สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ปีการศึกษา 2565 เป็นวันที่สอง

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. และเวลา 13.30 น. ณ หอประชุมจุฬาฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ แทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ประจำปีการศึกษา 2565 เป็นวันที่สอง โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี เฝ้าฯ รับเสด็จ
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ในวันที่สอง มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย จำนวนทั้งสิ้น 3,644 คน รอบเช้า คณะวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ รอบบ่าย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ คณะจิตวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตจุฬาฯ จากนั้นเสด็จไปยังห้องรับรอง หอประชุมจุฬาฯ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย
หลังเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปยังหอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทยของนิสิต คณาจารย์ และนิสิตเก่าจุฬาฯ ประกอบด้วย การบรรเลงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลงอาหนูเถา โดยนิสิตคณะครุศาสตร์ การบรรเลงดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์ในชุดระบำอาซิ้ม โดยนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ และการบรรเลงเพลงบางส่วนของวงสายใยจามจุรีและวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ (CU Band) ทั้งหมดเป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และประพันธ์เพลงโดย อ.ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้หลังจากพิธีพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสามวัน บัณฑิตจุฬาฯ ร่วมพิธีถวายสักการะสมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ณ หอประชุมจุฬาฯ และร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์โดยพร้อมเพรียงกัน

























จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย