ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “Cutting-edge Nanotechnologies for Good Health and Well-being”“นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ในการบำบัดรักษามะเร็ง”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องCutting-edge Nanotechnologies for Good Health and Well-being” นำเสนอนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ระหว่างวันที่ 9 – 12 กรกฎาคม 2567 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ 

ปัญหาสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งคือผลข้างเคียงจากการรับยาเคมีบำบัดหรือคีโม วงการแพทย์จึงพยายามค้นหาวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ผลข้างเคียงต่ำความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน นอกจากการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell แล้ว ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้นาโนเทคโนโลยีแบบพุ่งเป้าร่วมกับการบำบัดด้วยแสง (photodynamic therapy) ภายใต้โครงการวิจัย “OXIGENATED” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก the Horizon 2020 Marie Skłodowska-Curie Actions (MSCA) Research and Innovation Staff Exchange (H 2020-MSCA-RISE) ซึ่งนำเสนอผลการวิจัยในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้

โครงการวิจัย OXIGENATED เป็นการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้อนุภาคนาโนพาออกซิเจนแบบพุ่งเป้าไปยังเซลล์มะเร็งและกระตุ้นการฆ่าเซลล์มะเร็งแบบเฉพาะจุดด้วยแสง มี ผศ.ดร.ชาญชัย บุญหล้า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับทุนดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2562 – 2567 เป็นการกำจัดเซลล์มะเร็งเฉพาะจุด ช่วยลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงของผู้ป่วยในกระบวนการรักษาได้สูง นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยอีก 2 โครงการที่ได้รับทุนจาก H 2020-MSCA-RISE ได้แก่ โครงการ SUPRO-GEN ซึ่งมี ศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งโครงการวิจัยจะดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2569 และโครงการ THERABOT ซึ่งจะเริ่มศึกษาวิจัยในปี 2568 เป็นการวิจัยทางเลือกโดยใช้แบคทีเรียในการยับยั้งและกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยมี ผศ.ดร.ณัฐธิดา โชติช่วง ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะ วิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ

การประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Cutting-edge Nanotechnologies for Good Health and Well-being” เป็นงานรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการแพทย์ นักวิจัย เภสัชกร และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกที่ทำงานด้านการบำบัดรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้เกิดโอกาสและเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ บริษัท สตาร์ทอัพ องค์กรภาครัฐและเอกชนชั้นนำ พิธีเปิดการประชุมนานาชาติในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ มี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ จากนั้นเป็นการกล่าวนำก่อนเริ่มการประชุมโดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ฯพณฯ นายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด (H.E. Mr. Felipe de la Morena Casado) เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ร่วมด้วย ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ ดร.เซอจิโอ โมญา (Dr. Sergio Moya) ผู้รับผิดชอบโครงการ OXIGENATED

ผศ.ดร.ชาญชัย บุญหล้า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย MSCA-RISE OXIGENATED ซึ่งนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้กล่าวถึงนวัตกรรมนี้ว่าเป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ เป็นเทคโนโลยีระบบการขนส่งยามะเร็งและออกซิเจนไปยังเซลล์มะเร็งเป้าหมาย โดยการใช้สารนำพาโปรตีนนาโนที่มีฮีโมโกลบินเป็นตัวพาออกซิเจนและสารเร่งปฏิกิริยาความไวของแสง เมื่อโปรตีนนาโนนี้ไปถึงบริเวณที่เป็นมะเร็งและทำการฉายแสงลงไป สารนี้จะแตกออกเป็นอนุมูลอิสระและสามารถกำจัดมะเร็งได้ ทำให้การบำบัดรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองวิจัยในหลอดทดลองและหนูทดลอง และมีแผนจะทำการวิจัยในคนในอนาคตอันใกล้นี้

            นอกจากนี้ ในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ยังมีการจัดงาน SPAIN-THAILAND INNOVATION FORUM ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ ห้อง Ballroom A ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ โดยในปีนี้มีการขยายความร่วมมือการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบไทยและสเปน ไปสู่การพัฒนา Nano Medicine ภายใต้หัวข้อ “Harnessing the Potential of NANOTECHNOLOGY: FUTURE HEALTH, PERSONALIZED MEDICINE AND WELLBEING” โดยได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Felipe DE LA MORENA เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย และ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเปิดงาน 

            ติดตามกิจกรรมต่างๆ ภายในงานได้ที่ https://www.chula-oxigenated2024.com/spain-thailand-innovation-forum/

            จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขอบคุณทุกการสนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรมการบำบัดรักษามะเร็งอย่างก้าวกระโดด ทั้งความร่วมมือจาก

  • Center for the Technological Development and Innovation (CDTI) ภายใต้ Ministry of Science, Innovation and Universities ประเทศสเปน
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
  • The Spanish Agency for International Development Cooperation (AECID)
  • สํานักงานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค.
  • สหภาพยุโรป
  • Marie Skłodowska- Curie Actions
  • The Centre for Cooperative Research in Biomaterials-CIC biomaGUNE

ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพัฒนางานวิจัยรักษามะเร็ง สามารถติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.ชาญชัย บุญหล้า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อีเมล chanchai.b@chula.ac.th และ ผศ.ดร.ณัฐธิดา โชติช่วง ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อีเมล nattida.@chula.ac.th

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า