“ประชุมวิชาการนานาชาติ Bangkok Forum 2018” บูรณาการความรู้เพื่อความยั่งยืนทางสังคม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Korea Foundation for Advanced Studies) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Bangkok Forum 2018 ระหว่างวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2561 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ผ่านการอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ภูมิภาคเอเชียสามารถพัฒนาความร่วมมือ ความเอื้ออาทรแก่กันและกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน ตามแนวคิด “เอเชียที่ยั่งยืนในอนาคต” (Future Sustainable Asia) โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการ และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในวันพุธที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิในระดับนานาชาติร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
– ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในหัวข้อ “Future Governance for Sustainable Asia”
– Dr. Noeleen Heyzer ที่ปรึกษาระดับสูงของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ย ในหัวข้อ “Towards an Inclusive and Sustainable ASEAN”
– Dr. Hongjoo Hahm ผู้อำนวยการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ในหัวข้อ “The Challenges of SDGs in the Asia Pacific Region”
ทั้งนี้ยังมีเวทีอภิปรายทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในประเด็นเกี่ยวกับความยั่งยืนทางสังคม ทั้งจากในและต่างประเทศอีกมากมาย อาทิ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศ.สุริชัย หวันแก้ว ดร.สมชัย จิตสุชน คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ดร.ธร ปีติดล ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ Prof. Dr. Jonathan Rigg เป็นต้น
ผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในงานมีบริการหูฟังและล่ามแปลภาษาตลอดรายการ ทั้งนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมทางเว็บไซต์ https://bkkforum.chula.ac.th/2018 และส่งแบบตอบรับเข้าร่วมการประชุมทางโทรสาร 0-2215-4804 ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2561 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-3364-5 หรืออีเมล bkkforum@chula.ac.th
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย