ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ ร่วมจัดนิทรรศการวันแม่แห่งชาติ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กพิเศษผ่านศิลปะบำบัด สะท้อนความรักจากลูกที่มีต่อ “แม่ ผู้พิเศษ”

สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมออทิสติกสามัคคีไทย และ MBK Center จัดนิทรรศการ “แม่ผู้พิเศษ” เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2567 ณ Meeting Point ชั้น G โซน A ศูนย์การค้ามาบุญครอง เมื่อวันที่ 11 – 16 สิงหาคมที่ผ่านมา



นิทรรศการ “แม่ ผู้พิเศษ” จัดแสดงผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินเด็กพิเศษ ผ่านการเรียนศิลปะบำบัดซึ่งเป็นการใช้ศิลปะเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและความสามารถของเด็กพิเศษ ผลงานศิลปะทุกชิ้นแสดงถึงความรักและความผูกพันระหว่างลูกกับแม่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนิทรรศการนี้ นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรี CU Chamber โดยนิสิตจุฬาฯ  และกิจกรรมศิลปะบำบัดให้ผู้เข้าชมงานได้มีส่วนร่วม


กิติยา คลังเพ็ชร์
นิสิตเก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

            กิติยา คลังเพ็ชร์ นิสิตเก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินเด็กพิเศษ ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นผลจากการเรียนศิลปะบำบัดที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการและศักยภาพของเด็กพิเศษ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำการแสดงดนตรีจากนิสิตจุฬาฯ บรรเลงบทเพลงไพเราะสร้างความสุขให้ผู้ชมนิทรรศการครั้งนี้วันละ 2 รอบ

            ผลงานศิลปะโดยศิลปินเด็กพิเศษในนิทรรศการครั้งนี้ผ่านการคัดเลือกโดยไม่ได้มองเพียงความสวยงามของภาพวาดเท่านั้น เพราะศิลปะของเด็กทุกคนมีความหมายและคุณค่าในตัวเอง เมื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการจะสะท้อนความบริสุทธิ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเด็กๆ ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ ผลงานศิลปะที่เด็กพิเศษได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความพยายามและความรัก ทำให้ผู้ชมรู้สึกทึ่งในความสามารถและความมุ่งมั่นของเด็กๆ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการสร้างสรรค์งาน ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของเด็กพิเศษเหล่านี้

            “โครงการนี้มีส่วนทำให้สังคมรับรู้และเข้าใจในศักยภาพของเด็กพิเศษ บางครั้งผู้ปกครองหรือคนทั่วไปอาจไม่แน่ใจว่าเด็กพิเศษจะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่เมื่อเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออก จะเห็นได้ว่าศักยภาพของเด็กๆ นั้นมีมากมายเกินกว่าที่เราคาดคิด โครงการนี้จึงมีความสำคัญในการสร้างโอกาสและแสดงให้สังคมเห็นว่าเด็กพิเศษก็สามารถพัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมในสังคมได้” กิติยากล่าวถึงคุณค่าของโครงการนี้


ครูเอ๋ ดร.อรุโณทัย ไชยช่วย
นิสิตเก่าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

            ครูเอ๋ ดร.อรุโณทัย ไชยช่วย นิสิตเก่าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผู้มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอนศิลปะบำบัด ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการฝึกและสร้างอาชีพให้ศิลปินเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมออทิสติกสามัคคีไทยและศูนย์ฝึกการเรียนรู้ต่างๆ เปิดเผยว่า กิจกรรมบำบัดโดยใช้ศิลปะ ไม่ได้มุ่งเน้นที่ความสวยงามของผลงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของอารมณ์และความรู้สึกของเด็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นภาพวาดที่เหมือนจริง แต่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านสี รูปร่าง และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เด็กได้สร้างขึ้น

            ครูเอ๋เผยถึงวิธีการสอนศิลปะแก่เด็กพิเศษจะเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับเด็กแต่ละคน เพื่อเข้าใจถึงศักยภาพและความถนัดของพวกเขา เด็กบางคนอาจจะเก่งในการวาดภาพ ขีดเขียน หรือการประดิษฐ์งานศิลปะอื่นๆ จากนั้นจะใช้สิ่งที่เด็กถนัดนี้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดและความรู้สึก โดยเฉพาะในนิทรรศการ “แม่ ผู้พิเศษ” จะเน้นให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึกต่อแม่ผ่านงานศิลปะของพวกเขา

            “ศิลปะบำบัดช่วยให้เด็กมีสมาธิและสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น ความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบที่เด็กได้แสดงออกผ่านศิลปะนี้ ทำให้พวกเขาเกิดสภาวะสงบและนิ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็กต่อไป”

            ครูเอ๋ได้ฝากคำแนะนำแก่ผู้ปกครองในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและปรับเปลี่ยนอารมณ์ของเด็ก แทนที่จะใช้การตำหนิหรือต่อว่า การสนับสนุนจากผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นใจและพัฒนาการที่ดีของเด็ก


ภัทราวดี เจษฎาคม (น้องเมย์)
ศิลปินเด็กพิเศษ  

            ภัทราวดี เจษฎาคม (น้องเมย์) ศิลปินเด็กพิเศษ  เผยความรู้สึกที่ได้มีส่วนร่วมแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ว่า โครงการนี้ได้มอบความรู้และเปิดโอกาสให้ได้พบเพื่อนใหม่ ได้เพลิดเพลินกับการวาดรูประบายสีซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกมาก ทำให้ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างเต็มที่ น้องเมย์ชอบวาดรูปวิวโดยเฉพาะท้องฟ้าและพื้นน้ำ นอกเหนือจากการวาดรูปยังได้ทำกิจกรรมการร้อยลูกปัดซึ่งช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เธอหวังว่าจะมีการจัดโครงการนี้อีกในอนาคต และพร้อมจะมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทุกๆ ปี



จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า