รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
11 กรกฎาคม 2561
ข่าวเด่น
เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 14 เรื่อง “วิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง จากหลากมิติ” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้จากนักวิชาการจุฬาฯ กรณีนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่รวม 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหลายภาคส่วน และได้รับความสนใจจากประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนแขนงต่างๆที่รายงานข่าวการกู้ภัยในครั้งนี้อย่างกว้างขวางในแง่มุมต่างๆ โดยมี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนา ดำเนินรายการโดย อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการธรณีพิบัติภัยว่า มีหลักการ 3 ประการคือ 1. องค์ความรู้นำการจัดการ ซึ่งเราเห็นแต่เบื้องหน้า แต่เบื้องหลังต้องวิเคราะห์ทุกด้านอย่างดีที่สุด มีหลักการวิชาการที่เหมาะสมที่สุดก่อนตัดสินใจ 2.สร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ต้องเข้าใจกระบวนการและสาเหตุจึงจะไปช่วยได้ จากนั้นจะเป็นบทเรียนในการสร้างระบบเตือนในอนาคตอีก 100 กว่าถ้ำในประเทศไทย และ 3. กำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับพิบัติภัยที่เกิดขึ้น เพื่อบริหารจัดการลดความเสี่ยงและจัดการช่วงวิกฤต
“กรณีถ้ำหลวงนี้กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก เพราะไม่เคยเกิดขึ้นและมีความยากลำบาก จนนักดำน้ำบอกว่าเหมือนการดำน้ำผ่านยอดเขาเอเวอร์เรสต์ การที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต้องบัญชาการและควบคุมคนกว่าหมื่นคนที่ลงไปในพื้นที่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งอาจเกิดความสับสนด้านข่าวสาร แต่ขอชื่นชมว่ามีการเปลี่ยนแปลงของการให้ข้อมูลข่าวสารจากช่วงภัยพิบัติในอดีต คือมีการให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการลงพื้นที่สำรวจมากขึ้น” ผศ.ดร.สมบัติ ระบุ
จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการจากทุกมหาวิทยาลัย 140 กว่าชีวิต ในการช่วยกันทำแผนที่ถ้ำหลวง ผศ.ดร.สมบัติ เผยว่า เราใช้แผนที่ของมาร์ติน เอลลิส นักสำรวจ เป็นหลักในการวางแผน เพราะไม่มีใครรู้ว่าถ้ำหน้าตาอย่างไร มีแต่ประสบการณ์การเล่าและคลิปวีดิโอ รวมทั้งศึกษากรณีคนติดถ้ำในต่างประเทศ เป็นลักษณะการทำงานแบบค้นคว้าและวิจัย เพื่อส่งเป็นข้อมูลให้ศูนย์อำนวยการฯ ใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยให้สามารถวางแผนในทางเลือกอื่นๆ ได้
ผศ.ดร.สมบัติ ยังได้ถอดบทเรียนในเชิงธรณีวิทยาว่า ถ้ำแต่ละแห่งมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ข้อมูลทุกอย่างจึงต้องมีความชัดเจน ต้องมีการวิเคราะห์ว่าฤดูไหนเที่ยวได้ ฤดูไหนอันตราย ถ้าน้ำมาจะเตือนคนอย่างไร ฯลฯ เป็นการให้ความรู้คนก่อนเข้าถ้ำ ต้องมีการเตรียมพร้อมรับทั้งช่วงก่อนและหลังภาวะวิกฤต เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะให้เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำอยู่แห่งเดียวไม่ได้ เพราะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบทั้งหมด จุฬาฯ หรือหน่วยงานและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต้องเข้าไปช่วยทำระบบด้วยกัน โดยระดมความคิดเห็นนำความรู้มาแบ่งปันกันเป็นทีมเวิร์ก
ด้าน ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะในด้านการทำงานของสื่อมวลชนว่า ข่าวถ้ำหลวงมีลักษณะเป็นข่าวร้อน (Breaking news) ข่าวมีความสมบูรณ์ในการเล่าเรื่อง มีความน่าติดตามและขายได้ รวมทั้งเป็นปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกจับตามอง จากการสืบค้นฐานข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ถ้ำหลวงพบว่า ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม มีกว่า 559,810 ข้อความ และ 165 ล้าน Engagement กระแสที่พีคสูงสุดในวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่พบตัวผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน โดยวันที่ 3 กรกฎาคม มี Engagement สูงสุดคือ 23 ล้าน Engagement
ด้านการรายงานข่าว พบว่าเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างๆ มีการผลิตเนื้อหาข่าวกว่า 7,921 เนื้อหา ผลจากการประมวลข่าวที่ได้รับการแชร์มากที่สุดสะท้อนสังคมไทยว่าแสวงหาฮีโร่ สืบค้นหาแพะ พูดถึงไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความมีน้ำใจ “การทำงานของสื่อในปัจจุบันมีความยาก เพราะต้องแข่งกับสื่อโซเชียลที่มีการเผยแพร่ข่าวที่รวดเร็ว ยิ่งเป็นข่าวปลอมจะยิ่งไปเร็วกว่าข่าวแก้ ในช่วงวิกฤติ สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจให้แก่สังคม รวมถึงให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาสื่อไทยทำข่าวแบบเหตุการณ์เฉพาะหน้า รายงานว่าเกิดอะไรขึ้น จึงอยากจะตั้งคำถามกับสื่อว่าเราอยากทำหน้าที่เพียงแค่เป็นกระจกสะท้อนสังคม หรือจะเป็นตะเกียงที่ส่องทางให้สังคม”
ผศ.พิจิตรา ยังได้ยกตัวอย่างการทำงานของสื่อต่างประเทศ เช่น คลิปรายการของญี่ปุ่น ซึ่งในโซเชียลมีเดียมีการแชร์จำนวนมากจนติดอันดับว่า แม้เป็นเรื่องเดียวกันแต่พอร้อยเรียงกลับได้ภาพคนละมุมกัน ของไทยเราจะได้ความปีติ เร้าใจ เห็นใจ ด้านอารมณ์สูง ของญี่ปุ่นก็มีด้านอารมณ์ แต่การตัดต่อของเขาจะตอกย้ำคำขอบคุณจากผู้ประสบภัย ความเข้มแข็ง เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การทำงานเป็นทีม ไม่มีฮีโร่คนเดียว และที่สำคัญคือการหาทางเลือกเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด มีการทดลองให้เห็นภาพ ให้คนทางบ้านและกระแสสังคมเข้าใจเหตุการณ์ได้ เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
“ในฐานะนักข่าว เราเข้าใจว่าต้องการจะได้ข่าวที่เร็วที่สุด แต่อยากจะให้เห็นภาพว่าการที่ข่าวของญี่ปุ่นมี Engagement สูงมากในโลกโซเชียล หมายความว่าคนมีความกระหายที่จะได้ข่าวอย่างรอบด้าน โดยที่ไม่ต้องเร็วที่สุดก็ได้ สิ่งที่ผู้รับสารหลายคนอยากได้คือข่าวที่ครบ ไม่ดราม่า เล่าเป็นขั้นเป็นตอน และไม่หาแพะ ข่าวที่เร็วที่สุดจึงไม่ใช่ผู้ชนะในเกมนี้” ผศ.พิจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
สุดท้าย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวสรุปถึงประเด็นที่ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ควรจะนำไปใช้ในอนาคต เรื่องแรก ความเชื่อด้านไสยศาสตร์บางครั้งเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย แต่ครั้งนี้มีร่างทรงไปปรากฏตัวที่ถ้ำและทำพิธีกรรมต่างๆ บางคนทำให้เกิดกำลังใจก็เป็นเรื่องดี แต่มีกรณีที่บอกว่าเด็กแย่แล้วลำบากแล้ว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรและทำให้พ่อแม่เจ้าหน้าที่เสียกำลังใจ สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการภาวะวิกฤตช่วงแรกยังไม่ดีพอ ทำให้คนนอกเข้าไปได้ จึงเป็นบทเรียนว่าพอมีปัญหาต้องปิดพื้นที่ทันที
“เรื่องที่สอง เทคโนโลยีตาเทพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะเกิดจากความผิดพลาดด้านการสื่อสารของทีมข่าวที่บอกว่าสามารถใช้ดาวเทียมสแกนได้ว่าเด็กอยู่จุดไหนและจะไปขุดออกมาได้ ซึ่งไม่จริงโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่เราต้องพึงระวังเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการรอเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา และกลายเป็นว่าเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนเกมจริงๆ คือ เครื่องสูบน้ำพญานาค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไทยๆ จึงอย่าคาดหวังกับเทคโนโลยีไฮเทค เทคโนโลยี ที่เรามีอยู่ก็สามารถทำได้เพียงแต่ต้องวางแผนให้ดี” รศ.ดร.เจษฎา กล่าว
เรื่องที่สาม การช่วยเหลือคนที่อดอาหารมานาน ไม่สามารถให้อาหารปกติทันทีได้ เพราะจะอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้จากภาวะ Refeeding syndrome ต้องฟื้นฟู 4 – 5 วันก่อน และเรื่องสุดท้าย หลายคนในโซเชียลมองว่าเป็นเด็กซนที่เข้าไปในถ้ำในช่วงน้ำหลาก แต่ป้ายหน้าถ้ำห้ามเข้าช่วงเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน ซึ่งเด็กเข้าไปเดือนมิถุนายน จึงเป็นแค่นักท่องเที่ยวผู้ประสบภัย ประเด็นคือแนวคิดการห้ามเข้าช่วงเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายนมีมานานแล้ว แต่จริงๆ ปริมาณน้ำฝนในเชียงรายมีมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว พอมิถุนายนก็สะสมจนเป็นน้ำหลากลงมาในถ้ำได้ การแก้ไขป้ายเหล่านี้ในวนอุทยานที่คนทั่วไปสามารถเข้าได้จึงสำคัญมาก
จุฬาฯ จัดงาน “สยามานุสสติ ผสาน…ปณิธาน” การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมโดยนิสิตจุฬาฯ
นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Spark the Local 2024 by PTT
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เปิดอบรมหลักสูตร “เครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อม”
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ต้อนรับผู้แทนจาก Indiana University สหรัฐอเมริกา เจรจาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ
ศศินทร์จัด Open House แนะนำหลักสูตรต่างๆ วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567
30 พ.ย. 67 เวลา 10.00 น.
ศศินทร์ จุฬาฯ
เชิญฟังการบรรยาย Chula Lunch Talk หัวข้อ “Smart VET-Learning: นวัตกรรม AR สู่การศึกษาสัตวแพทย์ยุคดิจิทัล”
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้