ข่าวสารจุฬาฯ

อาจารย์จุฬาฯ คว้ารางวัลจากสหประชาชาติ UNPSA 2024 สาขานวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐ นำความรู้ทางวิชาการสู่การป้องกันโรคระบาดอย่างรวดเร็ว

อ.ดร.จตุวัฒน์ แสงสานนท์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ United Nations Public Service Awards (UNPSA) สาขานวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐ ประจำปี 2024 จากผลงานนวัตกรรม “การนำความรู้ทางวิชาการมาใช้เพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคระบาด” (Academic Insight into Action for Pandemic Response) ในงาน United Nations Public Service Forum and Awards Ceremony เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศเกาหลีใต้

“โรคระบาด เป็นโรคติดต่อที่มีการแพร่กระจายของโรคติดเชื้ออย่างรวดเร็วในวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลาสั้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขที่จะต้องเร่งรับมือและดำเนินการเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้เร็วที่สุด หนึ่งในโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ อ.ดร.จตุวัฒน์ แสงสานนท์ คิดค้นนวัตกรรมในการใช้ความรู้ทางวิชาการเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในประเทศไทย โดยใช้การตรวจวัดน้ำเสียเป็นข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจและแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนการระบาดจริง

 ความสำคัญของกระบวนการระบาดวิทยาน้ำเสีย

กระบวนการระบาดวิทยาน้ำเสียเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามการระบาดของโรค ซึ่งช่วยให้การป้องกันการระบาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถใช้ในการแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนการระบาดจริงและลดค่าใช้จ่ายในการติดตามโรค นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจหาสารเสพติดในน้ำเสียเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสารเสพติดได้ด้วย

อ.ดร.จตุวัฒน์ แสงสานนท์ เปิดเผยว่า การตรวจวัดน้ำเสียเป็นวิธีการที่สะท้อนจำนวนผู้ป่วยในชุมชนได้อย่างแม่นยำ ทำให้การป้องกันโรคระบาดเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการนำความรู้ทางวิชาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน รางวัล UNPSA สาขานวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐ ประจำปี 2024 ที่ได้รับเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จและความสำคัญของงานวิจัยนี้ในวงการสาธารณสุขไทย นอกจากนี้ นวัตกรรมนี้ยังเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในข้อ 3 เรื่องการมีสุขภาพที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย และ SDGs ข้อ 6 เรื่องการจัดการน้ำและสุขาภิบาลให้มีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย

นวัตกรรมจากการผนึกความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด

อ.ดร.จตุวัฒน์ อธิบายว่า ปกติแล้วการตรวจสอบการระบาดของโรคจะต้องรอให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลก่อน จากนั้นจึงดำเนินการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและประเมินแนวโน้มการระบาดของโรค ซึ่งวิธีการนี้มีข้อจำกัดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือมีการเก็บข้อมูลที่ไม่เพียงพอ นวัตกรรม “การนำความรู้ทางวิชาการมาใช้เพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคระบาด” เป็นการนำวิธีการตรวจวัดน้ำเสียมาดูความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนเชื้อโรคกับผู้ป่วยที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถประเมินการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น และช่วยในการตัดสินใจเพื่อป้องกันการระบาดของโรคได้รวดเร็วกว่าเดิม นวัตกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหน่วยงานภาครัฐ

กระบวนการวิจัยเริ่มจากการพิสูจน์แนวคิดเรื่องการระบาดของโรคโดยใช้การตรวจวัดน้ำเสีย โดยเก็บตัวอย่างน้ำเสียจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร พบว่าในช่วงโควิด-19 สามารถแจ้งเตือนการระบาดของโรคนี้ได้ล่วงหน้าถึง 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงได้ขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และมีการใช้ตรวจสอบเชื้ออื่นๆ มากขึ้น การใช้ข้อมูลนี้แจ้งเตือนการระบาดของโรคล่วงหน้าได้จะทำให้สามารถเตรียมการป้องกันโรคระบาดได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  

นวัตกรรมที่นำไปใช้จริงเพื่อป้องกันโรคระบาดในอนาคต

อ.ดร.จตุวัฒน์ เผยว่า นอกจากการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในการป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายโรค เช่น โรคฝีดาษลิง โรคระบบทางเดินอาหาร และ โรคไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตามโรคระบาดและให้ข้อมูลสนับสนุนที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรทางสาธารณสุขในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาการป้องกันโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันกำลังต่อยอดพัฒนางานวิจัยเพื่อใช้กับโรคระบาดอื่นๆ และสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามและป้องกันโรคระบาด รวมถึงการใช้ข้อมูลจากน้ำเสียเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสและการระบาดของโรคต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาวัคซีนและการป้องกันโรคระบาดในอนาคต

รางวัล UNPSA จัดตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Economic and Social Council) เป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับความเป็นเลิศในการบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และสร้างคุณประโยชน์บริการสาธารณะ นำไปสู่การบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองประชาชนได้ดีขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับวาระและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศของงานวิจัยและนวัตกรรมจากประเทศไทย ที่สามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้อย่างทัดเทียม

 ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัล UNPSA ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=3cGuzxlGdY8

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานของอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้ที่

https://publicadministration.un.org/unpsa/database/Winners/2024-winners/Academic-Insight-into-Action-for-Pandemic-Response


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า