ข่าวสารจุฬาฯ

สรุปเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 15 “เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับ เรื่องของเรา”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 15 เรื่อง เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับ เรื่องของเรา เมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุม 202  อาคารจามจุรี 4 เพื่อเป็นเวทีวิชาการสาธารณะเผยแพร่องค์ความรู้จากนักวิชาการและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาฯ ร่วมวิเคราะห์ถึงอุทกภัยจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต  สูญหาย รวมถึงมีผู้ประสบภัยจำนวนมาก นำเสนอในแง่มุมต่างๆ  โดยมี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนาครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ   

 

          รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่าเขื่อนที่ปรากฏในข่าวประกอบด้วย เขื่อนเซเปียนและเขื่อนเซน้ำน้อย ซึ่งเป็นสองเขื่อนหลัก ในการกักน้ำจากแม่น้ำจะมีน้ำเอ่อล้นไปตามซอกเขาต่างๆ จึงต้องตามไปสร้างเขื่อนขนาดเล็ก เรียกว่าเขื่อนปิดช่องเขาอีก 5 เขื่อน โดยเขื่อนที่มีปัญหาครั้งนี้คือ เขื่อนปิดช่องเขา D (Saddle Dam D) จากข่าว ตอนที่เขื่อนปิดช่องเขา D กำลังจะแตก วิศวกรก็ได้พยายามแก้ไขโดยเร่งระบายน้ำผ่านทางน้ำล้น (Spillway) ที่ตัวเขื่อนหลัก เพื่อลดระดับน้ำทั้งเขื่อน ซึ่งจะเห็นเป็นภาพข่าวที่น้ำพุ่งออกมาจำนวนมาก

สำหรับสาเหตุที่เขื่อนแตก รศ.ดร.ฐิรวัตร ระบุว่าจะบอกได้เมื่อมีการเข้าไปตรวจสอบลักษณะความเสียหายของเขื่อน ซึ่งเขื่อนปิดช่องเขา D เป็นเขื่อนดิน ความเสียหายจะมีทั้งเป็นหลุม เป็นรอยฉีก หรือรอยสไลด์หน้าเขื่อน แต่จากภาพที่เห็นตามข่าวพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับดินสไลด์หน้าเขื่อน ซึ่งเกิดจากน้ำซึมผ่านเขื่อนไปออกด้านหน้า แล้วไม่ได้ทำชั้นฟิลเตอร์ไว้ ทำให้ดินสไลด์หน้าเขื่อนและค่อยๆ ไหลไปกับน้ำ

นอกจากนี้ ในการออกแบบเขื่อน หนึ่งในสถานการณ์วิกฤตที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ เวลาเติมน้ำในเขื่อนครั้งแรก เพราะเขื่อนสร้างเสร็จใหม่ยังไม่เคยได้รับการทดสอบ ต้องค่อยๆ เติมน้ำเข้าและติดตามอาการ ในกรณีนี้ หากมีฝนและน้ำเข้ามาเติมในเขื่อนเร็วมากจนทำให้มีรอยแตกเล็กๆ แล้วบำรุงรักษาไม่ทัน  ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขื่อนแตกได้

“โครงการนี้ประกาศว่าก่อสร้างได้แล้วเสร็จ 80 – 90 % เร็วกว่ากำหนดการ 5 เดือน และเริ่มทดลองกักเก็บน้ำตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม โดยบริษัทเกาหลีใต้ที่เป็นผู้ก่อสร้างให้การกับรัฐสภาเกาหลีใต้ว่าพบการทรุดของตัวเขื่อนหลายจุดประมาณ 11 เซนติเมตร ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม และวันที่ 23 กรกฎาคมก่อนเขื่อนแตก 1 วัน ก็ทรุดเพิ่มเป็น 1 เมตร ซึ่งวิศวกรก็ทำบันทึกแจ้งเตือนไปยังทางการของลาวให้ทำการอพยพคน แสดงว่าไม่ได้เกิดฉับพลัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับเป็นแนวทางในการบริหารจัดการของเขาว่าจะแจ้งเตือนเร็วแค่ไหน” รศ.ดร.ฐิรวัตร กล่าว

          ด้าน ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะเกี่ยวกับเขื่อนในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีความจุตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จำนวน 34 เขื่อน ดูแลโดยกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีการดูแลตรวจวัดสม่ำเสมอ ส่วนตัวไม่ห่วงว่าจะเกิดกรณีเขื่อนแตกเหมือนที่ลาว แต่ที่เป็นห่วงคือ เขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเขื่อนขนาดกลาง ความจุ 1 – 100 ล้านลูกบาศก์เมตร  ในประเทศไทยมีประมาณ 800 เขื่อน แต่หน่วยงานให้ความสำคัญในการดูแลน้อย หลายเขื่อนมีรายงานว่ามีการรั่วซึมมากผิดปกติ ยิ่งกว่านั้นคือ เขื่อนขนาดเล็ก ความจุต่ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่มีประมาณ 8,000 เขื่อน เพราะปัจจุบันถูกโอนไปอยู่ในการดูแลของ อบต. คำถามคือ อบต. มีความสามารถในการดูแลจัดการได้หรือไม่ หากรายงานความเสียหายกลับมาแล้วจะมีหน่วยงานไหนไปซ่อม

“บทเรียนจากกรณีเขื่อนแตกที่ลาวนี้ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งก็เริ่มมีการวิเคราะห์กันแล้วว่าถ้าเขื่อนไหนแตกจะท่วมพื้นที่ไหนบ้าง ภายในกี่ชั่วโมง ฯลฯ แต่การจะวิเคราะห์เรื่องแบบนี้ได้ดี เราจำเป็นต้องมีข้อมูลระยะยาวอย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป และครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ผ่านมาข้อมูลลักษณะนี้หายากมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรเป็นผู้เก็บข้อมูลและกระจายให้ทุกคนได้รับรู้ข่าวสาร ตอนนี้รัฐเพิ่งมีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หากทำสำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ” ผศ.ดร.อนุรักษ์ กล่าว

          ในมิติผลกระทบด้านพลังงานต่อไทย รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ เผยข้อมูลปี 2560 ว่า โรงไฟฟ้าในไทยมีกำลังผลิตรวม 46,132 เมกะวัตต์ ขณะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 30,303 เมกะวัตต์ โดยมีการนำเข้าประมาณ 8 % จากลาว เป็นพลังน้ำ 4.7% ถ่านหิน 3.3%  ไทยมีการลงนามใน MOU กับลาวในการเข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในลาวและนำเข้ามาที่ไทย รวม 9,000 เมกะวัตต์ ทั้งพลังน้ำและถ่านหิน มีที่จ่ายไฟแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการแล้วประมาณ 4,400 เมกะวัตต์ และอาจจะมีโครงการในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอีก โดยในปี 2560 ลาวมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ไทย เป็นพลังน้ำ 23,280 ล้านบาท และถ่านหิน 17,300 ล้านบาท รวมคิดเป็น 7.24% เทียบกับ GDP ของลาว

รศ.ดร.กุลยศ ชี้ในภาพรวมว่า ประเทศไทยพึ่งพาพลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าจากในประเทศและลาวไม่มากนัก ตัวหลักคือพลังงานแก๊สซึ่งเราพึ่งพามากถึง 28,402 เมกะวัตต์ หรือ 61% จึงน่าเป็นห่วงว่าไทยพึ่งพาพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป รัฐจึงพยายามกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ซึ่งการไปซื้อไฟฟ้าจากลาวก็เป็นวิธีหนึ่ง นอกจากนี้การซื้อไฟฟ้าจากลาวยังมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ผลิตได้ในประเทศไทย โดยต้นทุนอยู่ที่ 2.41 บาทต่อหน่วย

“กรณีเขื่อนแตกที่ลาวมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทยน้อยมาก ด้วยตัวเลขที่เรานำเข้าจากลาวไม่สูงมาก และในระยะยาวเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่สูง แต่ก็อาจมีผลกระทบด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าที่มีราคาถูกชะลอออกไป ก็ต้องใช้ตัวที่แพงกว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างซึ่งจะไปสะท้อนที่ค่าเอฟที” รศ.ดร.กุลยศ กล่าวสรุป

สุดท้าย คุณอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สปป.ลาว สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวในมุมมองของลาวว่า ลาวมีนโยบายที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ซึ่งก็เริ่มเห็นในปีนี้ว่ามีผลต่อเศรษฐกิจของลาวจริงๆ ต้นปีที่ผ่านมาลาวมีตัวเลขการส่งออกที่สูงขึ้นมากคือเพิ่ม 14.5% ประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกอันดับแรกคือไฟฟ้า ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวที่ผ่านมา    ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเหมืองแร่ โดยประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนเขื่อนในลาว ส่วนใหญ่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับไทยหรือเวียดนาม จึงมีความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับลาวอยู่

“ปกติลาวจะไม่ค่อยเปิดรับความช่วยเหลือ แต่ที่จีนเข้าไปมีบทบาทในครั้งนี้มาก เนื่องจากจีนมีการเข้าไปลงทุนเขื่อนในลาวมาก  ในส่วนของประเทศไทย ลาวก็เปิดให้เจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยเข้าไปในระดับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์พื้นฐานที่มีมาจากภาคประชาชน แต่ความช่วยเหลืออาจจะหลั่งไหลมามากจนมีปัญหาเรื่องการจัดระบบ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับลาว เหมือนตอนไทยที่เจอกับเหตุการณ์สึนามึ แต่ก็จะเป็นจุดที่จะทำให้เกิดแนวทางในการจัดการวางแผนป้องกันในอนาคต” คุณอดิศร กล่าว

คุณอดิศร ยังกล่าวถึงด้านผลกระทบต่อคนลาวว่า จากที่เคยการทำวิจัยในลาวทั้งเรื่องการสร้างเขื่อน ถนน สะพาน ทุกคนจะมองโลกในแง่บวกว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากนี้ เชื่อว่าคนลาวจะเริ่มคิดเริ่มทบทวนเรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มมองเรื่องของรัฐที่เปิดให้เข้ามาลงทุนจนเกิดผลกระทบ และรัฐบาลก็ต้องเริ่มมีกระบวนการสอบสวนให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก

สำหรับประเด็นที่ว่าไทยควรทำอย่างไรในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า คุณอดิศร แสดงความเห็นว่า การที่เราไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วนหนึ่งเราต้องใช้มาตรฐานที่ใกล้เคียงกับในไทย เพราะตรงนี้จะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ส่วนกรณีนี้ รัฐก็อาจจะเข้าไปช่วยในฐานะมิตรประเทศผ่านหน่วยงานที่มีความร่วมมืออยู่แล้ว ซึ่งขนาดในการฟื้นฟูค่อนข้างใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ และน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 – 6 ปีในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ ฯลฯ รวมทั้งควรพูดคุยเรื่องความช่วยเหลือในด้านการแพทย์โดยเฉพาะภาวะจิตใจ

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า