ข่าวสารจุฬาฯ

สองนักวิจัยไทยดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบน้ำทะเลขั้วโลกอุ่นขึ้นเฉลี่ย 5 องศา

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ และ รศ.ดร.สุชนา  ชวนิชย์  อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  สองนักวิจัยไทย พร้อมด้วยผู้ร่วมวิจัยจากประเทศไทยรวม 13 ชีวิต ได้เดินทางด้วยเรือปฏิบัติการถึงบริเวณชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก และดำน้ำเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นการวิจัยใต้ทะเลอาร์กติก ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการสำรวจและสังเกตการณ์ของช่วงฤดูร้อนพื้นที่ขั้วโลกเหนือขณะนี้พบว่าไม่เห็นน้ำแข็งในทะเล ภูเขาน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งมากนัก   เทียบกับฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ ยังเห็นแผ่นน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งอยู่จำนวนมาก  แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้น  ทำให้น้ำแข็งละลาย ขณะเดียวกันยังพบหมีขั้วโลกหันมากินพืชเป็นอาหาร อีกทั้งยังมีปริมาณสาหร่ายและแมงกะพรุนในทะเลเพิ่มขึ้น และพบกวางเรนเดียร์กินสาหร่ายเป็นอาหารมากขึ้น

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์  ในฐานะหัวหน้าคณะนักสำรวจ เผยว่า หลังจากเดินทางมาถึงพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการวิจัยตามแผนงาน แต่หลายครั้งไม่สามารถปฏิบัติงานได้เนื่องจากคลื่นแรง  หรือน้ำขุ่นมากอันตรายต่อการการดำน้ำและเก็บตัวอย่างใต้ทะเล หรือแม้กระทั่งหมีขาวที่กำลังว่ายน้ำอยู่ ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำงานเช่นกัน

จากการสำรวจบนบกพบสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เลี่ยนแปลงที่ขั้วโลกเหนือคือ  คณะของเราพบเห็นแม่หมีขาวกับลูกกำลังกินพวกมอสและพืชเป็นอาหาร ปกติหมีขาวเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินเนื้อสัตว์พวกแมวน้ำเป็นอาหาร  ประกอบกับจากการผ่ากระเพาะซากหมีขาวของนักวิจัยในพื้นที่ พบปริมาณของพืชมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ   แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันหมีขาวไม่สามารถล่ากินอาหารสัตว์ทะเลอื่นได้อย่างเพียงพอ  ทำให้ต้องหันมากินพวกพืชบนบกแทน  โดยการกินพวกพืชเป็นอาหารมากๆจะทำให้หมีขาวมีสภาพร่างกายอ่อนแอและไม่แข็งแรง นอกจากนี้การดำน้ำสำรวจในพื้นที่ขั้วโลกเหนือยังพบว่ามีปริมาณสาหร่ายจำนวนมาก  อาจจะมาจากการที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลบริเวณนี้อุ่นขึ้น ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันยังพบแมงกะพรุน และหวีวุ้น(สัตว์จำพวกแมงกะพรุน) อยู่ในน้ำทะเลมาก  แสดงว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้น” รศ.ดร.วรณพ กล่าว

รศ.ดร.สุชนา  ชวนิชย์  เผยว่า จากการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ของประเทศนอร์เวย์  พบว่าในช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมา  ในช่วงฤดูหนาว  หิมะตกน้อยลง  น้ำแข็งไม่หนาพอ  จึงทำให้ไม่สามารถใช้รถขับบนหิมะ หรือ Snow mobile ได้ และมีความเสี่ยงสูงต่อการที่มีหิมะถล่มในพื้นที่ต่างๆ  และเกิดน้ำท่วม  แสดงให้เห็นว่าที่ขั้วโลกเหนือ ณ ปัจจุบัน  อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปกติมากเนื่องจากภาวะโลกร้อน  ทำให้น้ำแข็งหรือหิมะมีน้อยมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน น้ำแข็งละลายไปเยอะมากกว่าปกติ

“อุณหภูมิที่ขั้วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิปกติ  มากกว่า 5 องศาเซลเซียส  ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ขั้วโลกเปลี่ยน  สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารได้เพียงพอ  ทั้งนี้การดำน้ำที่ขั้วโลกเหนือในครั้งนี้  ไม่ใช่แค่ต้องเผชิญกับน้ำทะเลที่เย็นจัด อุณหภูมิเกือบศูนย์องศา  แต่ในการดำน้ำต้องระวังหมีขาวและช้างน้ำ (walrus) ขั้วโลกด้วย  เพราะอาจจะเกิดอันตรายถ้านักดำน้ำไปดำใกล้สัตว์เหล่านั้น  ที่สำคัญมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางทีมดำน้ำได้ลงไปในบริเวณใกล้ธารน้ำแข็ง และเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำแข็งละลายสูงมาก ทำให้น้ำบริเวณดังกล่าวขุ่นมาก จากน้ำจืดของน้ำแข็งที่ไหลลงทะเล เมื่อทางทีมดำน้ำลึกลงไปประมาณ 2-3 เมตร ตามปกติน้ำที่ระดับน้ำลึกลงไปน้ำทะเลต้องใสมากขึ้น แต่พื้นที่นั้นกลับขุ่นมากกว่าปกติ เมื่อทีมงานดำลงไปที่ความลึกระดับ 10 เมตรซึ่งเป็นระดับที่มีน้ำขุ่นมากและมีทัศนะวิสัยการมองเห็นใต้น้ำเพียง 0 เมตร อันตรายมากจนตนแอบคิดถอดใจที่จะได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าหากเรามองไม่เห็นแล้วดำน้ำต่อไปอาจจะพลาดตกไปในส่วนลาดชันใต้ทะเลที่มีระดับความลึก 40 เมตรได้ แต่สุดท้าย ทุกคนก็สามารถที่จะขึ้นมาจากน้ำได้อย่างปลอดภัย”  รศ.ดร. สุชนา กล่าวทิ้งท้าย

การเดินทางสำรวจวิจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นการศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่มหาสมุทรอาร์กติกแล้ว ยังเป็นความร่วมมือในการทำวิจัยที่อาร์กติกระหว่างประเทศไทย  จีน  และราชอาณาจักรนอร์เวย์ รวมถึงสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความตื่นตัว ในผลของภาวะโลกร้อนและขยะทะเลที่มีต่อมหาสมุทรอาร์กติกและโลก ให้กับประชาชนและเยาวชนไทย โดยจะดำเนินการสำรวจวิจัยเสร็จสิ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ทั้งนี้หลังจากคณะวิจัยกลับถึงประเทศไทยจะมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่ได้จากการปฏิบัติงานสู่เยาวชนและประชาชนที่สนใจอีกครั้ง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า