ข่าวสารจุฬาฯ

สรุป เวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 16 “เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์ สำหรับใคร ?”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 16 เรื่อง “เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์ สำหรับใคร ?” เมื่อวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4  เพื่อเป็นเวทีวิชาการให้นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างรอบด้าน และเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง โดยมี อ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนา และดำเนินรายการโดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มด้วยการแสดงทัศนะว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านหรือถ่ายโอนทางการเมืองที่เป็นสันติวิธีที่สุด ซึ่งโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของสังคมไทยคือ หลังการเลือกตั้ง เราจะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบอะไรได้บ้าง ซึ่งส่วนตัวมองว่ามี 3 ทิศทางที่เป็นไปได้คือ ทิศทางแรก มีรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งและเคารพเสียงของประชาชน เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นทิศทางที่ค่อนข้างสลัว ยังต้องการแสงส่องสว่างจำนวนมากจากประชาชน ทิศทางที่สอง เดินอยู่ในเขาวงกตของความขัดแย้งทางการเมือง ตอกย้ำความไม่มีเสถียรภาพ กลายเป็นเครื่องมือของระบอบอำนาจนิยมที่ใส่เสื้อกั๊กประชาธิปไตย และทิศทางที่สาม อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ เหมือนในปี 2535

รศ.ดร.สิริพรรณ ยังได้ประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งปัจจุบันใน 4 ด้าน คือ

  1. กติกาและโครงสร้างการแข่งขัน การใช้บัตรเลือกตั้งหนึ่งบัตรสามเด้ง คือ ให้เลือก ส.ส.เขต ซึ่งคะแนนจะถูกแปลงให้เป็นคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลือกชื่อนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้สมัครด้วย เป็นกติกาที่สร้างความสับสน ยากต่อการตัดสินใจ ที่สำคัญคือไม่ทำให้เกิดสายโซ่ในการตรวจสอบถ่วงดุล
  2. ตัวแสดงทางการเมือง ตอนนี้ คสช. สวมหมวกเป็นทั้ง คสช. รัฐบาล และพรรคการเมือง คำถามคือ จะฟรีและแฟร์กับทุกฝ่ายได้อย่างไร เราจะเห็นการแก้กติกา เช่น การใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต. ขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง ฯลฯ โครงสร้างนี้ผู้เล่นที่สำคัญที่สุดคือ กกต. ว่าจะเป็นกลาง เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้จริงหรือไม่
  3. ภูมิทัศน์ของสื่อ ส่วนตัวมองว่าสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่จำเป็นต้องเสนอข้อมูลที่ตรงไปตรงมา สื่อมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นผู้กำหนดวาระทางการเมือง ถ้าสื่อช่วยให้บรรยากาศการเลือกตั้งเป็นธรรมก็จะมีส่วนช่วยได้มาก
  4. บริบททางการเมือง ปัจจุบันยังอยู่ภายใต้อำนาจ คสช. กลไกอำนาจรัฐต่างๆ ที่ยังอยู่ภายใต้ คสช. จะมีบทบาทสำคัญ การใช้มาตรา 44 เปลี่ยนแปลงกติกาต่างๆ จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา คนจำนวนมากเลือกพรรคเดิมๆ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการความมั่นใจว่านโยบายที่ต้องการได้รับการสืบทอด ทำให้คนอีกกลุ่มมองว่าผลการเลือกตั้งทำนายได้ จึงเกิดความรู้สึกว่าไม่ยอมรับ เป็นที่มาของวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 รอบของไทย หากครั้งนี้มีการจัดการเลือกตั้งที่ทำนายได้สูง คือ รู้เลยว่าแม้จะแพ้คะแนนเสียงในสภาฯ ก็เป็นรัฐบาลได้ จะยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมว่าจะมีการเลือกตั้งทำไม และจะร้ายแรงกว่าอดีตที่ผ่านมา ส.ว. 250 คนจึงควรเคารพเสียงของประชาชนและโหวตในสภาฯ ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนโหวต ส.ส. เข้าไป” รศ.ดร.สิริพรรณ ชี้

ในประเด็นที่ว่าระบบการเลือกตั้ง ปี 2562 ฟรีและแฟร์หรือไม่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า มีคำถาม 3 ข้อ ที่เป็นตัวชี้ คือ

คำถามแรก ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวและระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบนี้ ปิดโอกาสที่จะทำให้มีพรรคเดียวเป็นรัฐบาลหรือไม่ ถ้าปิดโอกาส 100 % ก็มีแนวโน้มว่าไม่แฟร์แน่นอน คำตอบคือ ระบบบัตรใบเดียวไม่ปิดโอกาส หากพรรคการเมืองไหนได้รับคะแนนนิยมเกิน 50.01 % หรือไปชนะที่เขตให้ได้ 251 เขต ก็เป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ ซึ่งยากมาก แต่ตามหลักการเป็นไปได้

คำถามที่สอง ระบบจัดสรรปันส่วนผสมเอื้อต่อพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางหรือไม่ หากนำคะแนนปี 2554 มาคำนวณที่นั่งในระบบใหม่ จะพบว่าพรรคขนาดกลางได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนพรรคขนาดเล็กก็ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น ขณะที่พรรคขนาดใหญ่ได้ลดลง โดยเฉพาะพรรคอันดับหนึ่ง แต่ก็เป็นการเทียบคนละการเลือกตั้ง จริงๆ อาจไม่ได้เอื้อต่อพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางก็ได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการลงคะแนนของประชาชนว่าอยากได้คนที่รักหรือพรรคที่ชอบมากกว่า ซึ่งหากคำตอบคือไม่ใช่ 100 % ก็แปลว่าระบบพอจะแฟร์อยู่

คำถามที่สาม เป็นไปได้ไหมว่าคนที่คะแนนมากกว่าจะได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่า คำตอบคือเป็นไปได้ ปัญหาคือ เราเอาระบบการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวของเยอรมันมาไม่ 100 % ปกติต่อให้เป็นระบบสองบัตรของเยอรมัน ก็มีที่นั่งโอเวอร์แฮงค์ เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย ให้การจัดสรรที่นั่งในสภากับคะแนนนิยมสอดคล้องกัน เพราะหากคำนวณ ส.ส.ที่พึงได้มาแล้ว หักด้วย ส.ส.เขต แล้วบังเอิญว่าพรรคอื่นได้ ส.ส.เขตเกินกว่าความนิยมที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นไปได้ในระบบแบบนี้ สัดส่วนการได้บัญชีรายชื่อจะเพี้ยนไป หมายความว่าที่นั่งบัญชีรายชื่ออาจมีเกิน 150 แต่ของเรา อาจเพราะกลัวพรรคการเมืองแตกพรรคแล้วแบ่งคะแนนวุ่นวาย ซึ่งกรณีจะเกิดขึ้นแน่นอนว่า สัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคควรจะได้จะเกิน 150  และเมื่อไปเทียบบัญญัติไตรยางศ์ให้เหลือ 150 ที่นั่ง จำนวนที่นั่งที่ได้โดยรวมกับคะแนนนิยมที่ได้มาก็จะไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องเตรียมตอบคำถามกันไว้

“ปัญหาของความไม่แฟร์ไม่ใช่ตัวหลักแต่เป็นองค์ประกอบต่างๆ อย่างอำนาจของ กกต. ถ้าทำงานอย่างตรงไปตรงมา มีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ และบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกับทุกฝ่าย มีโอกาสว่าการเลือกตั้งจะแฟร์ เพราะ กกต. ถืออำนาจไว้มหาศาล การให้ใบเหลือง ใบส้ม ถ้าทำอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมก็จบ แต่ถ้าไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็มีปัญหาแน่ เพราะอำนาจของสองบัตรนี้เปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะใบส้มที่สามารถเปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เลย ซึ่งจะทำให้คนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งได้”

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนที่ออกแบบระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ ศึกษาและเก็บบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่างละเอียด และออกแบบเพื่อให้ผลการเลือกตั้งตรงข้ามกับครั้งที่แล้วซึ่งเป็นระบบที่นำไปสู่ระบบสองพรรคใหญ่ โดยออกแบบให้ย้อนกลับไปเป็นระบบที่มีพรรคหลายพรรคกระจัดกระจายมากขึ้น แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นไปตามระบบระบบที่ออกแบบเอาไว้ ทำให้ผลมีความไม่แน่นอนสูง

“ในการเลือกตั้ง ฟรีและแฟร์มีองค์ประกอบที่ชัดเจน ถ้าพ้นไปจากนั้น การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมมีอยู่ 2 เทคนิคหลัก คือ โกงแบบงานหยาบ โกงอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน โดยใช้กลไกใดก็ตามเพื่อเพิ่มคะแนนให้ตัวเอง เช่น ยัดบัตร ขโมยบัตร ฯลฯ การจับตาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประชาชนหรือหน่วยงานภายนอกจึงสำคัญ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ โกงแบบงานละเอียด ลงไปที่องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ การออกกฎระเบียบบางอย่างที่ประกอบกันแล้ว มีผลในการบิดกระบวนการเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคบางพรรค สื่อจึงต้องทำการบ้านและนักวิชาการเองก็ต้องมีบทบาทในการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคพวกนี้”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของมาเลเซีย รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทาง เช่น กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันพุธเพื่อให้คนไปใช้สิทธิน้อย ห้ามพรรคของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัดจดทะเบียน ห้ามใช้ภาพมหาธีร์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ออกกฎหมายควบคุมโซเชียลมีเดีย ลดราคาน้ำมันและแจกทุกอย่าง ฯลฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลออกมาตรงข้ามกับที่รัฐบาลต้องการ ประชาชนช่วยกันไปออกเสียง และรัฐบาลพรรค UMNO ก็แพ้อย่างถล่มทลายเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เพราะฉะนั้นต่อให้รัฐบาลควบคุมทุกวิถีทางในการบงการผลการเลือกตั้งแค่ไหน เสียงของประชาชนก็จะเป็นตัวชี้ขาด

“การเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะยังไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ อาจจะต้องรอการเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาระเบียบทางการเมืองใหม่ ว่าถ้าออกจากระบอบอำนาจนิยมแบบสังคมปิด เราจะก้าวไปสู่อะไร หากดูกติกาและพรรคที่อยู่ในระบบตอนนี้ ชัดเจนว่าไม่ว่าฝ่ายไหนชนะมาก็ไม่น่าจะอยู่ครบเทอม 4 ปี จะมีปัญหาขัดแย้งสูงด้วยลักษณะรัฐบาลผสม”

สำหรับเรื่องความรุนแรง ผศ.ดร.ประจักษ์ เผยว่า จากที่ศึกษามารูปแบบความรุนแรงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นกับพรรคการเมือง นักการเมืองและหัวคะแนนด้วยกันเอง ซึ่งสเกลเล็กมาก ที่ผ่านมาการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารจะควบคุมได้ แต่รูปแบบที่น่ากลัวกว่าคือความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง

“เนื่องจากประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยจึงมีรูปแบบให้เราเปรียบเทียบได้ ไทยจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารมา 3 ครั้ง คือ ปี 2500 ใน ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี 2512 ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และปี 2535/1 ของ รสช. ทั้งสามครั้งก็จบไม่ค่อยดีนัก เพราะมีการใช้กลไกรัฐเข้าไปแทรกแซงและเอื้อประโยชน์ จนคนออกมาประท้วงและมีความรุนแรง

ส่วนตัวคิดว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะค่อนข้างขรุขระ ถ้ายังเลือกตั้งโดยมีอำนาจจากคณะรัฐประหารเข้ามาแทรกแซง ก็ยากที่จะฟรีและแฟร์ รัฐบาลจะขาดความชอบธรรม และไปจบที่ความรุนแรงความขัดแย้ง ยกเว้นว่าจะถอยทันในวันนี้ เพราะถ้าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมได้รับการยอมรับจากนานชาติ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อ คสช. เอง”

สุดท้าย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย FFFE รณรงค์เลือกตั้งต้องเสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ กล่าวถึงที่มาและนัยยะของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า อยากให้มองการเลือกตั้งครั้งนี้ในฐานะที่เป็นบทหนึ่งของการขับเคี่ยวกันทางการเมือง ซึ่งตัวหลักคือเครือข่ายอนุรักษนิยมปะทะพลังที่ท้าทาย ถ้ามองย้อนกลับไปกลางปี 2530 – ต้นปี 2540 มีการเฟื่องฟูของกระบวนประชาธิปไตย สิ่งที่เราเรียกว่าสังคมประชามีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็สอดรับกับการทำงานของเครือข่ายอนุรักษนิยมอย่างลงตัว

อย่างไรก็ดี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในเขตชนบท มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้คนโดยเฉพาะในเขตชนบทมองว่า การหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ใช้ทรัพยากรสาธารณะในการตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้

ในระดับประเทศ สมัยทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เป็นครั้งแรกที่ตลาดนโยบายกลายเป็นตัวตัดสินที่สำคัญ แทนการใช้เครือข่ายหัวคะแนนหาเสียงแบบเก่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้นำมาสู่ความท้าทายของเครือข่ายอนุรักษ์นิยมเก่า จนเกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีเป้าหมายมุ่งกำจัดนักการเมืองประชานิยม นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และเกิดกลุ่มเสื้อแดง

หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งและการหวนกลับมาของนักการเมืองประชานิยม เป็นสิ่งที่เรียกว่าการเสียของครั้งที่ 1 เกิดเป็น กปปส. และนำไปสู่รัฐประหารในปี 2557 ซึ่งข้อบังคับคือสุดท้ายต้องกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แต่จะต้องไม่เสียของอีกต่อไป

“จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีหลายสิ่งไม่นำไปสู่การสร้างสังคมการเมืองที่เข้มแข็ง มีการวางกติกาให้มีขนาดเล็กที่สุด และทำให้ไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนผ่านการทำนโยบายที่มัดใจผู้คนได้ จึงเห็นการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำกับอีกที หรือการใช้บัตรให้ ส.ส. เป็นหมายเลขอิสระ เพื่อตัดขาดระหว่างผู้สมัครกับพรรคการเมือง และลดความหมายเสียงของประชาชน ด้วยการให้ ส.ว. มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้  มีกลยุทธ์การตัดกำลังคู่แข่ง ทั้งการดูด อดีต ส.ส. ตัดกำลังพรรคคู่แข่ง มีการใช้คำสั่ง คสช. หัวหน้า คสช. และมาตรา 44 อีกหลายข้อที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคตรงข้ามกับรัฐบาล ทำได้จำกัด เช่น วิธีหาเสียง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล กฎหมายพรรคการเมือง ที่ทำให้พรรคใหม่เกิดขึ้นยาก ประกาศและคำสั่ง กกต. เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ฯลฯ” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เราเสี่ยงที่จะได้ของเสีย คือ หากเขาทำสำเร็จ เราจะได้รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือยึดโยงกับเสียงของประชาชน ได้นโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ชนชั้นนำและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ได้กลไกรัฐและระบบราชการที่ไม่ตอบสนองคนส่วนใหญ่ เจอสังคมแห่งการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ขณะเดียวกัน เราจะเป็นประเทศที่ล้าหลังและเป็นตัวตลกในสายตาชาวโลก เพราะไม่มีชอบธรรมแม้จะชนะ สุดท้ายคือทำให้วิกฤตความขัดแย้งฝังลึกและยาวนานขึ้น

อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่จะได้ของดี คือ เราจำเป็นต้องทำให้เขาสร้างความได้เปรียบได้น้อยที่สุด  ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่ดำเนินนโยบายที่ผลต่อการหาเสียง ไม่ควรผ่านโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลผูกพัน ชะลอเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย หยุดการใช้อำนาจแทรกแซงการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน กกต. ก็ควรทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง และทำให้พลังทางสังคมเข้มแข็ง ร่วมรณรงค์การเลือกตั้งให้มีเสรีและเป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ สุดท้ายคือสร้างสังคมประชาที่เป็นอาณาบริเวณของการเสนอทางเลือกใหม่ให้กับสังคม และโยงใยกับสังคมการเมือง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า