สื่อมวลชนสัมภาษณ์อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯเรื่อง “สารเคมีจากกลิ่นเหงื่อบ่งชี้ความเครียดและซึมเศร้า”

เมื่อวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมตึกเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ TNN สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง “สารเคมีจากกลิ่นเหงื่อบ่งบอกภาวะความเครียดสูงและซึมเศร้าได้” ซึ่งได้มีการนำร่องศึกษาวิจัยกับนักผจญเพลิงจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อ โควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อ กล่าวถึงการนำงานวิจัยในเรื่องนี้มาใช้ในการวัดความเครียดและโรคซึมเศร้าจากสารเคมีในกลิ่นเหงื่อ โดยใช้ก้านสำลีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บใต้รักแร้ซ้าย-ขวา แล้วนำก้านสำลีที่มีเหงื่อใส่ในขวดปลอดเชื้อที่มีฝาปิด จากนั้นส่งตัวอย่างมาห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี แล้วรอเครื่องวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที ซึ่งผลจะแสดงออกมาในลักษณะบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่าง กลุ่มเป้าหมายในโครงการวิจัยนี้เป็นนักดับเพลิงซึ่งมีความเครียดสูงและเป็นกลุ่มที่แพทย์สามารถเข้าหาได้ง่าย ในอนาคตจะขยายให้สามารถตรวจกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ต่อไป
พญ.ภัทราวลัย สิรินารา กล่าวถึงสภาวะเครียดว่ามักเกิดขึ้นในวัยทำงานซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายได้ นอกจากกลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยซึ่งเป็นพนักงานดับเพลิงแล้ว การวิจัยเรื่องนี้ยังขยายไปยังอาชีพอื่น โดยกำลังศึกษาในกลุ่มพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความเครียดสะสมจากการทำงาน นอกจากนี้ พญ. ภัทราวลัย ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่ายังต้องการทุนวิจัยจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อมาสนับสนุนเครื่องมือและกำลังคนในการเก็บตัวอย่างและทำวิจัย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ “นักวิจัยจุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อเผยเครียดจัด-ซึมเศร้า นำร่องคัดกรองสุขภาพจิตนักผจญเพลิงสำเร็จครั้งแรก” https://www.chula.ac.th/highlight/120183/

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย