ข่าวสารจุฬาฯ

ปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อนใหม่วัยเก๋า – บทความโดย ศศินทร์ จุฬาฯ

ในปัจจุบันจำนวนประชากรในกลุ่มผู้สูงวัยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในอนาคตจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สังคมสูงวัย ซึ่งมีโอกาสที่จะกลายไปเป็นวิกฤตในระดับโลก เนื่องจากปัญหาอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงอย่างมาก และดูเหมือนแนวโน้มจะน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ประชากร 1 ใน 6 ของโลกจะเป็นประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และในจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าในปี ค.ศ. 2050 นอกจากนี้ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 2 ใน 3 จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางหรือประเทศกำลังพัฒนาที่รวมถึงประเทศไทยด้วย

เมื่อกล่าวถึง”ผู้สูงวัย” หรือ “สังคมสูงวัย” หลาย ๆ คนอาจจะคิดและมองภาพผู้สูงวัยเหล่านั้นในแง่ลบ เช่น คนที่เกษียณอายุไปแล้ว ไม่มีรายได้ เจ็บป่วย ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือไม่มีศักยภาพที่สามารถทำงานต่อได้ ซึ่งความคิดนี้เป็นการเข้าใจที่ผิดอย่างร้ายแรง มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต้องการและมีความสามารถที่จะทำงานต่อ แต่ต้องถูกให้เกษียณอายุและหยุดทำงานโดยไม่สมัครใจ งานวิจัยของ Bonsang and Klein ในปี ค.ศ. 2012 ระบุว่าการเกษียณอายุโดยไม่สมัครใจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนสูงอายุจำนวนไม่น้อยประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่าผู้ที่เกษียณอายุโดยไม่สมัครใจยังต้องการสร้างรายได้ให้มากกว่านี้ก่อนเกษียณ การเกษียณอายุโดยไม่สมัครใจจึงไม่ต่างอะไรกับการ “ถูกบังคับให้ตกงาน”

อย่างไรก็ตามแทนที่เราจะมองว่าการมีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากในประเทศเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ บทความนี้จึงอยากนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ผู้สูงวัยสามารถเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากประเทศมีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม

จากที่ รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนผู้สูงอายุในการทำงานไว้บนเวที TED 2023: Possibility “Leaping Boldly into New Global Realities” อุปสรรคของผู้สูงอายุที่มีผลต่อการทำงานมีหลัก ๆ อยู่ 3 อย่าง

อย่างแรกคือ อุปสรรคทางด้านร่างกาย สภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ใช้แรงเยอะไม่ได้ ยกของหนักไม่ได้ หรือการต้องยืน นั่ง นาน ๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขได้ เช่นการใช้เครื่องจักรในการช่วยยกของแทน หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงการยืนเดินเวลาที่ต้องยืนเดินนาน ๆ

อย่างที่สองคือ อุปสรรคทางด้านการเดินทางไปทำงาน การเดินทางมาทำงานที่ใช้เวลานาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องระยะทางหรือรถติดก็ตาม ล้วนเป็นอุปสรรคสำหรับทุก ๆ คน ที่ต้องไปทำงานทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้น ปัญหาเรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่มีความรุนแรงมากกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะสภาพร่างกายที่อาจจะนั่งรถนาน ๆ ไม่ไหว หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย ในปัจจุบันเทคโนโลยี Remote Working ได้พัฒนาไปมาก พิสูจน์ได้จากช่วงเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ดังนั้นการปรับความเชื่อที่ว่าผู้สูงอายุหรือคนที่เกษียณไปแล้วไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มาเป็นความเชื่อที่เน้นการนำเทคโนโลยี อย่างเช่น เทคโนโลยี Remote Working มาใช้ จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงานได้จำนวนไม่น้อย

และสุดท้ายคือ อุปสรรคทางสมอง ทางความจำ โดยผู้สูงอายุอาจจะเรียนรู้หรือจำเรื่องใหม่ ๆ ได้ไม่รวดเร็วเท่ากับคนรุ่นใหม่ แต่ผู้สูงอายุยังคงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เยอะกว่า ทำไมเราไม่ลองใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจำหรือช่วยแนะนำวิธีการทำงาน เพื่อให้ผู้สูงวัย ได้โฟกัสไปที่การใช้ทักษะและประสบการณ์ทางด้าน      อื่น ๆ ในการทำงานแทน

โดยในบทความนี้ผู้เขียนจะเน้นบทบาทของเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า Cognitive augmentation technology หรือ “AI เพื่อนใหม่ (ทางสมอง) ของวัยเก๋า”

Cognitive augmentation technology เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมในด้านความรู้ความเข้าใจ ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องงานและชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้าน อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าหนึ่งในพลังที่ผู้สูงอายุมีมากกว่ากลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่คือเรื่องของความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ รวมถึงความชำนาญที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน หากมีการใช้เทคโนโลยีด้าน Cognitive เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุก็จะยิ่งเป็นการทำให้พลังในด้านนี้ของผู้สูงอายุเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่จัดเป็น cognitive augmentation ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ Artificial Intelligence หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า AI

มีหลายคนให้คำนิยาม AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ แตกต่างกัน Alan Turing ผู้บุกเบิกวงการ AI ได้ให้คำนิยามของปัญญาประดิษฐ์ไว้ว่า “ปัญญาประดิษฐ์ คือศาสตร์แห่งวิศวกรรมในการสร้างคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ โดยเฉพาะการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถวางแผน หาเหตุผล เรียนรู้ รับรู้ และสร้างมุมมองความรู้ และสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

McKinsey & Company ได้ให้นิยามไว้ว่า “AI คือ ความสามารถของเครื่องจักรในการแสดงออกถึงสติปัญญาเหมือนมนุษย์ เช่น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ที่ถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียด แต่เรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากการหารูปแบบภายใต้ข้อมูลจำนวนมาก” ซึ่งในปัจจุบัน AI ได้มีการใช้งาน

อย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการช่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือ AI ช่วยถามตอบปัญหา ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวคิดที่สามารถนำ AI เข้ามาช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ในหลาย ๆ ด้านดังต่อไปนี้

แนวคิดแรกคือ  AI Information Companion หรือเพื่อนคู่คิดด้านข้อมูล

โดยอาจจะเป็น AI ถามตอบง่ายๆที่คอยตอบคำถามในด้านที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เราสงสัย การที่มี AI เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดให้ผู้สูงอายุถามคำถามและช่วยแก้ไขปัญหาได้ในทันทีจึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ AI ที่เป็น AI information companion ยังสามารถให้คำแนะนำและแนวทางในการเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การแนะนำการอ่านหนังสือหรือบทความที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ หรือแนะนำการอ่านข่าวสารที่เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายที่เหมาะสม ข้อดีของ AI ตัวนี้ในมุมมองของผู้สูงอายุคือ สามารถแก้ไขเรื่องที่ผู้สูงอายุตามเทคโนโลยีไม่ทัน หรือใช้เทคโนโลยีบางประเภทไม่เป็น และ สามารถแก้ปัญหาที่บางคนอาจจะมีความกลัวหรือเกรงใจที่จะถามผู้อื่นได้

แนวคิดที่สองคือ AI Tutor หรือการมี AI เป็นผู้ช่วยในการเรียน

แม้ว่าในปัจจุบัน การเรียนโดยมี Tutor (ที่เป็นคนจริง ๆ) สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นจากการเรียนผ่านระบบ online อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนจากการใช้ Tutor ที่เป็นคนจริงๆ มาเป็น AI แทน ข้อดีคือ ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการเรียนรู้ โดยที่บางคนอาจจะมีความเกรงใจหรือมีความกลัวที่จะถามคนจริง ๆ นอกจากนี้ เนื่องจากเทคโนโลยี AI Tutor มีความสามารถในการปรับรูปแบบการเรียนและคำแนะนำที่ปรับตามความต้องการและสถานะการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องเข้ากับวิธีการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล รวมทั้งการให้ AI ได้เรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพหลายๆแหล่ง ทำให้คุณภาพของเนื้อหาที่เรียนจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น AI Khanmigo ของทาง Khan Academy ที่ถูกออกแบบมาให้เป็น AI Tutor มีหน้าที่ตอบคำถามที่ผู้เรียนสงสัย แต่แทนที่จะให้คำตอบกับผู้ถามไปตรง ๆ เลย AI Khanmigo จะใช้วิธีค่อยๆแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจไปพร้อมกับการเฉลยปัญหานั้น ๆ

แนวคิดที่สาม คือ AI Coach หรือโค้ชเสมือนจริง

ผู้สูงอายุหลายๆคนอาจจะมีปัญหาเรื่องขี้หลงขี้ลืม ถ้ามีโค้ชซักคนคอยช่วยให้คำแนะนำในด้านการดูแลสุขภาพ ช่วยเตือนเรื่องการใช้จ่ายเงิน การพัฒนาตนเอง ก็คงจะดีไม่น้อย เป็นการเพิ่มพลังทางจิตใจ เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ช่วยผลักดันให้ผู้สูงวัยสามารถเปลี่ยนแนวคิดที่จากเดิมอาจจะไม่อยากพัฒนาตนเองแล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่จะเกษียณ เพื่อให้ผู้สูงวัยนั้นได้เป็นผู้สูงวัยที่ทรงพลัง ตัวอย่างเช่น Start up ที่ชื่อว่า CarePredict ที่ก่อตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามพฤติกรรมของผู้สูงอายุในด้านความเป็นอยู่ใน

ชีวิตประจำวัน และทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้สูงอายุท่านอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนว่ามีพฤติกรรมใดที่ผิดไปจากปกติหรือไม่

แนวคิดสุดท้ายคือ AI Life Companion ผู้ช่วยทางด้านจิตใจ

จากปัญหาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุจากสาเหตุที่คิดว่าตนเองไร้ค่า เบื่อหน่ายกับชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่ปัญหาที่หลายๆประเทศกำลังเผชิญ การใช้ AI ที่เป็นผู้ช่วยทางด้านจิตใจไม่เพียงแต่อยู่ในเรื่องของการช่วยดูแลร่างกายของผู้ใช้ แต่ยังเป็นผู้ช่วยทางจิตใจที่สามารถเสนอคำปรึกษา คำแนะนำ และการสนับสนุนในเรื่องของสุขภาพจิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่ผู้สูงอายุรู้สึกเหงา โดดเดียว หรือเครียด เช่นการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีเพื่อนพูดคุยด้วย ไม่มีการเข้าสังคม

หลาย ๆ คนเมื่อพูดถึงเทคโนโลยี AI มักจะคิดภาพว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการทำงานของกลุ่มคนหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วพลังของกลุ่มคนสูงอายุนั้นจะไม่ได้เน้นไปที่ทาง physical หรือทางกายภาพ แต่ผู้สูงอายุจะมีความรู้และความเข้าใจในด้านสติปัญญา (บางด้าน) ที่มากขึ้นตามอายุ ไม่ได้ถดถอยไปเหมือนสภาพร่างกาย ในอนาคตผู้สูงวัยทั่วโลกจะมีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ หากเรามีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ โดยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการให้ความรู้ที่มากพอ ผู้สูงอายุก็จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยจะเป็นทรัพยากรที่มีทั้งความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ อยากให้ทุกคนลองมาช่วยกันคิดใหม่เรื่องที่อยากให้ผู้สูงอายุหยุดทำงาน และอยู่บ้านเฉย ๆ เปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนให้ผู้สูงอายุลองใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน เพื่อให้การก้าวไปสู่สังคมสูงวัยเป็นการก้าวสู่สังคมสูงวัยที่ทรงพลัง ที่สามารถทำให้ผู้สูงวัยเป็นกำลังพลที่สำคัญ ทั้งยังสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราได้ต่อไป

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า