ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ ต้อนรับนิสิตเก่าสู่รั้วจามจุรี งาน “น้องชวนพี่ ชมจุฬาฯ” ครั้งที่ 2

จุฬาฯ จัดโครงการ “น้องชวนพี่ ชมจุฬาฯ” ครั้งที่ 2 นำนิสิตเก่าชมความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ทั้งนวัตกรรมทางอาหารจากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมเยี่ยมชมหอสมุดดนตรีไทย และนิทรรศการศิลปะ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ

ศูนย์พัฒนกิจและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ จัดโครงการ Campus Tour for Alumni “น้องชวนพี่ ชมจุฬาฯ” ครั้งที่ 2 เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยและนิสิตเก่า โดยเชิญชวนนิสิตเก่าจุฬาฯ จำนวน 30 คนกลับมารำลึกความหลังในรั้วจามจุรี รับทราบข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย และสนับสนุนให้นิสิตเก่ามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น

โครงการ Campus Tour for Alumni  “น้องชวนพี่ ชมจุฬาฯ” ครั้งที่ 2  เริ่มต้นที่นิสิตเก่านำดอกกุหลาบสีชมพูร่วมถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และร้องเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ร่วมกัน จากนั้นนิสิตเก่าและสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ชั้น 8 อาคารมหาวชิรุณหิศ ชมและชิม “ขนมชั้นแห่งอนาคต” นวัตกรรมทางอาหารจากอาจารย์และนิสิตของภาควิชาฯ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Future Food For Sustainability 2022 นอกจากนี้ รศ.ดร.ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยนักวิจัยและนิสิตในภาควิชา ได้นำเสนอความสำเร็จจากผลงานนวัตกรรมทางอาหารอื่นๆ อาทิ บัวบอมบ์ (Buabomb) บอลกลิ่นรสกะทิ ซึ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดแนวคิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร Cupcara แก้วบริโภคได้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขัน TSX Youth Award Program 2022  เป็นต้น

 “ขนมชั้นแห่งอนาคต” มีจุดเด่นคือลดน้ำตาลลง 40% จากสูตรเดิม โดยไม่ต้องใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล  เทคนิคที่ใช้คือการปรับโครงสร้างขนมให้มีชั้นหวานสลับชั้นจืด และอาศัยความหวานตกค้าง (sweet aftertaste) จากชั้นหวาน  ทำให้ลิ้นยังคงรับรสหวานได้ดังเดิม นอกจากนี้ยังเสริมใยอาหารกลุ่มพรีไบโอติก (prebiotic) ในเนื้อขนมเสริมจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์พิเศษในครัมเบิ้ลมะพร้าว และเสริมโปรตีนมะพร้าวในซอสมะพร้าวเข้มข้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสรรค์สร้างรูปลักษณ์ของขนมชั้นให้สวยงามสะดุดตา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากดอกบัวในสระโบกขรณีจากวรรณคดีไทย รวมถึงยังมีกลิ่นรส รสชาติและเนื้อสัมผัสที่อร่อยและหลากหลายในจานเดียว เริ่มตั้งแต่เนื้อขนมชั้นที่นุ่มหนึบ หอมกลิ่นน้ำตาลสด เสริมด้วยซอสมะพร้าวเข้มข้นรสเค็ม-หวาน และครัมเบิ้ลมะพร้าวที่กรุบกรอบและหอมมันคล้ายมะพร้าวคั่ว ซึ่งเข้ากันได้อย่างลงตัว และยังคงเอกลักษณ์ของขนมไทยได้อย่างครบถ้วน สีชมพูของดอกบัวได้มาจากสารสกัดของเปลือกผลแก้วมังกร ส่วนครัมเบิ้ลมะพร้าวถูกเตรียมจาก ผลพลอยได้จากการเคี่ยวหัวกะทิให้แตกมัน จึงเป็นการนำ food waste มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยิ่งไปกว่านั้น ขนมชั้นแห่งอนาคตนี้ยังใช้วัตถุดิบจากพืชทั้งหมด (plant-based raw materials) ซึ่งเป็นการลดการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งใช้วัตถุดิบหลักซึ่งผลิตในประเทศไทย จึงช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี

จากนั้นนิสิตเก่าและสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังอาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ เข้าเยี่ยมชมหอสมุดดนตรีไทย โดยมีคุณกรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ กล่าวต้อนรับและนำชม

 “หอสมุดดนตรีไทย”  จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ดนตรีไทยอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งแสดงความเป็นชาติ มีที่มาจากโครงการบันทึกข้อมูลเพลงไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2529 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการบันทึกข้อมูลจากนักดนตรีไทยฝีมือระดับครูผู้เชี่ยวชาญ โดยจัดเก็บอยู่ในสื่อต่างๆ อาทิ แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ ข้อมูลเพลงไทยทรงคุณค่าส่วนหนึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่โครงการ โดยสื่อต่างๆ ที่จัดเก็บไว้เมื่อเวลาผ่านไปคุณภาพของสื่อจะเสื่อมสภาพลง จึงเกิดเป็นโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลดนตรีและนาฏศิลป์ไทย โดยนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้สามารถอนุรักษ์ผลงานอันทรงคุณค่าด้านดนตรีไทยให้คงอยู่เป็นระยะเวลานาน

หอสมุดดนตรีไทย เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2549 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดส่วนบริการห้องสมุดดนตรีไทย ณ บริเวณชั้น 3 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ ต่อมาเมื่อปี 2554 สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ได้ใช้พื้นที่บริเวณชั้น 3 ของอาคารจัดตั้งหอสมุดดนตรีไทยให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ

หอสมุดดนตรีไทยเปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. การให้บริการในหอสมุดดนตรีไทยประกอบด้วย บริการสืบค้นและฟังเพลง โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลเสียงกว่า 16,000 เพลง ข้อมูลวีดิทัศน์มากกว่า 400 รายการ ข้อมูลภาพที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและนาฏศิลป์มากกว่า 6,000 ภาพ ข้อมูลบทร้องและข้อมูลประวัติศิลปิน นักดนตรี มีหนังสือและงานวิจัยทางดนตรีที่เกี่ยวข้องให้ค้นคว้ามากกว่า 1,500 เล่ม นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรี จัดแสดงเครื่องดนตรีไทยทรงคุณค่าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสร้างขึ้นเมื่อแรกเริ่มโครงการปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์เมื่อปี 2528 ส่วนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และส่วนชมสื่อวีดิทัศน์


จากนั้นนิสิตเก่าและสื่อมวลชนได้เข้าชมนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปิน “รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี สืบ สร้าง สอน” ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จัดโดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ร่วมกับสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานสำคัญของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) นิสิตเก่าและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในแวดวงสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้สร้างหลักสูตรสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทยขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมไทยไว้มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การบูรณะหอประชุมจุฬาฯ การสร้างเรือนไทยหมู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระอุโบสถที่วัดไทยลุมพินี มหาวิหาร ประเทศเนปาล การออกแบบเจดีย์จุฬามณีที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ เป็นต้น

นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปิน “รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี สืบ สร้าง สอน” จัดแสดง ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ตั้งแต่บัดนี้ – 3 มีนาคม 2566 จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.


ก่อนเดินทางกลับ นิสิตเก่าและสื่อมวลชนได้พบปะพูดคุยกับ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ และ อ.นพ.วรพล จรูญวณิชกุล ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิชาการ มาตรฐานหลักสูตร และนวัตกรรมหลักสูตร และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน สร้างความประทับใจในการกลับมาเยือนจุฬาฯ ในครั้งนี้

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ เปิดเผยว่า กิจกรรม “น้องชวนพี่ ชมจุฬาฯ” เกิดจากการที่พี่ๆ นิสิตเก่าชาวจุฬาฯ มีความรักความผูกพันกับนิสิตเก่าจุฬาฯ เป็นอย่างมาก ปัจจุบันจุฬาฯ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในหลายด้าน กิจกรรมครั้งนี้ทำให้นิสิตเก่าได้กลับมาสัมผัสบรรยากาศในจุฬาฯ ผลที่เกิดขึ้นคือการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งได้มีโอกาสเล่าสู่กันฟังในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับจุฬาฯ

“กิจกรรม “น้องชวนพี่ ชมจุฬาฯ” ครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดกิจกรรมนี้ต่อไป โดยจะสร้างทีมนิสิตให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมนี้เดือนละครั้ง นอกจากการมาเยี่ยมชมจุฬาฯ แล้ว ยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพี่เก่าและนิสิตรุ่นน้อง โดยให้นิสิตเก่าได้แบ่งปันประสบการณ์ดีๆ กับนิสิตรุ่นน้องผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งอาจเพิ่มกิจกรรมที่นิสิตรุ่นน้องบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้นิสิตเก่ารุ่นพี่ฟังมากขึ้น” ผศ.ดร.เอกก์ กล่าว

           

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า