ข่าวสารจุฬาฯ

นวัตกรจากสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ชนะเลิศการแข่งขันประกวดออกแบบนวัตกรรม “CUD Hackathon 2023” นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี

นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ทีม Narcolepsycue โชว์สุดยอดไอเดียออกแบบนวัตกรรมประเภท Application & Product “แก้ไขปัญหาการหลับในบนท้องถนน” คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันประกวดนวัตกรรมในงาน “CUD Hackathon 2023” นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยที่ไม่เป็นสองรองใคร  

การแข่งขันและประกวดออกแบบนวัตกรรมที่ท้าทาย “CUD Hackathon 2023” จัดเป็นครั้งแรกโดยโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ กว่า 150 ทีมทั่วประเทศ มี 29 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 28 – วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการแข่งขัน รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ อ.พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม กล่าวต้อนรับผู้เข้าแข่งขัน ร่วมด้วย อ.วราเดช กัลยาณมิตร ประธานจัดการแข่งขัน คุณกนิษฐ์ สารสิน นายกสมาคมนักเรียนเก่าสาธิตจุฬาฯ คุณกำพล โชติปทุมวรรณ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอล มีเดีย จำกัด ร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน


ในงานมีกิจกรรม Workshop การเสวนา และการบรรยายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ “การออกแบบพัฒนานวัตกรรมที่คำนึงถึงหลักความยั่งยืน” โดย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ “แนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้ใช้และ SDG3” โดย คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอล มีเดีย จำกัด และ ผศ.ดร.อุบลวรรณ หงส์วิทยากร คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  “การพัฒนาโมเดลเชิงธุรกิจ” โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ “การออกแบบพัฒนาแอปพลิเคชัน AI และ IoT ให้เข้าถึงผู้ใช้ด้วยแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ อาษาเฟรมเวิร์ค” โดย รศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “การพิชชิ่งเพื่อนำเสนอนวัตกรรม” โดย ผศ.ดร.ปอรรัชม์ ยอดเณร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ “Medical Innovation นวัตกรรมการแพทย์ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย” โดย รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดการแข่งขัน กล่าวว่า “นวัตกรรมคือการนำความคิดพัฒนาเป็นคำตอบและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ Stakeholders ความสำเร็จของนวัตกรรมต้องประกอบด้วยสามอย่างรวมกัน คือ People Desirable ผู้คนสามารถนำไปใช้ได้ Technology Flexible เทคโนโลยีต้องเป็นไปได้ และ Business Viable มีความเป็นไปได้ในแง่ธุรกิจ ซึ่งต้องครบทั้งสามมิติจึงจะประสบความสำเร็จ การจัดการแข่งขันนวัตกรรมในครั้งนี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการคิดคำตอบ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญในการแข่งขันคือการเข้าใจโจทย์  ตีโจทย์ให้แตก คิดเป็นกระบวนการ และเข้าใจผู้ใช้นวัตกรรม รู้สึกดีใจที่การแข่งขันครั้งนี้มีนักเรียนจากทั่วประเทศมารวมกันสร้างนวัตกรรม เป็นการร่วมมือและเปิดโลกทัศน์ให้ไกลขึ้น การแข่งขันในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ยาวไกลของทุกคน ผู้เข้าแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของประเทศเราในอนาคต”

อ.พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข

อ.พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการแข่งขันพัฒนานวัตกรรม “CUD Hackathon 2023” ว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนไปมากจากสถานการณ์โควิด-19 การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Innovation for good health & well-being) จึงเป็นเรื่องสำคัญ นักเรียนรุ่นใหม่มีไอเดียที่ดี สามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ถ้ามีเวทีให้ได้ออกทางความคิดและโชว์ศักยภาพ กิจกรรม “CUD Hackathon 2023” ซึ่งทางโรงเรียนจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นโอกาสดีที่นักเรียนและอาจารย์ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ต่อยอดความคิดในอนาคต เราไม่อาจรู้ว่าสภาวะวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และสิ้นสุดเมื่อใด การแข่งขันในครั้งนี้จึงจัดสถานการณ์ให้มีข้อจำกัดต่างๆ เป็นสิ่งที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหา เป็นการจำลองชีวิตจริงที่เกิดขึ้น”

ตลอดระยะเวลา 2 วันที่จัดการแข่งขัน นักเรียนทั้ง 29 ทีมได้ระดมความคิดเพื่อเรียนรู้จากการสนุกคิดและได้รับมิตรภาพที่ดีผ่านกิจกรรม Workshop การเสวนาและการบรรยายที่มีการบูรณาการเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรม เช่น IoT, AI, Robotics, Software on Devices หรือ Application Software ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนางาน จนเกิดเป็นนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

รางวัลชนะเลิศ

ผลการแข่งขัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Narcolepsycue จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ภายใต้ผลงานประเภท Application&Product “แก้ไขปัญหาการหลับในบนท้องถนน” สมาชิกในทีมประกอบด้วย น.ส.ปริณ จุลนวล  น.ส.ชุติรดา ศานติวรพงษ์ นายวีรวิน ไวฑูรเกียรติ และนายยสินทร ปุญญวานิช ได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมบัตรเข้าชมงาน Techsauce Global Summit 2023 และแพคเกจ LICENSE อาษาเฟรมเวิร์ค 1 ปี จากบริษัทอาษา โปรดักชั่น จำกัด มูลค่า USD 499.99

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม RECiSE  โรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากผลงาน “แอปพลิเคชันและอุปกรณ์ตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่องส่องดูตาเพื่อการตรวจสอบโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุด้วยปัญญาประดิษฐ์” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Hedthong  โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จากผลงาน “แอปพลิเคชันเพื่อสังคมผู้สูงอายุ…shine..sky”   

รางวัลชมเชยมี 3 ทีมได้แก่ ทีม Stand up โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง จากผลงาน “เครื่องช่วยลดการออกแรงบริเวณหัวเข่าที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อ” ทีม EIPCA โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากผลงาน “โปรแกรมเพื่อช่วยวิเคราะห์โรคหัวใจและหลอดเลือดผ่านกราฟของคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์” และทีม Wbrain โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จากผลงาน “การแก้ปัญหาโรคสมองเสื่อมและโรคสมาธิสั้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี”   

ปริณ จุลนวล ชุติรดา ศานติวรพงษ์ วีรวิน ไวฑูรเกียรติ และยสินทร ปุญญวานิช สมาชิกทีม Narcolepsycue  เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพื่อนๆ ในทีมร่วมมือร่วมใจกันเต็มที่ตลอดทั้งสองวันเพื่อแก้ไขโจทย์ที่กำหนดให้ กิจกรรมในครั้งนี้ได้ทั้งประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ช่วยพัฒนาให้เราเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการในการคิดออกแบบปัญหาที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นงานที่ประทับใจมาก ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ได้รับจากงานนี้

สำหรับนวัตกรรม “แก้ไขปัญหาการหลับในบนท้องถนน” เป็นอุปกรณ์ป้องกันการหลับในระหว่างการขับขี่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีกล้องรับภาพจากผู้ขับรถ ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์เพื่อตรวจจับการหลับใน เมื่อผู้ขับขี่กะพริบตาเกิน 6 ครั้งภายใน 3 วินาที หรือหลับตานานเกิน 3 วินาที ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แสดงว่ากำลังง่วง และอาจเสี่ยงเข้าสู่โหมดหลับใน เครื่องจะส่งสัญญาณไปยังเครื่องพ่นสเปรย์กลิ่นวาซาบิให้ทำงานทันที โดยกลิ่นฉุนของวาซาบิจะทำให้ตื่นได้ ซึ่งสเปรย์วาซาบิเคยมีการใช้งานจริงในโรงแรมแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเพื่อปลุกคนให้ตื่นมาแล้ว จึงมีการนำมาพัฒนาร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด หากเครื่องตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่ยังไม่ตื่น ทาง Line Official จะส่งแผนที่ร้านกาแฟที่ใกล้ที่สุดให้ และส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ใกล้ชิดให้รับทราบ

ในอนาคตน้องๆ ทีม Narcolepsycue จะพัฒนาสเปรย์กลิ่นวาซาบิเพื่อให้ได้กลิ่นที่หอมขึ้น แต่ยังคงประสิทธิภาพเรื่องการกระตุ้นให้ตื่นได้ รวมทั้งจะทดลองกลิ่นอื่นๆ นอกเหนือจากกลิ่นวาซาบิ และพัฒนาไปสู่การใช้งานในสถานการณ์อื่นๆ เช่น การอ่านหนังสือ รวมไปถึงการใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อเข้าสู่ผู้ใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า