในปีนี้ถือเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว จิดาภาเล่าว่า “รุ่นพี่ชมรมก่อนหน้านี้ได้ทำแผนธุรกิจ (business model) ไว้ว่าควรจะเป็นอย่างไร พอมาถึงรุ่นพวกเรา ก็เข้าสู่การขายจริง ให้น้อง ๆ ลงสนามทำจริง ขายจริง”
ถึงแม้ผลกำไรจะเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจ แต่ที่มากกว่านั้นคือความยั่งยืน ซึ่งนิสิตชมรม SIFE ตีโจทย์ “ความยั่งยืน” ใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ ความยั่งยืนด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ และความยั่งยืนที่มาจากการสร้างคน
“ในด้านผลิตภัณฑ์ เราพยายามหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในชุมชน เพื่อให้น้อง ๆ ได้รู้จัก และสามารถสานต่อทุนในท้องถิ่นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบัวก็เป็นวัตถุดิบที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักในจังหวัดนครสวรรค์ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ชาบัวนลินก็เป็นอะไรที่สามารถสร้างความตระหนักในแบรนด์ (brand awareness) ได้ดี” ธีร์กล่าว
“ส่วนความยั่งยืนที่มาจากการสร้างคนนั้น เราหมายถึงน้อง ๆ ของโรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยา ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยง ที่ผ่านมา น้อง ๆ ให้ความร่วมมือดีมาก เราถ่ายทอดความรู้ให้น้อง ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขาย การส่งของให้ลูกค้า การสั่งของ น้อง ๆ ก็สามารถนำกระบวนการที่เราสอนไปใช้จริงและยังประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย” ธีร์ กล่าว
ไม่เพียงน้อง ๆ ของโรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยา แต่พี่ ๆ จากทีม Chula SIFE เองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปด้วย
“ทั้งเราและน้อง ๆ ได้ฝึกอะไรหลายอย่างจากโครงการนี้ไปด้วยกัน พวกเราได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการปรับตัวกับสถานการณ์ที่เข้ามา อย่างเช่น พยายามสอนน้องแล้ว แต่ว่าการบัญชีอาจจะยากเกินไป เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้น้องเข้าใจให้ได้” ภัธรภรณ์ กล่าว
การทำงานของทีม Chula SIFE ทำให้น้อง ๆ โรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยามีความฝันที่จะต่อยอดธุรกิจในอนาคต
“พวกเราให้น้อง ๆ คิดวางเป้าหมายด้วยตัวเองเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ownership) เราถามน้อง ๆ ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า พวกเขาอยากเห็นแบรนด์ “นลิน” เป็นอย่างไร น้อง ๆ ตอบว่าอยากเห็นชานลินขายในร้าน OTOP ขายในห้างสรรพสินค้า และนำมาขายที่กรุงเทพฯ ด้วย” ภัธรภรณ์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ สำหรับทีมชมรม Chula SIFE ความฝันเช่นนี้หมายถึงโอกาสที่ธุรกิจชุมชนจะไปต่อได้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ที่โรงเรียนบึงบอระเพ็ดวิทยาเอง ก็ตั้งโครงการนี้เป็นชมรมหนึ่งเลย น้อง ๆ ที่โรงเรียนก็จะมีคาบกิจกรรมชมรมทุกสัปดาห์ มีการรับสมัครน้องใหม่เรื่อย ๆ และมีครูที่ปรึกษาคอยดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นโครงการนี้ก็จะดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ ในอนาคต” วรกมล เสริม
“แม้ว่าโครงการเราจะอยู่ในช่วงที่กำลังจะปิดโครงการแล้วก็จริง แต่เป้าหมายของเราคือความยั่งยืน ดังนั้นเมื่อโครงการปิดไปแล้ว เราก็จะยังคอยช่วยน้อง ๆ ในฐานะที่ปรึกษาอยู่” ธีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ชาบัวเพื่อสุขภาพ “นลิน” สามารถติดตามเรื่องราว รวมถึงสั่งซื้อสินค้าได้ที่ Facebook: Nalin Lotus Tea และสามารถติดตามโครงการดี ๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชนจากชมรม Chula SIFE ได้ทาง Facebook: Chula SIFE
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้