รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
16 มกราคม 2566
ผู้เขียน เมธาพร ไตรกิจวัฒนกุล
ก๊าซเรดอน กัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีอยู่ในหิน ดิน ทราย น้ำ ที่มนุษย์ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ซึ่งเป็นก๊าซอันตรายที่มีโอกาสส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เป็นอันดับสองรองจากการสูบบุหรี่ อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ แนะวิธีป้องกันให้ไกลจากภัยเงียบใกล้ตัว
เรื่องราวของแพทย์ท่านหนึ่งที่ออกมาเผยในโลกโซเซียลว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดทำให้หลายคนรู้สึกตกใจและหวาดวิตก ไม่ใช่เพียงตัวโรคมะเร็งปอด แต่เป็นสาเหตุที่สงสัยว่าก่อโรคมะเร็งปอดให้กับนายแพทย์ผู้นี้
เรารับรู้กันดีว่าสาเหตุอับดับหนึ่งที่ทำให้เกิด “มะเร็งปอด” คือ “การสูบบุรี่” ผู้คนที่ไม่อยากเผชิญกับโรคร้ายนี้มักจะหลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่และไม่เข้าใกล้ควันบุหรี่ และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เหตุของมะเร็งปอดที่เรารู้จักเพิ่มขึ้นก็คือ “ฝุ่นพิษ PM2.5” ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการวัดคุณภาพอากาศเสมอๆ ก่อนทำกิจกรรมนอกอาคาร และใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการกันฝุ่น ล่าสุด เราก็ได้รู้จัก “ก๊าซเรดอน” เหตุก่อโรคมะเร็งปอดที่มีมานานแล้วและอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด แต่เพิ่งเข้ามาอยู่ในการรับรู้ของสังคมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง
รองศาสตราจารย์ นเรศร์ จันทน์ขาว ผู้เชี่ยวชาญการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อม จากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “ก๊าซเรดอน” เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่จัดได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยจัดเป็นสาเหตุอันดับสองรองจากบุหรี่ โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency of Research on Cancer: IARC) แห่งองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้สรุปเป็นเอกฉันท์ว่า เรดอนเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในมนุษย์ แต่น่าตกใจคือก๊าซเรดอนเป็นก๊าซที่สามารถพบได้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป!
“ก๊าซเรดอนกับมะเร็งปอด” เป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษากันมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยก่อนคนอเมริกาจะเลือกซื้อบ้าน หลายคนจะขอดูตัวเลขค่าปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่บริเวณบ้านที่เขาจะซื้อก่อน”
รศ.นเรศร์ กล่าวเสริมอีกว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ข้อมูลความรู้และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับก๊าซเรดอนแก่ประชาชน ได้ออกมาเตือนให้ผู้คนตระหนักและระมัดระวังก๊าซเรดอนเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่หนาวซึ่งเป็นช่วงที่อากาศปิด
รศ.นเรศร์ อธิบายว่า เราอาศัยอยู่บนโลกที่มีกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมอยู่ทั่วไป โดยมนุษย์จะมีโอกาสได้รับรังสีส่วนใหญ่จากรังสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น จากธาตุกัมมันตรังสีที่มีปะปนอยู่ทั่วไปในหิน ดิน ทราย หรือแม้แต่ในร่างกายของตัวเราเอง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณรังสีทั้งหมดที่มนุษย์ได้รับ ที่เหลืออีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรังสีที่ถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซ์เรย์อวัยวะต่างๆ การฉายแสง กลืนแร่ หรือ ฝังแร่เพื่อรักษามะเร็ง เป็นต้น
ธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบนพื้นโลกส่วนใหญ่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น ทำให้เกิดการสลายตัวหายไปจนหมดไม่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบางส่วนที่มีค่าครึ่งชีวิตยาวมาก จึงสามารถพบหลงเหลืออยู่และกระจายปะปนอยู่ทั่วไปในหิน ดิน ทราย แร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่ได้จากเปลือกโลก ซึ่งรวมไปถึงน้ำในแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน
“ธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบนพื้นโลกที่ยังสามารถพบได้ในปัจจุบัน ได้แก่ ธาตุกัมมันตรังสีที่อยู่ในอนุกรมยูเรเนียม – 238 อนุกรมทอเรียม – 232 และโพแทสเซียม – 40 ซึ่งก๊าซเรดอนเป็นหนึ่งในบรรดาธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานที่เกิดจากการสลายตัวของธาตุยูเรเนียมและทอเรียม และเนื่องจากเรดอนมีสถานะเป็นก๊าซจึงสามารถฟุ้งกระจายปะปนอยู่ในอากาศทั่วไป เมื่อมนุษย์นำทรัพยากรจากเปลือกโลก เช่น หิน ดิน ทราย มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารบ้านเรือน วัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมา หากอาคารมีการระบายอากาศที่ไม่ดีจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสได้รับก๊าซเรดอนปริมาณมากเข้าไปสะสมในร่างกายและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้”
อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเสริมถึงอันตรายของก๊าซจากยูเรเนียมว่า “ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีก๊าซนี้อยู่รอบๆ ตัวเรา จึงไม่อาจรู้ได้เลยว่ากำลังหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปหรือไม่”
“เมื่อเราหายใจเอาก๊าซเรดอนเข้าไป เรดอนจะเกิดการสลายตัวให้รังสีแอลฟาและเกิดเป็นธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ขึ้น ซึ่งธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสถานะเป็นของแข็งและสลายตัวให้ธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นธาตุตะกั่วซึ่งเป็นธาตุเสถียรและสะสมอยู่ในถุงลมปอดไม่สามารถกำจัดออกจากปอดได้ เป็นผลให้เซลล์ที่ปอดจะได้รับอันตรายจากทั้งรังสีแอลฟาและพิษตะกั่ว ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้”
อาจารย์ ดร.รวิวรรณ ได้อธิบายว่า แหล่งกำเนิดของก๊าซเรดอนมาจาก ยูเรเนียมใน ดิน หิน ทราย น้ำบาดาล ก๊าซธรรมชาติ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งก๊าซเรดอนจะมีปะปนอยู่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของยูเรเนียมและเรเดียม (ธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานของยูเนียม) ในดิน
“ดินในแต่ละบริเวณจะมีธาตุยูเรเนียมปะปนอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกันไป ซึ่งดินจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ นั้นมีปริมาณของธาตุยูเรเนียมน้อยกว่าดินจากจังหวัดอื่น ดินที่พบว่ามีธาตุยูเรเนียมปะปนอยู่ในปริมาณสูง ส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวอย่างดินจากบริเวณที่มีชั้นหินแข็งเป็นหินแกรนิตหรือมีวัตถุต้นกำเนิดดินที่สลายตัวผุพังมาจากหินแกรนิต นอกจากยังพบอีกว่าตะกอนโคลนจากแหล่งน้ำพุร้อนต่างๆ ก็มีธาตุเรเดียมปะปนอยู่ในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน ”
หน่วยปฏิบัติการวิจัยการสำรวจและวิเคราะห์รังสีตามธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การนำทีมของ ศ.ดร.สุพิชชา จันทรโยธา ได้ศึกษาวิจัยและวิเคราะห์หาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีในธรรมชาติในตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดตัวแทนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยเพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานทางรังสีของประเทศ นอกจากนี้ยังนี้มีกรมทรัพยากรธรณีที่เคยจัดทำและเผยแพร่แผนที่ปริมาณยูเรเนียมและทอเรียมของประเทศไทยไว้อีกด้วย
แม้แต่ในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณก๊าซเรดอนที่ระดับพื้นดิน ใต้ดิน หรือที่ระดับชั้นต่างกันของอาคารก็มีปริมาณแตกต่างกัน
“ชั้นล่างของบ้าน อย่างชั้นใต้ดินและชั้น 1 มีแนวโน้มจะมีปริมาณก๊าซเรดอนมากที่สุด ดังนั้น หากตามพื้นที่มีรอยแตก รอยต่อระหว่างท่อระบายน้ำ ท่อปะปา หรือพื้นที่ที่เจาะรูไว้ อาจทำให้ก๊าซเรดอนสามารถแพร่แทรกเข้ามาได้”
อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กล่าวถึงการทดลองวัดค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่ห้องภาควิชาชั้น 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากวัดค่าแล้ว ลองเปิดประตูหน้าต่าง และพัดลมดูดอากาศ พบว่าปริมาณก๊าซเรดอนในห้องลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 และเมื่อเปลี่ยนพื้นที่ลงไปวัดค่าก๊าซเรดอนที่ห้องใต้ดิน พบว่า ค่าก๊าซเรดอนสูงขึ้นถึง 3 – 4 เท่า
ค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่อยู่ในเกณฑ์อันตรายคือ 148 Bq/m3 ขึ้นไป ซึ่งปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ยทั่วโลก ภายในอาคารจะอยู่ที่ 40 Bq/m3 ส่วนภายนอกอาคารจะมีค่าก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ย 10 Bq/m3 ซึ่งในปัจจุบัน การวัดค่าปริมาณก๊าซเรดอนในที่อยู่อาศัย นิยมทำการวัด 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การวัดด้วยแผ่นฟิล์ม CR39 และ เครื่องวัดปริมาณก๊าซเรดอน RAD7
“การวัดเรดอนด้วยแผ่นฟิล์ม CR39 เป็นการวัดร่องรอยของอนุภาคแอลฟาซึ่งปลดปล่อยออกมาจากก๊าซเรดอนที่วิ่งชนแผ่นฟิล์ม โดยนำแผ่น CR39 ติดไว้ในอุปกรณ์ที่ให้ก๊าซเรดอนสามารถแพร่ผ่านเข้าไปได้ ไปวางไว้บริเวณที่ต้องการตรวจ ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 3 เดือน จากนั้นนำแผ่น CR39 มานับจำนวนร่องรอยอนุภาคแอลฟาที่เกิดขึ้นบนแผ่นฟิล์มและนำไปคำนวณหาปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนต่อไป การตรวจวิเคราะห์โดยการนับรอยบนแผ่น CR39 เป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ต้องใช้ระยะเวลารอผลนาน และต้องวิเคระห์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่มีข้อดีคือค่าใช้จ่ายต่ำ”
ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่มีระบบสอบเทียบความเข้มข้นกัมมันตภาพของเรดอน และให้บริการตรวจวัดปริมาณเรดอนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
“อีกวิธีที่สามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอน ณ เวลานั้นได้เลย คือ การตรวจวัดด้วยเครื่อง RAD7 ซึ่งจะต้องทำการดูดอากาศเข้ามาที่ตัวเครื่อง เครื่องจะบอกปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนได้ทันที สำหรับเครื่อง RAD7 นอกจากจะสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนในอากาศได้แล้ว ยังสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนในตัวอย่างน้ำได้อีกด้วย น้ำที่พบว่ามีปริมาณก๊าซเรดอนสูงมักจะเป็นน้ำที่มาจากใต้ดิน เช่น น้ำบาดาล และ น้ำพุร้อน”
ก๊าซเรดอนมีอันตรายมากก็จริง แต่เมื่อเรารู้จักธรรมชาติของก๊าซนี้ ก็พอมีวิธีป้องกันได้ ซึ่ง รศ.นเรศร์ ได้ให้แนวทางไว้ ดังนี้
ถ้าเราอาศัยอยู่ในบริเวณที่ระบบอากาศเปิด ก๊าซเรดอนจะระบายและเจือจางออกไปเอง ผู้ที่ทำงานอยู่ในที่โล่งจึงไม่ต้องกังวล ส่วนผู้ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในอาคาร ควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศอยู่เป็นประจำ
สำหรับห้องที่ปิดมิดชิดไว้นาน ก่อนเข้าไปควรเปิดระบบระบายอากาศก่อนและไม่ควรเข้าไปในห้องทันที ในพื้นที่แคบๆ ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี หรือ ควรติดตั้งระบบระบายอาศ ตัวอย่างในประเทศทางยุโรป มีกฎหมายให้ทุกบ้านต้องทำระบบระบายอากาศ โดยเฉพาะห้องใต้ดิน เพราะเป็นห้องที่จะได้รับก๊าซเรดอนจากพื้นดินทุกด้าน ส่วนชั้นที่สูงขึ้นปริมาณก๊าซเรดอนจะต่ำลง
ก๊าซเรดอนสามารถซึมผ่านตามรอยแตกของบ้าน จึงต้องปิดรอยต่อรอยแตกให้มิดชิด พื้นต้องผนึกหรืออัดให้แน่นแม้จะเป็นคอนกรีต เทคอนกรีตทับรอยร้าว ส่วนผนังของบ้าน โอกาสที่ก๊าซเรดอนจะซึมผ่านเข้ามามีเปอร์เซ็นต์น้อย เพราะมีสีทาบ้านที่ปัจจุบันหลายผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติกันความร้อนและกันน้ำได้ดี
เครื่องฟอกอากาศที่มีถ่านกัมมันต์ (Charcoal) จะช่วยจับไอระเหยและก๊าซเรดอนได้ ถ้าจะเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศจึงควรเลือกแบบที่มีถ่านกัมมันต์และแผ่นกรองชนิดคุณภาพสูง (High Efficiency Particulate Air Filter; HEPA)
รศ.นเรศร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่อยากให้ตื่นกลัวเรื่องก๊าซแรดอนมากเกินไป ก๊าซแรดอนเป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด แต่การเกิดมะเร็งในปอดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การได้รับสารเคมีอันตรายชนิดอื่นๆ การสูบบุหรี่ และความทนทานหรือการปรับตัวได้ของเซลล์ร่างการของเรา ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเซลล์มะเร็งแอบแฝงอยู่แล้วขึ้นกับว่าเราดูแลมากน้อยขนาดไหน”
“ถ้าบ้านไหนมีคนเป็นมะเร็งปอด และอยู่ห้องชั้นล่างหรือห้องใต้ดิน อยู่ในที่อับอากาศ อากาศไม่ถ่ายเท และเปิดแอร์ทั้งวัน อาจจะให้หน่วยงานเข้าไปวัดค่าก๊าซเรดอนที่บ้าน โดยภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีเครื่องมือและเทคนิคการวัดปริมาณก๊าซเรดอนแบบครบวงจร พร้อมที่จะเข้าไปช่วยอธิบาย และเข้าไปช่วยวัดหาปริมาณก๊าซเรดอน เพื่อสุขภาพอนามัยของทุกคน”
ติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือ Email: nutech.chula@gmail.com
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้