ข่าวสารจุฬาฯ

สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ พัฒนาแนวทางแปรรูปผลโกโก้สด นำร่องที่ จ.น่าน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในท้องถิ่น

ปัจจุบันตลาดโกโก้ไทยกำลังเป็นที่น่าจับตามอง ความต้องการเมล็ดโกโก้แห้งในประเทศยังมีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การแปรรูปผลโกโก้สดเป็นเมล็ดโกโก้แห้งโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นยังประสบปัญหาในเรื่องการจำหน่าย เนื่องจากเมล็ดโกโก้แห้งไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานการรับซื้อของตลาด  ทำให้โรงงานและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องนำเข้าเมล็ดโกโก้แห้งจากต่างประเทศ 

คณาจารย์นักวิจัยจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ  ได้ดำเนินโครงการวิจัยโครงการการพัฒนาธุรกิจกลางน้ำในระบบนิเวศทางธุรกิจโกโก้ จ.น่าน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีองค์ความรู้ในการแปรรูปโกโก้จากโกโก้ผลสดเป็นเมล็ดโกโก้แห้งที่มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาด และพัฒนามาตรฐานกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เมล็ดโกโก้แห้ง  โครงการวิจัยนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาและยกระดับธุรกิจเมล็ดโกโก้แห้งในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยวางเป้าหมายให้เกิด ผู้ประกอบการท้องถิ่นจำนวนอย่างน้อย 2 แห่งใน จ.น่านที่มีผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้งตามความต้องการของผู้รับซื้อ ตลอดจนเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาต้นแบบกระบวนการแปรรูปเมล็ดโกโก้แห้ง เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นรายอื่นใน จ.น่าน รวมทั้งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั้งทางด้านการเงิน การตลาดและผลิตภัณฑ์ 

ปัจจุบันโครงการวิจัยอยู่ในระหว่างการสร้างชุดองค์ความรู้ในการแปรรูปเมล็ดโกโก้ขั้นต้นที่เหมาะสมต่อบริบทของพื้นที่ของผู้ประกอบการท้องถิ่นเป้าหมาย และขั้นตอนการลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพด้านกลิ่น รส และความปลอดภัยของเมล็ดโกโก้แห้ง   และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้รับซื้อ โดยในส่วนของผู้รับซื้อ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการแนะนำและถ่ายทอดเทคนิคกระบวนการในการแปรรูป การประเมินคุณภาพของเมล็ดโกโก้แห้งที่ผลิตขึ้น ตลอดจนรับซื้อผลผลิตที่พัฒนาขึ้นมาอีกด้วย

ผศ.ดร.พิมพ์พินันท์ สมทรง อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยว่า แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการปลูกโกโก้มานานแล้ว แต่การปลูกยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีดูแลจัดการ รวมถึงในเรื่องของการตลาด จึงได้มีการพัฒนาแผนงานวิจัยการยกระดับห่วงโซ่อุปทานโกโก้ในพื้นที่ จ.น่าน  ซึ่งมีโครงการย่อยเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและธุรกิจ การดูแลจัดการในแปลงปลูกโกโก้ของเกษตรกร และการพัฒนาธุรกิจกลางน้ำซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการแปรรูปขั้นต้น ได้แก่ การหมักและตากโกโก้ เพื่อให้เป็นเมล็ดโกโก้แห้ง โดยให้เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วม 

“ในธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเมล็ดโกโก้แห้งมาทำเป็นช็อกโกแลต ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจกลางน้ำ หรือการแปรรูปขั้นต้นโดยนำเมล็ดโกโก้สดมาทำเป็นโกโก้แห้งยังมีผู้ประกอบการค่อนข้างน้อย ส่วนธุรกิจต้นน้ำคือเกษตรกรซึ่งปลูกโกโก้นั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก” ผศ.ดร.พิมพ์พินันท์ ให้ข้อมูล

การส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นในจังหวัดน่านมีความรู้เรื่องการแปรรูปโกโก้จะมีส่วนทำให้ตลาดโกโก้ของไทยมีปริมาณโกโก้แห้งที่ผู้ผลิตนำออกจำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์โกโก้  สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ มีคณาจารย์ที่ปฏิบัติงานและนิสิตที่เรียนอยู่ในพื้นที่ จ.น่าน  จึงได้มีการลงพื้นที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการแปรรูปโกโก้ให้เป็นเมล็ดโกโก้แห้งแก่ผู้ประกอบการ   ท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สามารถเก็บรักษาได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ช็อกโกแลต เพื่อนำไปจำหน่ายได้ 

“โครงการวิจัยนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัย ชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหาแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ ของภาคการเกษตรได้เกิดการพัฒนา รวมถึงการกระจายรายได้ดีขึ้นอีกด้วย” ผศ.ดร.พิมพ์พินันท์ กล่าว 

ทั้งนี้ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตคราฟต์ช็อกโกแลต หรือการผลิตช็อกโกแลตจากเมล็ดโกโก้แก่ผู้สนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้  ส่งเสริมและผลักดันการผลิตและส่งออกโกโก้ โดยภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้รับซื้อผลผลิตโกโก้แห้งไปขายต่อและมีความรู้เรื่องความต้องการของตลาด เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาโกโก้ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตทั้งผลโกโก้สดและนำมาแปรรูปเป็นเมล็ดโกโก้แห้งที่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ 

สำหรับแผนงานวิจัยที่จะทำต่อไปในอนาคต ผศ.ดร.พิมพ์พินันท์กล่าวว่าจะทำให้การหมักและการตากเมล็ดโกโก้แห้งได้คุณภาพที่สม่ำเสมอในแต่ละรอบของการแปรรูป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อผลผลิต รวมถึงการจัดระดับคุณภาพของผลโกโก้สดและเมล็ดโกโก้แห้ง นอกจากนี้จะมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่จังหวัดอื่นๆ นอกจากจังหวัดน่านต่อไป

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า