ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ แถลงความก้าวหน้านวัตกรรม “เซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell” โอกาสใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งของไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 17 เรื่อง “ความก้าวหน้านวัตกรรม เซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell: โอกาสใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งของไทย” เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ โชว์ผลสำเร็จการวิจัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชาวไทยด้วย CAR-T cell การจัดตั้งสถานที่ผลิตเซลล์ภายในโรงพยาบาลได้รับการรับรองแห่งแรกในประเทศและนวัตกรรมการผลิต CAR-T cell ที่ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 10 เท่า โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น

พิธีเปิดการเสวนาโดย ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้น Prof. Seiichi Matsuo, MD, PhD อธิการบดี Tokai National Higher Education and Research System มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ Prof. Hiroshi Kimura, MD, PhD คณบดี School of Medicine มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงความร่วมมือกันในการพัฒนางานวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ซึ่งช่วยให้การวิจัยดำเนินไปอย่างก้าวกระโดดและประสบความสำเร็จในที่สุด เป็นพื้นฐานไปสู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต


Chula Impact17_CAR-T cell_Koramit Suppipat, MD-27827

นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่านวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell เป็นวิธีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยการนำเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ของผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรมให้จำเพาะกับเซลล์มะเร็งและเพิ่มจำนวนให้มากพอภายนอกร่างกาย ซึ่งจะทำในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษ จากนั้นจะฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งนวัตกรรม CAR-T cell นี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 50-80% สำหรับการรักษามะเร็งทางระบบเลือดในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆแล้ว ทำให้นวัตกรรมนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งทางระบบเลือดแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายเชิงพาณิชย์สูงถึง 15 – 20 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย

Chula Impact17_CAR-T cell_affordable-method

ทางกลุ่มวิจัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เกิดขึ้นจริงในไทย เริ่มจากการจัดตั้งศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัดที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งนับเป็นสถานที่ผลิตเซลล์ภายในสถานพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ภญ.ดร สุพรรณิการ์ ถวิลหวัง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงพันธุกรรมของทีเซลล์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจาก อย. และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบคุณภาพสำหรับควบคุมการผลิต เพื่อการผลิต CAR-T cell ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากลขึ้นได้เองในไทย

การผลิต CAR-T cell โดยอาศัยพาหะไวรัส (viral vector) ในการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้ในมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ CAR-T cell มีต้นทุนสูงมาก ทางกลุ่มวิจัยจึงได้ร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังศึกษาวิจัยการผลิต CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัส เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป จนประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการและทดสอบการผลิต CAR-T cell แบบที่ไม่ใช้ไวรัสจากเลือดของผู้ป่วยอาสาสมัครชาวไทย โดยมีต้นทุนการผลิตลดลงถึง 10 เท่า นำไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยทางคลินิกต่อไป


Chula Impact17_CAR-T cell_Prof. Yoshiyuki Takahashi, MD,PhD-27825

Prof. Yoshiyuki Takahashi, MD, PhD หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าทีมวิจัยของนาโกย่าได้พัฒนาวิธีการผลิต CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัสเป็นพาหะในการดัดแปลงพันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยี piggyBac transposon เป็นพาหะ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้ไวรัสมาก

เมื่อปี 2561 มหาวิทยาลัยนาโกย่า ได้ทำข้อตกลงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและรักษามะเร็งด้วย CAR-T cell ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยการสนับสนุน piggyBac Transposon สำหรับการผลิต CAR-T cell เพื่อดำเนินการทำวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในขณะนี้การวิจัยทางคลินิกในไทยยังคงเดินหน้าต่อไป และมีความปลอดภัยในการใช้รักษาผู้ป่วย

Chula Impact17_CAR-T cell_non-viral_CAR-production

ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้เริ่มดำเนินการวิจัยทางคลินิกด้วยนวัตกรรม CAR-T cell ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ในเบื้องต้นได้ผลดีมาก และกำลังจะเริ่มงานวิจัยทางคลินิกในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีการกลับมาเป็นซ้ำหรือดื้อต่อการรักษา นำโดยมหาวิทยาลัยนาโกย่าร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฮอกไกโด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกียวโต โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคิวชู โรงพยาบาลศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม CAR-T cell ให้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้มีผู้ป่วยเข้าถึงนวัตกรรมนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“นวัตกรรม CAR-T cell โดยใช้เทคโนโลยี PiggyBac transposon เป็นพาหะนี้ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุในการเข้ารับการรักษา ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบจนถึงผู้สูงวัยก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในการรักษาโรคมะเร็งได้หากคนไข้มีคุณสมบัติของร่างกายที่ผ่านเกณฑ์ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ นอกจากนี้ในอนาคตทีมวิจัยยังวางแผนที่จะใช้นวัตกรรม CAR-T cell โดยใช้เทคโนโลยี PiggyBac transposon เป็นพาหะนี้ ต่อยอดการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง พัฒนาสู่การรักษามะเร็งชนิดเป็นก้อน เช่น เนื้องอกในสมอง (Brain Tumors) มะเร็งเนื้อเยื่อระบบประสาท (Neuroblastoma) ที่มักพบบ่อยในเด็ก และมะเร็งกระดูก”  Prof. Yoshiyuki Takahashi ให้ข้อมูลถึงแผนงานวิจัยเกี่ยวกับ CAR-T cell


Chula Impact17_CAR-T cell_Asst. Prof. Udomsak Bunworasate, MD-27833

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการถ่ายทอดความรู้วิธีการผลิต CAR-T cell ที่ไม่ใช้ไวรัสเป็นพาหะในการดัดแปลงพันธุกรรม โดยเทคโนโลยี PiggyBac transposon เป็นพาหะ ทำให้ต้นทุนลดต่ำลงกว่าการใช้ไวรัสมาก การวิจัยและรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรม CAR-T cell นี้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน เริ่มตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสม การแยกเก็บเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยการผลิต CAR-T cell จากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย การให้ยากดภูมิคุ้มกันก่อนการให้เซลล์การให้ CAR-T cell แก่ผู้ป่วย และการตรวจติดตามประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในผู้ป่วยหลังได้รับเซลล์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้งทีมสหสาขาวิชาขึ้น ประกอบไปด้วย ทีมแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและควบคุมคุณภาพ CAR-T cell ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคารเลือดทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและการปลูกถ่ายเซลล์ รวมถึงทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ระบบประสาท เวชบำบัดวิกฤติ และรังสีแพทย์ สำหรับรองรับการวิจัยและรักษามะเร็งด้วย CAR-T cell เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมนี้

Chula Impact17_CAR-T cell_1YearTreatment

ทีมวิจัยได้เริ่มการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 ในช่วงปลายปี 2563 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นของ CAR-T cell ในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ที่มีโรคกลับเป็นซ้ำและดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานอื่น ๆ แล้วจำนวน 5 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรม CAR-T cell ได้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับ CAR-T cell เข้าไปแล้วนั้น ผู้ป่วยมีการตอบสนองเบื้องต้นอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจและมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ใกล้เคียงกับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ CAR-T cell ที่ใช้กันอยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ในผู้ป่วยอาสาสมัครรายหนึ่งที่มีก้อนขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร และดื้อต่อการรักษามะเร็งทุกชนิดที่มีอยู่ เมื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้พบว่าเราสามารถควบคุมโรคไว้ได้ และทำให้ผู้ป่วยปราศจากโรคมาแล้วถึง 1 ปีหลังจากที่ได้รับ CAR-T cell เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“งานวิจัยทางคลินิกที่ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทำอยู่ในปัจุบัน ได้ขอให้ทางคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเริ่มทำวิจัยในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด Diffuse Large B – Cell Lymphoma ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการตามปกติได้แล้วเกิดขึ้นในผู้ใหญ่อายุ 18 – 60 ปี และมีการประเมินประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยในผู้ใหญ่ หากได้ประสิทธิภาพที่ดีจะเริ่มใช้ในผู้ป่วยเด็กเป็นขั้นตอนต่อไป ส่วนสถานที่ผลิตในโรงพยาบาลสามารถผลิตได้ประมาณ 20 ตัวอย่างต่อปี เนื่องจากกำลังการผลิตไม่สูงมาก โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กำลังดำเนินโครงการต่อเนื่องในระยะที่สอง เพื่อขยายสถานที่ผลิตและห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพต่างๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในการรองรับผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีนี้ต่อไป” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

หลังจากนี้ทีมวิจัยตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยเพิ่มอีก 7 ราย รวมเป็น 12 ราย ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 หากผลเป็นที่น่าพอใจ เป้าหมายต่อไปคือการเปิดให้บริการการรักษาด้วย CAR-T cell ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ภายในสถานที่ผลิตในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสอง มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดผลสำเร็จในการพัฒนาการรักษาด้วยนวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็งให้เกิดขึ้นได้จริงแล้วในประเทศไทย ในอนาคตทางกลุ่มวิจัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีต้นทุนลดลง และสามารถใช้รักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ CAR-T cell ในการรักษามะเร็งชนิดอื่น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเนื่องจากนวัตกรรมนี้สามารถทำให้เซลล์รู้จักมะเร็งตัวอื่นได้โดยการดัดแปลงพัฒนาพันธุกรรมให้มุ่งเป้าไปที่มะเร็งอื่นๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้กับมะเร็งที่เป็นลักษณะก้อน เพราะมะเร็งรูปแบบนี้จะมีความซับซ้อนมากกว่า สิ่งแวดล้อมรอบเนื้อเยื้อก้อนมะเร็งจะขัดขวางการทำงานของ CAR-T cell จึงต้องพัฒนาให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อเอาชนะสิ่งแวดล้อมรอบๆ ก้อนมะเร็งได้

Chula Impact17_CAR-T cell-Cell&GeneTherapy-manufacturing-center

ทางกลุ่มวิจัยต้องขอขอบพระคุณทุกการสนับสนุนที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรม CAR-T cell เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ผู้ป่วยอาสาสมัครการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล (วช, สวรส, TCELS, สภาพัฒน์ฯ) ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน (TISCO, MK, SCG) รวมถึงการสนับสนุนจากภาคประชาชนผ่านกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง จุฬาฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงสำหรับการพัฒนาการรักษาด้วยเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัดชนิดใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ค่าใช้จ่ายในการใช้รักษาลดลงมากกว่า 10 เท่า โดยช่วงแรกจะให้บริการสำหรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยก่อน เมื่อผลเป็นไปตามเป้าหมายแล้วจะนำเสนอข้อมูลและกรณีศึกษาเสนอรัฐพิจารณาการครอบคลุมสิทธิ์การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีต่างๆ ต่อไป


ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยรักษามะเร็ง ด้วยการเลือกบริจาคให้กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ (ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) ผ่านระบบ CU Giving ดังลิงก์ที่แนบมานี้

https://www.chula.ac.th/about/giving/giving-application-form/

บริจาคด้วยตนเองได้ที่ ศาลาทินทัต หรือตึกวชิรญาณวงศ์ ชั้นล่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยระบุว่าบริจาคโดยตรงเข้ากองทุน “เงินบริจาคเพื่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (รหัสทุน 25010117)”

หรือบริจาคผ่าน E-donation ข้อมูลการบริจาคของท่านจะส่งตรงไปยังกรมสรรพากรทันที โดยไม่ต้องขอรับใบเสร็จ เพียงใช้แอปพลิเคชันของธนาคารสแกน QR-Code และกดยินยอมให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลแก่กรมสรรพากรโดยผู้ที่ยื่นภาษีออนไลน์สามารถตรวจสอบสถานะการบริจาคได้ภายใน 5 – 7 วัน หลังทำรายการที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ดังลิงก์ที่แนบมานี้ https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/portal/for-donor

Chula Impact17_CAR-T cell_cooperation-organized


จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า