ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ สร้างแนวทางใหม่ลดความเสี่ยงสุขภาพประชาคมจุฬาฯ สนับสนุนบทบาทมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ

Banner_Health-Risks-TUN-HPN_Dr.Narin

“ความยั่งยืนด้านสุขภาวะ” เป็นหนึ่งใน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ด้วยผลงานอันโดดเด่นทางด้านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ สะท้อนความสำเร็จจากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบต่อสังคมสูง (SDGs Impact) โดย THE Impact Ranking ปี 2022 ซึ่งจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในประเทศไทย 3 ปีติดต่อกัน และขึ้นสู่ Top 16 ของโลกที่สร้าง Impact ต่อสังคมสูงที่สุด นอกจากนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัยยังได้รับการประเมินจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพแห่งอาเซียน (AUN-HPN) เป็น “มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับ 4 ดาว” ตามเกณฑ์ Healthy University Rating System (HURS) ซึ่งจุฬาฯ เป็นหนึ่งในสามมหาวิทยาลัยไทยที่ได้คะแนนในระดับดังกล่าวและเป็นอันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยไทยที่ได้รับ นอกจากนี้ ในปี 2566 จุฬาฯ ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานการประชุมวิชาการระดับชาติของเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) อีกด้วย

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาฯ

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาฯ ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ เป็นประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) เปิดเผยว่า จุฬาฯ ให้ความสำคัญในด้านสุขภาวะทางกายของประชาคมจุฬาฯ ตามระเบียบวิธีการสร้างเสริมสุขภาพของ HURS ที่มีดัชนีชี้วัดในปัจจัยหลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) แผนนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพที่ชัดเจน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดภัยให้เชื่อมโยงผลักดันสู่การเป็น Green University รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างเสริมสุขภาวะ 2) นโยบายความอดทนเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) จะต้องไม่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีในด้านสุขภาวะในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง รวมถึงต้องไม่มีอุบัติเหตุในรั้วมหาวิทยาลัย และ 3) นโยบายด้านสุขภาพโดยตรง ซึ่งปีนี้ จุฬาฯ จะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพกาย-ใจ-การตระหนักรู้ และการเข้าถึงความรู้ การรู้เท่าทันและการปฏิบัติตนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยที่จุฬาฯ จะไม่เน้นเพียงโรคใดโรคหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องมองในสุขภาวะแบบองค์รวม


 “ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เราจะมองไปที่โรคใดโรคหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องมองในภาพรวม”



“ภายในบ้านที่ชื่อ “จุฬาฯ” มหาวิทยาลัยจะต้องดูแลประชาคมจุฬาฯ ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น” ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าว จากข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของบุคลากรจุฬาฯ พบปัญหาใหญ่ในเรื่องของน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เมื่อดูตามเกณฑ์ดัชนีมวลกาย (BMI) ที่เหมาะสมแล้ว พบว่าเกือบ 70% ของกลุ่มบุคลากรจุฬาฯ จำนวนทั้งหมด 5,000 คน มีน้ำหนักเกินประมาณ 3,000 กิโลกรัม หรือคนละ 5.2 กิโลกรัม และเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนถึง 10% ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องติดตาม นอกจากนี้ยังมีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน ซึ่งมีภาวะที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตการทำงานของบุคลากรเอง เช่น นั่งอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานาน ๆ ในท่าเดิม และขยับเขยื้อนร่างกายน้อย หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอ้วน และอาจจะนำไปสู่โรค “ออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งมีประมาณ 30% ของบุคลากรทั้งหมด จะมีอาการปวดคอ นิ้วชา นิ้วล็อค ปวดไหล่ และปวดหลัง ซึ่งอาจจะลามไปสู่โรคทางสายตาด้วย หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดสภาวะทางจิตใจ ความเครียด อาการปวดหัวเรื้อรัง การนอนที่มีคุณภาพที่ไม่ดี ผู้ที่เป็นโรคจากการนอนไม่เต็มที่ คิดเป็น 40-50% ของประชาคมจุฬาฯ ทั้งหมด

“คนเรามักจะลืมว่าจริง ๆ แล้ว สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากพฤติกรรมการทำงานของเรา กรอบนโยบายหนึ่งของจุฬาฯ ที่จะดำเนินการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ให้ความสำคัญในเรื่อง Work Life Balance เน้นความสมดุลในชีวิตเป็นสำคัญ” ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าว

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะของบุคลากรจุฬาฯ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้อย่างเดียว แต่ต้องดำเนินการด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การปรับในเรื่องโภชนาการที่สร้างเสริมสุขภาพ  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักบริหารระบบกายภาพในการปรับปรุงโรงอาหาร และต้องได้รับความร่วมมือจากร้านค้าของโรงอาหารด้วย เพื่อให้อาหารมีทั้งความอร่อยและโภชนาการที่ดี มีการจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับการออกกำลังกายเพื่อให้บุคลากรออกกำลังกายมากขึ้น ทั้งนี้ จุฬาฯ กำลังวางแผนเชิญส่วนงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ มาดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกัน อาทิ เรื่องของอาหาร จะมีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เรื่องการออกกำลังกาย หน่วยงานหลักเป็นคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ เรื่องการป้องกันโรค รักษาโรค และกายภาพบำบัด จากคณะแพทยศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ส่วนสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จะรวบรวมข้อมูลเข้ามาเสริมเพื่อทำให้ประชาคมจุฬาฯ มีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยมหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายว่าน้ำหนักตัวของบุคลากรจุฬาฯ จะต้องลดลง ซึ่งความสำเร็จของโครงการจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนงานเพื่อสร้างกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาวะอย่างต่อเนื่องร่วมกัน

นอกจากปัญหาทางด้านสุขภาวะทางกายแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญในเรื่องสุขภาวะทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นกับนิสิต ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ข้อมูลจากการที่นิสิตเข้ามารับคำปรึกษาที่หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) และศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ พบว่าเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิต ป้องกันภาวะปัญหาทางด้านสุขภาพจิต รวมทั้งเยียวยาบำบัดให้กับนิสิต ซึ่งนิสิตบางส่วนอาจยังเข้าไม่ถึงการบริการจากส่วนกลาง หรือเลือกที่จะแก้ปัญหาเบื้องต้นกับเพื่อนภายในคณะ ดังนั้นจึงจำเป็นที่หน่วยงานส่วนกลางจะต้องร่วมมือกับคณะและส่วนงานต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงนิสิตให้มากที่สุด และร่วมให้ความคิดเห็น วางแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ เผยว่าจุฬาฯ มีแผนจะพัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อดูแลสุขภาพของประชาคมจุฬาฯ และขยายผลให้จุฬาฯ เป็นแม่แบบที่เผยแพร่สู่เครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วย ซึ่งถ้า   ทุกมหาวิทยาลัยมีฐานข้อมูลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมก็จะต่อยอดภาพรวมไปสู่การแก้ปัญหาด้านสุขภาพของประเทศไทยได้อย่างแม่นยำมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและขาดข้อมูลในเชิงลึกในหลายด้าน

จุดมุ่งหมายสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อให้เกิดการดูแลสุภาพอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ “การสร้างความตระหนัก” ซึ่งการรับรู้เพียงส่วนบุคคลไม่เพียงพอต่อการทำให้สังคมเกิดสุขภาพที่ดีร่วมกันได้ มหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าต้องมีนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่ชัดเจน จุฬาฯ กำลังหารือเพื่อให้เกิดการร่างนโยบายและให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อสุขภาวะประชาคม และต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเสริมสร้างสุขภาวะได้ อาทิ ให้มีสถานที่ออกกำลังกาย กิจกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้เกิดการรักษาสุขภาพ รวมทั้งการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมให้เป็น Green University โดยสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ กำลังดำเนินงานทั้งในส่วนของอาคารสถานที่ เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่น่าเดิน มีการระบายอากาศที่ดี และการจัดการปัญหา PM 2.5 ภายในรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดการคัดแยกขยะของ Chula Zero Waste และเรื่องโรงอาหาร เพื่อสร้างเสริมสุขภาพด้วยอาหารปลอดภัย ผ่านกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพ และให้ทุกคณะ หน่วยงานได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สร้างความตระหนักและทักษะในการดูแลสุขภาพ บุคลากรมีความรู้ในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงหน่วยงานที่จะให้คำแนะนำปรึกษาและดูแลในเรื่องสุขภาพเบื้องต้นได้ โดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ กำลังปรับบทบาทให้สอดคล้องกับนโยบายการป้องกันไว้ก่อน เปลี่ยนจากการรักษามาเป็นการสร้างเสริมสุขภาพให้มากขึ้น

“การป้องกันดีกว่าการรักษา อย่ารอให้ป่วยแล้วจึงไปหาแพทย์ เพราะอาจสายเกินไป เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เราต้องแสวงหาความรู้ให้มากขึ้นเพราะปัจจุบันแหล่งความรู้เพื่อสุขภาพมีมากมาย ประชาคมจุฬาฯ สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ในเบื้องต้นได้จากหน่วงงานส่งเสริมสุขภาพในจุฬาฯ มหาวิทยาลัยจะคอยสนับสนุนสิ่งแวดล้อม สถานที่ กิจกรรมหลายอย่างที่จะเอื้อให้ประชาคมจุฬาฯ มีสุขภาพที่ดีขึ้น ฝากติดตามกิจกรรมด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นภายในจุฬาฯ ของเราในปีนี้” ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าวในที่สุด


 “การป้องกันดีกว่าการรักษา เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน มหาวิทยาลัยจะคอยสนับสนุนสิ่งแวดล้อม สถานที่ กิจกรรมหลายอย่างที่จะเอื้อให้ประชาคมจุฬาฯ มีสุขภาพที่ดีขึ้น”



จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า