ข่าวสารจุฬาฯ

ประชุมวิชาการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ 4 มหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอผลการดำเนินงานในโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยงานวิจัย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ CU Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ

          รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ  กล่าวรายงานความเป็นมาของเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งดำเนินการมาระยะหนึ่ง และเห็นควรให้มีการนำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์และความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยเพื่อการดำเนินงานขั้นต่อไป จากนั้น ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาฯ กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับมหาวิทยาลัยเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่เป้าหมายของการวิจัยในภูมิภาค และยกระดับงานวิจัยในระดับนานาชาติ  ทั้งนี้ รศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา อ.ดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร และ รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมการประชุมวิชาการด้วย

          การประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กขค.) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาด้วยงานวิจัย” จากนั้นเป็นการเสวนาเกี่ยวกับโครงการวิจัยต่างๆ ดังนี้

          ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ผศ.ดร.ชลธิชา จันทคีรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา : การพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนเมืองภาคตะวันออก” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งกล่าวถึงผลสำเร็จในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบรองรับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานครในชุมชนนำร่อง และพื้นที่เกาะสีชังที่เกิดจากกระบวนการ “การเรียนรู้ไปด้วยกัน” ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพื้นที่ และเรียนรู้จากแนวคิดในโครงการของแต่มหาวิทยาลัย เช่น โครงการ Chula ARI / ไทยอารี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประสบการณ์การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในโครงการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน จากมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งนักวิจัยจาก 2 มหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการร่วมกันในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ 3 ชุมชนในเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อนำไปสู่การขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

          ศ.พรรัตน์ ดำรุง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ อ.ดร.ณัฏฐนันธ์ เอื้อศิลป์ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงโครงการวิจัยเรื่อง “บางแสนสร้างสรรค์ :  เสริมสร้างเมืองให้แข็งแกร่งด้วยศิลปะร่วมสมัยของชุมชน” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  โครงการวิจัยนี้มีการพัฒนามาจากต้นแบบ “สามย่านละลานใจ” ในการสร้างกิจกรรมเทศกาลผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากความรู้ของชุมชนในพื้นที่ โดยนักวิจัยจาก 2 มหาวิทยาลัยจะร่วมกันรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรม “เพลินบางแสน”   

          ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ อ.ดร.นิรมล พรมนิล คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นำเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างคุณค่าร่วมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พื้นที่ยอด-ภูลังกา ชายแดนจังหวัดน่านและพะเยา” ดำเนินรายการโดย อ.ดร.สรคม   ดิสสะมาน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โครงการวิจัยนี้เป็นการนำเสนอการออกแบบพื้นที่การท่องเที่ยวให้กับชุมชนนำร่องในช่วงรอยต่อระหว่างเส้นทางเทศบาลตำบลยอด จังหวัดน่าน และดอยภูลังกา จังหวัดพะเยา และนำไปสู่การพัฒนา web-based GIS Application และสร้างแนวทางการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก

          ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ อ.ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยในภูมิภาคของประเทศไทยกรณีศึกษาเมืองพิษณุโลกบนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มุ่งเน้นการดึงดูดการตั้งถิ่นฐานของประชากรวัยทำงานและส่งเสริมการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.สรคม ดิสสะมาน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

          โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยงานวิจัย เกิดจากความร่วมมือของ 4 มหาวิทยาลัยในประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกัน โดยการจับคู่นักวิจัยต่างมหาวิทยาลัยร่วมกันพัฒนาหัวข้อวิจัยเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของชุมชนและสังคม รวมถึงการเชิญนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อนำความรู้และความสามารถที่หลากหลายของบุคลากรมาแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ได้อย่างตรงประเด็นและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคม ตลอดจนมีการขยายเครือข่ายและตอบโจทย์งานวิจัยร่วมกันเป็นแพลตฟอร์มที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

(ข้อมูลจากสำนักบริหารวิจัย จุฬาฯ)

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า