รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 กุมภาพันธ์ 2566
ผู้เขียน ภัทรพร รักเปี่ยม
ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา AICute นวัตกรรรมตรวจประเมินโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ มุ่งช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์
ในแต่ละปี คนไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หลายคนเสียชีวิตและอีกจำนวนมากต้องพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็ใช่ว่าจะตรวจประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ได้
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยตรวจประเมินโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในลำดับแรก ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตรวจประเมินความเป็นไปได้ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ โดยให้ชื่อว่า “AICute” ซึ่งทีมวิจัยหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ
ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกกันว่า Stroke ราว 250,000 คนต่อปี หรือกล่าวได้ว่าในทุก ๆ 2 นาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 1 คน! ในจำนวนนี้ 30% อาจเสียชีวิต อีก 30% พิการรุนแรง ขยับแขนขาไม่ได้ ปากเบี้ยว ส่วนผู้ป่วยอีก 40% มีโอกาสกลับคืนสู่สภาพปกติหรือมีอาการของโรคเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย
แม้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 50-60 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด รับประทานอาหารไม่สมดุล และมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคนอนกรน และโรคหัวใจ
แม้โรคหลอดเลือดสมองจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากรู้สาเหตุที่ก่อโรค และเข้ารับการรักษาได้เร็ว โอกาสหายจากโรคก็มีสูงและลดการเกิดโรคซ้ำได้
“การหาสาเหตุของโรคสำคัญต่อการให้แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากไม่หาสาเหตุ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ซ้ำ และเมื่อเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 โอกาสที่จะพิการก็มากขึ้น ทำให้ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นภาระของผู้ดูแลและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็เพิ่มขึ้นด้วย” อ.นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าว
โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ (อ่านเพิ่มเติมใน information box) ซึ่งแต่ละสาเหตุก็มีแนวทางการรักษาต่างกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่า 18% ของโรคหลอดเลือดสมองมาจากโรคหัวใจ
“ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และชนิดลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือภาวะหัวใจโต ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ และลอยไปอุดตันที่สมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้”
อ.นพ.วสันต์ อธิบายว่าในการหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากโรคหัวใจนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจหัวใจอย่างละเอียดและอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังขาดแคลนในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล
“โรงพยาบาลดังกล่าวคงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปตรวจหาโรคหัวใจโดยละเอียดได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งการส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ก็จะทำให้เกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหัวใจก่อนเป็นอันดับแรก” อ.นพ. วสันต์ หนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม AICute กล่าว พร้อมอธิบายความหมายของชื่อนวัตกรรม AICute ว่า “หากพูดเร็ว ๆ เสียงของ AICute จะคล้ายกับคำว่า acute ซึ่งหมายถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดของโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบรับการรักษา”
นอกจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว นวัตกรรม AICute เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาฯ (Chula UTC)
AICute เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจ ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดเล็ก สามารถตัดสินใจและเลือกส่งผู้ป่วยตรวจหัวใจได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ.นพ.วสันต์ อธิบายถึงการใช้งาน AICute ว่า “แพทย์ผู้ใช้อุปกรณ์เพียงล็อกอินผ่านเว็บแอปพลิเคชัน และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ เป็นข้อมูลหลัก ๆ 2 อย่าง คือ อาการของผู้ป่วยกับประวัติบางส่วน และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง จำนวน 30-32 รูป ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะมีเครื่องมือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอยู่แล้ว จากนั้นตัวแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาประมวลผล ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แล้วสรุปออกมาเป็นรายงานว่าผู้ป่วยมีความเป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ หลังจากนั้น แพทย์ผู้ใช้งานจะอ่านผลและตัดสินใจว่าจะส่งผู้ป่วยตรวจทางหัวใจต่อหรือไม่”
อ.นพ.วสันต์ กล่าวว่า AICute มีความแม่นยำในการประมวลผลและตรวจพบความผิดปกติอยู่ที่ 92-94% โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูงในการประมวลผลกว่า 40,000 ภาพ
อ.นพ.วสันต์ เผยว่าปัจจุบัน AICute ยังอยู่ในเฟสของงานวิจัยและได้เริ่มทดลองใช้งานแล้วภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งได้ผลตอบรับดี เป็นที่น่าพอใจ
“ทางทีมวิจัยมีแผนว่าจะวิจัยต่อในกลุ่มคนไข้จริงเป็นกลุ่มใหญ่และเก็บข้อมูลนอกโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อปรับปรุง AI ให้ดีขึ้น อีกทั้งพัฒนา interface ให้ใช้งานง่าย สวยงาม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ (2566) และเปิดให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจได้ใช้งานและพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยในระยะยาวจะออกเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน”
ในอนาคต ทีมวิจัยยังมีแผนการพัฒนา AI เพื่อตรวจหาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มฐานข้อมูลภาพการเอกซเรย์หลอดเลือด และการฉีดสี เพื่อใช้ในการประมวลผลต่อไป
โรงพยาบาลที่สนใจ AICute สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารภูมิสิริ ชั้น 7 โซน Cหรือโทร. 02 256 4000 ต่อ 80724-5
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้