ข่าวสารจุฬาฯ

วิชา “ป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ สอนสร้างภูมิคุ้มกันและเอาตัวรอดทางสังคมให้นักเรียน

               กลายเป็นกระแสการพูดถึงและแชร์ต่อในโลก Social Media เมื่อ Page Facebook “สังคมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม” โพสต์ภาพรายวิชาเลือกเสรีที่ระบุชื่อวิชาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วิชา “ป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” ซึ่งเป็นชื่อที่คุ้นหูจากนิยายและภาพยนตร์เรื่อง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” หลายคนคงสงสัยว่าวิชาที่ชื่อน่าสนใจนี้สอนเกี่ยวกับอะไร และจะสอนร่ายเวทมนตร์คาถาเหมือนในภาพยนตร์หรือไม่?


จุดเริ่มต้นของวิชาเลือกเสรีที่ตรงใจนักเรียน

               อาจารย์พรพรหม ไชยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม และรองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมว่า เดิมนักเรียนจะต้องเรียนในวิชาที่กำหนด นักเรียนจึงมีข้อเสนอแนะที่อยากมีวิชาที่ตนสนใจ ในปี 2562 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จึงมีการปรับหลักสูตรเพิ่มวิชาเลือกเสรี นอกจากวิชาพื้นฐานที่เข้มข้นแล้วจะมีวิชาเลือกเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในอนาคตของนักเรียนอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็เพิ่มวิชาที่เป็นสมรรถนะสำคัญ และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น ด้านสุขภาพ มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ด้านกีฬา มีวิชาที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ตัดสินกีฬา ส่วนวิชา “ป้องกันตัวในศาสตร์มืด” เป็นอีกวิชาหนึ่งซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีที่โรงเรียนเปิดสอนมาเป็นปีที่ 3 แล้ว  

               “โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีเป้าหมายให้นักเรียนมีภาวะผู้นำและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นตัวธงนำของโรงเรียน ในขณะเดียวกันเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของเยาวชนก็ยังเติมให้อยู่ตลอด” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม กล่าว

อ.พรพรหม ไชยฉัตรพรสุข

ที่มาของวิชา “ป้องกันตัวจากศาสตร์มืด”

               อาจารย์กมลชนก สกนธวัฒน์ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ผู้เป็นเจ้าของรายวิชานี้ อธิบายว่า จุดเริ่มต้นของวิชาประกอบด้วย 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือมีโอกาสได้คุยกับนักเรียนแล้วพบว่า นักเรียนแต่ละคนมีโจทย์ในชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคืออยากจะก้าวข้ามผ่านโจทย์ในชีวิตไปให้ได้ ประกอบกับช่วงนั้นสังคมกำลังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับด้านจิตใจ ความเครียด โรคซึมเศร้า จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าในฐานะที่เราเป็นครู เราจะช่วยนักเรียนได้อย่างไร

               เหตุการณ์ที่สอง เกิดจากโลก Social Media ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ มีการสร้าง Hate Speech สร้างความเกลียดชัง หรือแม้กระทั่งคนที่ใช้ความรู้ในทางที่ผิด ใช้กลโกงทำร้ายผู้อื่น จึงมีความคิดว่า ถ้านักเรียนออกไปเจอกับสังคมที่โหดร้าย เราทำอย่างไรให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันที่ดี จึงอยากให้มีวิชาที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียน

 อ.กมลชนก สกนธวัฒน์

ชื่อวิชา “ป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” มาจากไหน

               อ.กมลชนก เล่าว่า ตอนคิดชื่อวิชา อยากได้ชื่อวิชาที่มีองค์ประกอบ 3 ประการ ประการแรกคือสะท้อนจุดมุ่งหมายของวิชา เมื่อนักเรียนเห็นชื่อวิชาแล้วพอจะรู้ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร ประการที่สองอยากได้ชื่อวิชาที่มีความคิดสร้างสรรค์ แตกต่างจากชื่อวิชาเดิมที่เคยมี ส่วนประการสุดท้ายคือต้องเป็นชื่อที่เป็น First Impression ที่ดี จึงนึกถึง “วิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” จากเรื่อง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ซึ่งชื่อนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากนำเสนอทั้ง 3 ประการ


คำว่า “ศาสตร์มืด” คืออะไร

               ศาสตร์มืด หมายถึง ปีศาจตัวหนึ่งที่เข้ามาขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเรา ในวิชานี้เกี่ยวโยงกับความมืด 2 ด้านด้วยกัน อย่างแรกคือ ความมืดในใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความท้อแท้ใจ การไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนเป็นปีศาจตัวหนึ่งที่ขัดขวางไม่ให้เรามีความสุขในชีวิต เป็นความมืดภายในตัวที่เราต้องจัดการมันให้ได้ ส่วนด้านที่สองคือ ความมืดจากภายนอก ในสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยการแสดงออกหรือการใช้คำโดยเฉพาะใน Social Media  ที่มีส่วนสร้างความเกลียดชัง ใช้ความรู้เอาเปรียบผู้อื่น เราจึงควรสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีแก่เด็ก มีเครื่องมือที่จะออกไปเอาชนะได้


วิชา “ป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” เรียนอะไรบ้าง

               การเรียนการสอนรายวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด ประกอบด้วยการทำกิจกรรม การลงมือปฏิบัติ การจำลองเหตุการณ์ และมีการสะท้อนความคิด สะท้อนการเรียนรู้ สะท้อนคุณค่าของตนเอง เช่น ในอนาคตนักเรียนเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกับตนเอง เมื่อนักเรียนเคยเจอครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าเจอกับเหตการณ์เดียวกันนี้อีก จะสามารถย้อนนึกถึงในสิ่งที่เคยเรียน วิธีการที่ใช้ในการป้องกัน เมื่อเจอกับสิ่งนี้สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้

               “ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยก่อนมาก โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูล สังคมที่ต้องเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่สังคมในชีวิตประจำวัน มีสังคมอีกโลกหนึ่งคือใน Social Media ทำอย่างไรให้นักเรียนใช้ชีวิตทั้งสองอย่างได้อย่างมีความสุข” อ.กมลชนก กล่าวในที่สุด


เสียงสะท้อนจากนักเรียน

            นางสาวจิณห์จุฑา เปรมประชา นายธรรศ อินทรารักษ์สกุล นายวรดร โกศลพิศิษฐ์กุล และ นายธัญฑ์ กฤษณะเศรณี ตัวแทนนักเรียนที่เรียนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด กล่าวว่า สนใจวิชานี้เพราะชื่อวิชาน่าสนใจ ส่วนใหญ่วิชาเรียนจะตั้งชื่อค่อนข้างวิชาการ เมื่อได้อ่านรายละเอียดรายวิชาแล้วก็ชอบ เพราะสอนเกี่ยวกับทักษะการใช้ชีวิตประจำวันของเราที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป หลังจากได้เรียนแล้วก็สนุก เนื้อหาไม่เครียด กิจกรรมสับเปลี่ยนทุกสัปดาห์ เช่น การแสดงละครที่มีบทเกี่ยวกับการปฏิเสธ ต้องปฏิเสธอย่างไรให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่เสียใจ สอนเรื่องการเลือกใช้คำพูด การเป็นผู้พูด และการเป็นผู้ฟังที่ดี  กิจกรรมดูภาพยนตร์ โฆษณา แล้วถอดบทความออกมาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตว่าได้บทเรียนอย่างไร นำทักษะไปใช้ชีวิตในอนาคตอย่างไร


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า