รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
8 กรกฎาคม 2566
ข่าวเด่น, งานวิจัยและนวัตกรรม, ภาพข่าว
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) จังหวัดสระบุรี ร่วมกับศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดงาน “AIC Chula Saraburi Expo 2023” มหกรรมการจัดงานด้านการเกษตรที่รวบรวมงานวิจัยนวัตกรรมผลิตผลพรีเมียมของจังหวัดสระบุรี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี ภายใต้แนวคิด “BCG for Empowering the AIC Partnership” เสริมสร้างพลังพันธมิตรเครือข่าย AIC ด้วยระบบเศรษฐกิจ BCG
ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี กล่าวถึงแนวคิดด้านการพัฒนาขีดความสามารถเกษตรกรไทยว่าเป็นนโยบายระดับชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2563 ที่ดำริให้หนึ่งจังหวัดต้องมีหนึ่ง AIC โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จุฬาฯ มีศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคที่จังหวัดสระบุรี
ศูนย์ AIC ที่จุฬาฯ สระบุรีจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนการดำเนินงาน ผ่านการเห็นชอบของ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์แผนการงบประมาณและสุขภาวะ จุฬาฯ พันธกิจของศูนย์ AIC มีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรอัจฉริยะ เป็นศูนย์เพาะบ่มเกษตรกร ผู้นำเกษตรกร Smart Farmer ภายในจังหวัดสระบุรี พัฒนาการตลาดและสร้างความร่วมมือระหว่างศูนย์ AIC ของมหาวิทยาลัยภายในประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร ปี 2566 – 2570
“ที่ไหนมีปัญหา จุฬาฯ ต้องเข้าไปหาคำตอบ” ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร.มงคล กล่าวว่าการดำเนินงานของศูนย์ AIC ที่จุฬาฯ สระบุรีตอบสนองยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนซึ่งมีความถนัดหรือความเชี่ยวชาญ รู้จุดแข็งของชุมชนนั้นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ในงาน “AIC Chula Saraburi Expo 2023” มีการจัดแสดงนิทรรศการความรู้คู่ของดีจังหวัด รวบรวมร้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปโดยวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่โดดเด่น การสัมมนาวิชาการนวัตกรรมเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน เผยแพร่กิจกรรมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC)ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายพันธมิตรของส่วนราชการและเอกชน รวมถึงหน่วยงานในมหาวิทยาลัยในการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) จุฬาฯ สระบุรี นอกจากนี้ยังเผยแพร่องค์ความรู้จากวิสาหกิจชุมชน จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเกษตรและจากผู้ประกอบการแปรรูปการเกษตรไปเป็นอาหาร เพื่อให้หน่วยงานของจุฬาฯ และหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด กลุ่มหอการค้า เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมหรือผู้ประกอบการที่พัฒนาสินค้าแปรรูปต่างๆ
รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านการบูรณาการและกลไกของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จ.สระบุรี กล่าวถึงความสำคัญของงาน “AIC Chula Saraburi Expo 2023” ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันของประเทศผ่านกลไกนวัตกรรม โครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในการบริหารงบของจุฬาฯ ปี 2566 ภายใต้แนวคิด “BCG for Empowering the AIC Partnership เสริมสร้างพลังพันธมิตรเครือข่าย AIC ด้วยระบบเศรษฐกิจ BCG” เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรเข้ามาร่วมผลักดันความสำเร็จด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AIC ทั้งจังหวัดสระบุรีและจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมงาน ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการวิจัยนวัตกรรมด้านการเกษตร
“จุฬาฯ เป็นตัวแทนภาควิชาการและเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้จากคณะและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค นอกจากนี้ที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ สระบุรียังมีโรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวลที่สามารถให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ งาน Expo โดย AIC จุฬาฯ สระบุรีเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอนิทรรศการและแพลตฟอร์มทางวิชาการ นวัตกรรมวิจัยให้สังคมหลายภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ ในส่วนของเกษตรกรสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน AIC Chula Saraburi Expo 2023 เป็นหนึ่งในโครงการย่อยที่ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จุฬาฯ ได้ลงมือทำให้สัมฤทธิ์ผล” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าว
ผศ.น.สพ.ดร.ธีรวัฒน์ สว่างจันทร์อุทัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า งาน AIC Expo จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วซึ่งยังอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รูปแบบการจัดงานจึงเป็นแบบแพลตฟอร์มเสมือนจริง 100% ภายในงานมีผู้เข้าร่วมรับชมกว่า 16,000 ราย ในปีนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาบางลง จึงมีการจัดงาน “AIC Chula Saraburi Expo 2023” ในรูปแบบ hybrid ทั้ง on-site ในสถานที่จริงและ online ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ด้วย
งานวันแรก มีหัวข้อการประชุมเรื่องนโยบายและการจัดการเกษตร Agritech Innovation Catalog นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิตและการเสวนาทางรอดของรัฐวิสาหกิจชุมชนโดยรัฐวิสาหกิจชุมชนต้นแบบจากหลายจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์โปรตีนจิ้งหรีดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2 จากศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตภัณฑ์จากหอยนางรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตหญ้าอาหารสัตว์และเลี้ยงโคเนื้อ ตำบลโพนทอง จังหวัดกาฬสินธุ์
งานวันที่สอง เน้นด้าน Food Security and Sustainability หรือความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืนมีการบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการจัดระบบด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ อาทิ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงทางอาหาร องค์ประกอบของอาหารสัตว์ที่มีสมบัติเชิงหน้าที่ ไมโครไบโอมเพื่อสุขภาพการแปรรูปน้ำผลไม้โดยไม่ใช้ความร้อน การเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
ในวันสุดท้าย มีการประชุมในหัวข้อ “Agricultural Sustainability Thai Dairy Industry โคนมไทย ก้าวไกลเกษตรยั่งยืน” โดยมีการบรรยายเกี่ยวกับอาหารหยาบสำหรับโคนม ข้าวโพดหมัก ความท้าทายและโอกาสของเกษตรกรไทย นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของฟาร์มโคนม และนวัตกรรมงานบริการสัตวแพทย์สำหรับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม และฟาร์มโคนม
ภายในงานมีการออกบูธจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ อาทิโรงพยาบาลปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ วิสาหกิจชุมชนตำบลยอดจากโครงการ Chula Creative Tourism Academy สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี สระบุรีฟู้ดวัลเลย์ น้ำพึ่งป่าดอยขุนสถาน ชมรมกาแฟจังหวัดน่าน ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอนวัตกรรมอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบูธผลิตภัณฑ์น่าสนใจจากผู้ประกอบการในจังหวัดสระบุรี พร้อมองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรมากมาย
โรงพยาบาลปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีการให้บริการคลินิกสุกร คลินิกสัตว์เคี้ยวเอื้อง การให้คำปรึกษาในรูปแบบต่างๆ ด้านปศุสัตว์ รวมถึงคลินิกเฉพาะทางและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จังหวัดนครปฐม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 03-4270-970 และผ่านทาง Facebook: โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นครปฐม https://www.facebook.com/profile.php?id=100057579994637
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น มีโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งในจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี นครราชสีมา ฯลฯ ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของน้ำนมโคด้วยการพัฒนาต้นแบบเชิงธุรกิจการเกษตรน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมพรีเมียมมีฟาร์มโคนมต้นแบบสมาร์ทฟาร์มเพื่อการวิจัย ระบบลดความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับและเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อควบคุมคุณภาพได้เที่ยงตรงทุกขั้นตอน รวมถึงนวัตกรรมการบริการสัตวแพทย์สำหรับการจัดการฟาร์มโคนมแบบแม่นยำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแพลตฟอร์มศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มโคนมเสมือนจริง (Virtual Farm) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านโคนมที่ยั่งยืน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น https://www.facebook.com/thaitropicaldairy/
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ได้จัดแสดงโครงการการพัฒนาสมรรถนะของเกษตรกรและการพัฒนาการเลี้ยงแพะ-แกะของจังหวัดน่านสู่ความยั่งยืนและโครงการการพัฒนาสมรรถนะของเกษตรกร กลไกความร่วมมือและขยายโอกาสทางการตลาดโคเนื้ออย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน เพื่อขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินการในรูปแบบเวทีท้องถิ่นผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนานวัตกรรม ระดมความเห็นของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และคณะผู้วิจัยจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน เพิ่มองค์ความรู้และทักษะกระบวนการในการนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาด้านปศุสัตว์ให้ยั่งยืน ภายในงานสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯได้นำเสนอนวัตกรรมการผสมเทียม และฝึกอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ – แกะให้เป็นนักผสมเทียมภายในฟาร์มตนเอง ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ https://www.facebook.com/SAR.Chula/?ref=embed_page
ติดตามข่าวสารความก้าวหน้าของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรีได้ที่ Facebook: AICCUSaraburi https://www.facebook.com/AICCUSaraburi/
ติดตามข่าวสารและนโยบายเพื่อขับเคลื่อนศักยภาพนวัตกรรมเกษตรไทยโดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ได้ที่ Facebook: AIC https://www.facebook.com/aicmoac
ดาวน์โหลดภาพกิจกรรมงาน AIC Chula Saraburi Expo 2023 ได้ที่ ภาพงานทั้งหมด
ภาพ : ณัฐริณีย์ พร้อมวงศ์
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จัดกิจกรรม “ใส่บาตรหนังสือ ครั้งที่ 16 : อ่านเพื่อสติ” สานต่อศรัทธาผ่านการอ่าน สร้างปัญญา เสริมสิริมงคลรับปีใหม่
นิสิต BBA จุฬาฯ เยี่ยม! ทำคะแนนสอบ TCAS Inter 2024 ได้ที่ 1 ของประเทศ
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานเสวนา “โปรตุเกส…เหตุที่รัก”
นิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสีน้ำระดับอุดมศึกษา
คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ชวนช็อป ดีมีคืน กับ Chula Dent ในโครงการ Easy E-Receipt 2.0
ขอเชิญชาวจุฬาฯ ประกวดคลิปวิดีโอสร้างสรรค์ “Chula Ethics: Our Code, Our Way: วิถีเรา ตัวตนเรา”
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้