ข่าวสารจุฬาฯ

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ จับมือ สสส. จัดงานแถลงข่าวโครงการ Thai Mind Awards เปิดรับสมัครองค์กรเข้าร่วมการคัดเลือกรางวัลสุดยอดองค์กรเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ  จัดงานแถลงข่าว“การคัดเลือกรางวัลสุดยอดองค์กรเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)” ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาฯ (CU Social Innovation Hub) อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต ด้วยความมุ่งหวังผลักดันให้องค์กรทุกระดับเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต และคัดเลือกองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะ โดยมี ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวครั้งนี้

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประธานเปิดงาน

ในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “การเข้าร่วมการคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต Thai Mind Awards” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศ.ดร.คณพล จันทร์หอม ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในการทำงานในบริบทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในองค์กร ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวถึงสุขภาพจิตคนทำงานและองค์กรในยุคดิจิทัล อ.ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต กล่าวถึงผลการสำรวจสุขภาวะของคนทำงานและปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรและ ผศ.ดร.ประพิมพา จรัสรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต และโครงสร้างการวัดผลองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการ “Thai Mind Awards” เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. กับคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ที่ได้ร่วมมือกันผ่านการสนับสนุนทุนการดำเนินงานและทุนวิจัยในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต ปัจจุบันพบว่าสถานที่ทำงานเป็นแหล่งที่สร้างความเครียดและสุขภาพจิตทางลบให้แก่พนักงาน  จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น และมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยทำงาน ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าสาเหตุุหลักของการฆ่าตัวตายในกลุ่มคนทำงานมาจากปัญหาความเครียดสะสมเรื่องงาน เศรษฐกิจ และครอบครัว ดังนั้นการประเมินสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต Thai Mind Awards ในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการสำรวจและเฟ้นหาองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตของพนักงาน มีการสร้างระบบงานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาด้านจิตใจของคนทำงาน เพื่อที่จะขับเคลื่อนและสร้างองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะที่ดีของสังคมไทย และเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจในการพัฒนาด้านสุขภาวะของคนทำงานต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตของทั้งนิสิต อาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ เพราะการทำงานไม่ได้มีเพียงแค่ฝ่ายบริหารที่เป็นผู้กำหนดความก้าวหน้าและการเติบโตขององค์กร แต่บุคลากรทุกคนคือฟันเฟืองที่จะนำพาให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับสุขภาวะของบุคลากรทั้งด้านกายภาพและจิตใจจึงมีความสำคัญมาก เหมือนเป็นการหยอดเติมน้ำมันให้กับฟันเฟืองขององค์กรให้มีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ  โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ยิ่งต้องทำให้พนักงานตระหนักว่าการมีสุขภาวะทางจิตในการทำงานที่ดีซึ่งจะสามารถทำให้องค์กรของเราก้าวไปข้างหน้า

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ AI กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดความเครียดในการทำงานที่เพิ่มขึ้น เสมือนสภาพจิตใจของพนักงานนั้นถูกมองข้ามไป ดังนั้นเทคโนโลยีเป็นเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและมีข้อเสีย หากองค์กรต่างไม่พร้อมรับมือจะทำให้ล้มเหลวในการบริหารดูแลสุขภาวะทางจิตของพนักงาน เป้าหมายของงาน Thai Mind Awards จึงไม่ได้มุ่งหวังไปที่องค์กรผู้ชนะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ทุกหน่วยงานเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาวะทางจิตของพนักงานที่เพิ่มขึ้น             

ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า ที่ ETDA มีความต้องการให้พนักงานเน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำงานมากขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับเจอผลลัพธ์ในทางลบ โดยพบว่าการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้พนักงานมีความเครียดสะสม ยกตัวอย่างเช่น การทำงาน Work from home ที่สะดวกก็จริง ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนทำงานหนักมากขึ้น และอยู่กับงานในระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมานั่งตีความในมุมมองใหม่เพื่อหากลยุทธที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้เกิด Productivity และไม่ไปทำลายสุขภาวะทางจิตของพนักงาน

อ.ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ได้รายงานผลการสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน และปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร โดยระบุว่าในปัจจุบันพนักงานมีภาวะที่เรียกว่า Presenteeism หรือภาวะการณ์ฝืนทำงานแม้มีความเจ็บป่วยทางร่างกายสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้คนเลือกที่จะฝืนทำงาน ได้แก่ ความคิดที่ว่าไม่มีใครสามารถทำงานที่รับผิดชอบแทนเราได้ ความจำเป็นทางด้านการเงิน หรือกลัวการถูกประเมินไม่ดีจากหัวหน้า ตลอดจนความรู้สึกที่ว่ายังทำไหวอยู่ และไม่ได้เป็นมากพอที่จะต้องหยุดทำงาน จากการสำรวจมุมมองของคนทำงานพบว่านโยบายที่พนักงานคิดว่ามีความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงานนั้น ได้แก่ การเพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือการจัดอบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ การเพิ่มสวัสดิการการลาและการพักผ่อน ด้านการส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน  การสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร และการเพิ่มสวัสดิการค่าตอบแทน ค่าอาหาร และโบนัส

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาหลายองค์กรมักเข้าใจผิดคิดว่าการดูแลพนักงานที่ดีคือการดูแค่พนักงานร่างกายไม่เจ็บป่วยหรือได้รับเงินเดือนที่เพียงพอ ในความเป็นจริงแล้วองค์กรที่ดีควรต้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical environment) และสิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ (Psychological environment) ของพนักงานควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีต้องประกอบไปด้วยมิติทั้ง 5 ด้านของ GRACE ประกอบด้วย G = Growth & Development หรือการสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน R = Recognition หรือการแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน A = All for inclusion หรือการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน C = Care for health & safety หรือการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และ E = work-life Enrichment หรือการมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หากองค์กรสามารถดูแลทั้ง 5 ด้านของ GRACE ให้พนักงานได้จะเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้ต่อไป

สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” (Thai Mind Awards) สามารถส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดได้ที่ https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_eDKHjhhzzZV1I2i  ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่  15 กันยายน 2567  รับจำนวนจำกัดเพียง 50 องค์กรเท่านั้น โดยคณะจิตวิทยา จุฬาฯ จะทำการคัดเลือกผู้ชนะ 5 องค์กรที่มีความโดดเด่นในมิติด้านต่าง ๆ ของ GRACE และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรและได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเองที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาและการบริหารทรัพยากรมนุษย์  

ทั้งนี้องค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะทั้ง 5 องค์กร จะได้รับถ้วยรางวัล Thai Mind Awards และประกาศนียบัตร พร้อมได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในงานมอบรางวัล Thai Mind Awards ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับองค์กรชั้นนำ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต ตลอดจนยังจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวขององค์กรผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานทุกองค์กรได้ต่อไป

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า