ข่าวสารจุฬาฯ

CHULA HEALTHY DAYS รักกาย รักใจ 4 วัน 4 มุมเมืองจุฬาฯ งานมหกรรมสุขภาพเพื่อชาวจุฬาฯ ครั้งที่ 1 ที่อาคารจามจุรี 9

chula healthy day

“CHULA HEALTHY DAYS รักกาย รักใจ 4 วัน 4 มุมเมืองจุฬาฯ” งานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชาคมจุฬาฯ ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่โดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ร่วมกับคณะจิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะเภสัชศาสตร์ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ (SHECU) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ Chula Zero Waste และสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาฯ ส่งความสนุก สุขกาย สุขใจต่อเนื่องกับกิจกรรมครั้งแรกที่จัดขึ้นที่โถงชั้น 1 อาคารจามจุรี 9 เมื่อวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 เวลา 10.00 – 14.00 น.  


นายแพทย์สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ และสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาฯ ได้ให้บริการตรวจสุขภาพแก่บุคลากรจุฬาฯ โดยจัดบริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่บุคลากรจุฬาฯ เป็นปีที่ 2 จำนวน 8,000 กว่าคน และมีการต่อยอดให้คำปรึกษาแก่บุคลากรกลุ่มสีแดง โดยทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย งาน CHULA HEALTHY DAYS รักกาย รักใจ 4 วัน 4 มุมเมืองจุฬาฯ” มีจุดมุ่งหมายให้ประชาคมจุฬาฯได้เปิดมุมมองใหม่และสร้างมิติให้ทุกคนมารวมตัวกัน รวมทั้งคนที่อยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพตัวเองก็สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้

“ขอขอบคุณคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างมิติใหม่ด้านสุขภาพ ซึ่งภายในงานมีการสาธิตนวัตกรรมจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาฯ มากมาย ในปี 2566 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความภาคภูมิใจในการเป็นประธานมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพแห่งประเทศไทย (TUN-HPN) ด้วย” พี่หมอบาริด แห่งศูนย์บริการสุขภาพฯ จามจุรี 9 กล่าว



ผศ.ร.ต.ต.หญิง ดร.ปชาณัฏฐ์ นันไทยทวีกุล คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ มีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำแบบเป็นองค์รวม ในงาน CHULA HEALTHY DAYS : รักกาย รักใจ ณ จามจุรี 9 นี้ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้เข้ามาร่วมให้คำปรึกษาแก่ประชาคมจุฬาฯ และนำเสนอ ‘3-H Health (Triple-H Health)’* ซึ่งเป็น Application ในการติดตาม ให้คำปรึกษา และส่งเสริมการปรับพฤติกรรมตนเองของผู้ที่มีภาวะกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยง รวมทั้งกลุ่มรักสุขภาพที่อยากจะป้องกันตนเองไม่ให้เกิดภาวะกลุ่มโรคนี้  

3-H Health ประกอบด้วย Help (การช่วยเหลือ) Hold (การคงซึ่งภาวะสุขภาพในบริบทที่เกิดโรค) และ Holistic (การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม) 3-H Health เปรียบเป็นเลขาส่วนตัวในการดูแลสุขภาพ ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อรู้ว่าป่วยเป็นโรค รวมถึงเมื่อได้รับยาจากโรงพยาบาลกลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน เพื่ออภิบาลผู้ป่วยไม่ให้โรคลุกลามและควบคุมโรคด้วยวิธีการปรับพฤติกรรม รวมทั้งผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรค ในแอปพลิเคชันจะมีความรู้อัปเดตตลอดโดยใช้เทคโนโลยี AI ผสานการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (Human Touch) ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาที่ตรงกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยร่วมดูแลสุขภาพกับคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ” ผศ.ร.ต.ต.หญิง ดร.ปชาณัฏฐ์ กล่าวเสริม


โครงการ 3-H Health (Triple-H Health) Application ได้รับการพัฒนาโดย ผศ.ร.ต.ต.หญิง ดร. ปชาณัฏฐ์ นันไทยทวีกุล และทีมงานจากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU SiHub) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและทดลองใช้ โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2566  ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ คุณภิญโญ เจริญสุข โทร. 08-1028-2670, คุณวชิรภรณ์ ชาติครบุรี โทร. 08-9985-4355



คุณอานนท์  คงสุนทรกิจกุล นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ เผยว่า“กิจกรรมในครั้งนี้ ศูนย์กีฬาฯ ได้นำเสนอสิทธิ์ประโยชน์ กิจกรรม บริการ และสถานที่ออกกำลังกายและการเล่นกีฬาสำหรับประชาคมจุฬาฯ สามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ภายใต้โครงการ “ชาวจุฬาฯสง่างาม” ทางศูนย์กีฬาฯ ได้นำกิจกรรมทดสอบทางกาย และกิจกรรมกีฬามาให้ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งสร้างความสนุกสนาน และฝึกความฟิตของสมรรถภาพร่างกาย เช่น เครื่องดึงกรรเชียงบก 200 เมตรภายใน 1 นาที เครื่องวัดแรงบีบมือ ดัมเบล เคตเทิลเบล ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาฝึกชาเลนจ์  ในส่วนของสถานที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬา ศูนย์กีฬาฯ มีให้เลือกอย่างหลากหลายทั้งกลางแจ้งและในร่ม รวมทั้งสนามวิ่งต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนบุคลากร นิสิตของจุฬาฯ เข้ามาใช้บริการ เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการแก่ทุกท่านเสมอ”



ดร.เกษิณี เกตุเลขา นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ กล่าวว่า “กิจกรรมในงานนี้เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรจุฬาฯ ที่สนใจ และผู้ที่อยากมาตรวจดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ในส่วนของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้คัดสรรนวัตกรรมงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารสุขภาพที่เป็น Future Food อย่างเช่นไข่เหลวจากพืช* (Plant-based egg) ที่ทำมาจากโปรตีนตระกูล ‘ถั่วเขียว’ เพื่อเพิ่มทางเลือกอาหารสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด หรือผู้ที่มีอาการแพ้อาหารบางชนิด ใช้เวลาในการประกอบอาหารเพียง 2 นาที นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ที่ทางศูนย์ฯ นำมาจัดแสดงให้ผู้สนใจรับชม เช่น มาการีนที่ปรับสัดส่วนกรดไขมันเหมาะสม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ  สมุนไพรไทยที่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามในคัมภีร์อัลกุรอาน อย่างเทียนดำ หรือ حبهالبركة (ฮับบะตุซเซาดะอ์) แปลว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข ซึ่งนักวิจัยเป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม นำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำมันในรูปแบบผง โดยใช้เทคโนโลยี Microencapsulation เคลือบน้ำตาลหุ้มน้ำมันเพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น”

*ไข่เหลวจากพืช (Plant-based egg)  โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ร่วมกับทีมบริษัท Holy Food จำกัด เป็นผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พันธกิจของจุฬาฯ ที่มุ่งให้งานวิจัยสามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ “HOLY FOOD” ผ่านการแข่งขันจากผู้แข่งขัน 2,018 ทีม สู่เข้ารอบ 21 ทีมสุดท้ายในโครงการนำเสนออาหารสุดยอดนวัตกรรม Future Food ของการประชุมผู้นำ APEC 2022 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ futurefoodapec


ทั้งนี้ ภายในงาน “CHULA HEALTHY DAYS รักกาย รักใจ 4 วัน 4 มุมเมืองจุฬาฯ” ที่อาคารจามจุรี 9 ยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพ ตั้งแต่การออกกำลังกายที่ถูกต้อง กิจกรรมกีฬาเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาทิ ซุมบ้า โยคะ และคีตะมวยไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักบริหารกิจการนิสิต และศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ  

ในส่วนของคณะจิตวิทยามีกิจกรรมวาดภาพสร้างความสุข คณะเภสัชศาสตร์มีบริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ยา และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานวิจัยฝีมือคนไทย ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ (SHECU) มีการสาธิตการช่วยชีวิตด้วยเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีการสอนยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยยางยืดออกกำลังกาย การสอนการคัดแยกขยะโดย Chula Zero Waste การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น Booster ชนิด Pfizer (Bivalent) และบูธกิจกรรมจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจุฬาฯ ภายในงานยังมีการแสดงของวงดนตรีจากบุคลากรและนิสิตจุฬาฯ รวมทั้งมีแก้ว Limited Edition แจกเฉพาะในงานนี้เท่านั้น พร้อมด้วยน้ำผลไม้ปั่นสุขภาพดี มาช่วยคลายร้อนฟรีแก่ผู้มาร่วมงานอีกด้วย


ถ้าไม่ได้มางานนี้ ก็จะไม่รู้ว่า…How-to เคล็ดลับ กิจกรรม และนวัตกรรมสุขภาพดี ๆ รอคุณอยู่ แล้วมาพบกันที่งาน “CHULA HEALTHY DAYS รักกาย รักใจ 4 วัน 4 มุมเมืองจุฬาฯ” ครั้งต่อไป ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ณ บริเวณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดของงานมหกรรมสุขภาพเพื่อชาวจุฬาฯ เพิ่มเติมได้ที่ Chula Healthy Days : รักกาย รักใจ 4 วัน 4 มุมเมืองจุฬาฯ งานมหกรรมสุขภาพจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ






ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ

ติดตามข้อมูลข่าวสารการดูแลสุขภาพ และสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพราะ
“สุขใดเล่า..จะเท่าสุขภาพดี” ได้ที่ โทร. 0-2218-0568 หรือทางอีเมล cuhc@chula.ac.th
Website: http://www.cuhc.chula.ac.th
Facebook: https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversityHealthServiceCenter
Instagram: https://www.instagram.com/chulahealthservicecenter/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UC2YOM7fcD7ZvMX7n8vwz61A
Tiktok: tiktok.com/@chulahealthservicecenter

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า