รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
2 ตุลาคม 2567
ข่าวเด่น, ความภูมิใจของจุฬาฯ
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 2567 เป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจสำหรับบัณฑิตจุฬาฯ ที่สานฝันทางการศึกษาจนประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งของบัณฑิตจุฬาฯ ปีนี้ได้เผยถึงความประทับใจในรั้วจามจุรีและวันรับปริญญาที่น่าชื่นชมยินดี พร้อมฝากข้อคิดและคำแนะนำที่มีค่าต่อนิสิตและบัณฑิตรุ่นต่อไป เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จในอนาคต
พระมหาอนุกูล เงางาม อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตจุฬาฯ สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ บัณฑิตพระภิกษุที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากจุฬาฯ ในปีนี้เป็นปีแรก เปิดเผยว่า การศึกษาระดับปริญญาเอกที่จุฬาฯ เป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องจากระดับปริญญาโทในคณะและสาขาเดียวกันนี้ รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ การเรียนในสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีลักษณะที่เปิดกว้างและแตกต่างจากการเรียนการสอนในวัดซึ่งเป็นแบบจารีต ประทับใจอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ที่ทุ่มเทกับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ ได้รับความสะดวกในการบริการในห้องสมุดของคณะและหอสมุดกลาง โดยผลงานดุษฎีนิพนธ์ในระดับปริญญาเอกเป็นการศึกษาเรื่อง“งานนิพนธ์ทีปนีของพระสิริมังคลาจารย์และความสัมพันธ์กับงานนิพนธ์ของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร)” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวรรณคดีบาลี สันสกฤต และงานพุทธศาสน์ศึกษาในอนาคต
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบัณฑิตที่เป็นพระสงฆ์มาหลายรุ่นแล้ว แต่ยังไม่มีแนวปฏิบัติในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงเห็นสมควรให้พระสงฆ์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้เป็นปีแรก และได้มอบหมายให้คณะกรรมการอำนวยการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวางแนวทางในการรับพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับพระสงฆ์ขึ้น กำหนดจัดพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับบัณฑิตที่เป็นพระภิกษุในวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567 ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาฯ
เขมสรณ์ หนูขาว ดุษฎีบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ผู้ประกาศข่าวรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจมากที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ สถาบันการศึกษาที่เธอใฝ่ฝันอยากเข้ามาเรียน ประทับอาจารย์ทุกท่านที่มีความเมตตาและทุ่มเทให้กับนิสิตอย่างแท้จริง การเรียนในระดับปริญญาเอกของเธอประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังด้วยความมีวินัยและความตั้งใจจริง โดยแบ่งเวลาจากการทำงานอ่านข่าวทุกวันให้กับการเรียน อ่านหนังสือทบทวน รวมถึงการทำดุษฎีนิพนธ์ เขมสรณ์ฝากข้อคิดสำหรับนิสิตจุฬาฯ ขอให้ทุกคนภูมิใจที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรั้วจามจุรีได้ เมื่อก้าวเข้ามาแล้วก็ขอให้ใช้โอกาสนี้สร้างความสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้ประสบความสำเร็จ อยากให้ทุกคนแสวงหาความรู้ควบคู่ไปกับการสร้างมิตรภาพและมองหากัลยาณมิตรที่ดี เพราะความมีน้ำจิตน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะสร้างความผูกพันประทับใจมิรู้ลืมตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในจุฬาฯ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังจะนึกถึงกันเสมอ
สยม สังวริบุตร ดุษฎีบัณฑิตคณะครุศาสตร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น กล่าวว่า การสำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องยืนยันถึงความพยายามและการฝ่าฟันทุกอุปสรรคด้วยความมุ่งมั่น จนสามารถสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ ผลงานดุษฎีนิพนธ์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ถือเป็นโอกาสในการสร้างผลงานที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ทำให้พวกเขามีความมั่นใจและเข้าใจในตนเองมากขึ้น รู้สึกภูมิใจและขอบคุณทุกคนที่ช่วยสนับสนุนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นเสมือนเข็มทิศนำทางให้ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้อย่างดี
ศิริกัญญา ติยะเจริญศรี ดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมผู้ประกอบการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ (CU TIP) Senior Real Estate and Market Planning Manager บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด เผยว่า ภูมิใจมากที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสมความตั้งใจ ดีใจที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ ทั้ง 3 ปริญญาในระดับปริญญาตรี โท และเอก เป็นแบบอย่างที่สะท้อนให้สังคมได้เห็นว่าการศึกษาในจุฬาฯ นั้นมีความพร้อมในหลายมิติและไม่แพ้ชาติใดในโลก ประทับใจจุฬาฯ ที่เพียบพร้อมด้วยคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ สร้างให้ตนเป็นบุคคลที่มีความพร้อมในการนำความรู้ไปใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และทำประโยชน์ต่อสังคม เผยแพร่เกียรติภูมิจุฬาฯ ให้ดำรงคู่ประเทศชาติสืบไป ส่วนการเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นจะเน้นในเรื่องการจัดสมดุลในด้านต่าง ๆ ให้กับชีวิต รวมถึงการเลือกเรียนในหลักสูตรที่ชื่นชอบ การตั้งผลลัพธ์ปลายทางที่มีประสิทธิภาพ และการวัดระดับความสุขของตนเองอยู่เสมอ
ผศ.จุติพร ปริญโญกุล ดุษฎีบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เผยความรู้สึกที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ ว่า ภาคภูมิใจที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาในวันนี้ จุฬาฯ ไม่เพียงแต่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการรับใช้สังคม นอกจากนี้คณาจารย์จุฬาฯ ยังเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ถือเป็นเกียรติของชีวิตที่ได้รับความรู้จากคณาจารย์ที่มีความสามารถในระดับชาติและนานาชาติ บรรยากาศของจุฬาฯ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในทุกมิติ พร้อมเพรียงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการแสวงหาความรู้ รวมทั้งการดูแลและให้บริการเป็นอย่างดีของบุคลากรจุฬาฯ การเรียนให้ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับใดก็ตามต้องอาศัยความเพียรพยายาม และอุตสาหะเพื่อเอาชนะอุปสรรคไปให้ได้ ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้รับจากจุฬาฯ ไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่น และพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อรับใช้สังคม สมดังคำกล่าวที่ว่า “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”
อุษา ประชากุล ดุษฎีบัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ (แฟชั่นและสิ่งทอ) ผู้สร้างสรรค์ “นวัตกรรมสิ่งทอหมุนเวียนจากเศษเหลือทิ้งเปลือกทุเรียน” ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นผลงานนวัตกรรม สายอุดมศึกษา ปี 2567 เผยว่า การเรียนปริญญาเอกที่จุฬาฯ ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้และไขทุกคำถามที่ตนมี อีกทั้งยังได้มิตรภาพดี ๆ อีกด้วย การเรียนให้ประสบความสำเร็จเริ่มจากความสนใจด้านแฟชั่นตั้งแต่การเรียนในระดับปริญญาโท และได้ต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำความรู้ไปช่วยชุมชนด้านหัตถกรรมในภาคอีสาน โดยได้รับความรู้และการชี้แนะอย่างดียิ่งจากอาจารย์ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อุษาแนะนำว่าความสำเร็จในการเรียนมาจากการเริ่มต้นด้วยความชอบและความสนใจในสาขาที่เรียน ซึ่งจะช่วยให้มีแรงบันดาลใจและสามารถผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ นอกจากนี้การแบ่งเวลาและการดูแลตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนอย่างมีความสุข
ปรีชญา ธนยุวัฒน์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเกาหลีศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย นักเขียนสกู๊ปข่าวบันเทิง เว็บไซต์ Today หนึ่งในบัณฑิตจุฬาฯ ที่แต่งกายข้ามเพศเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากจุฬาฯ เป็นมากกว่าความรู้ในตำรา ตนเลือกเรียนสาขาเกาหลีศึกษาซึ่งเกี่ยวกับประเทศเกาหลีทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ เพราะตั้งใจที่จะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีให้กับชาวไทยในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรม และเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านการศึกษาและธุรกิจ อยากให้น้อง ๆ นิสิตทุกคนได้ลองตามหาความฝันผ่านการทำกิจกรรมและการเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาน้อง ๆ จะได้ต่อยอดสิ่งที่ชอบเข้ากับการทำงานหรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมั่นใจและประสบความสำเร็จ
สหภาพ วงศ์ราษฎร์ บัณฑิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ เกียรตินิยม อันดับ 2 นักแสดง GMM TV เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาการเรียนที่จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากอาจารย์และเพื่อน ๆ ประทับใจการให้คำแนะนำและการช่วยเหลือจากทุก ๆ คนในคณะ การเรียน 6 ปีที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการทำงานในวงการบันเทิงอย่างมีวินัย โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปทำงาน หลักในการเรียนเน้นการทบทวนบทเรียนในเวลาว่างอยู่เสมอ เพราะวิชาที่เรียนต้องใช้ความทุ่มเทสูง ในอนาคตวางแผนจะทำงานในคลินิกสัตวแพทย์ควบคู่กับงานในวงการบันเทิง สหภาพได้ฝากข้อคิดแก่นิสิตรุ่นน้องว่า การหาสมดุลระหว่างการเรียน กิจกรรม และชีวิตส่วนตัวจะช่วยให้สามารถทำทุกอย่างได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ
รหัท หลงสมบูรณ์ บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ปี 2565 นักศึกษารางวัลพระราชทาน ปี 2566 เปิดเผยว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากการสนับสนุนของมหาวิทยาลัย อาจารย์ บุคลากร และเพื่อนนิสิต ซึ่งทำให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองทั้งในด้านการศึกษาและกิจกรรมต่าง ๆ ประทับใจจุฬาฯ ในความพร้อมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ทั้งเทคโนโลยี สื่อการเรียน การสนับสนุนต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จของแต่ละคนแตกต่างกัน ขอให้ใช้เวลาค้นหาตนเอง สร้างโอกาสให้ตนเองอย่างเต็มที่ ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างมีอิสระ กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองโดยไม่กดดันตนเองจนเกินไป ในอนาคต รหัทหวังไว้ว่าจะนำความรู้ทางการแพทย์ไปดูแลผู้ป่วยและพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ
ธนพร คูชัยยานนท์ บัณฑิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อดีตนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้เผยความรู้สึกที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ ว่า โล่งใจที่เรียนจบหลังจาก 6 ปีของการเรียนที่ท้าทาย รู้สึกใจหายที่ต้องจากจุฬาฯ สังคมในมหาวิทยาลัยมีความอบอุ่น มีเพื่อนและพี่น้องคอยสนับสนุนมาตลอด และก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจริง ซึ่งต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ธนพรได้ฝากข้อแนะนำให้กับน้อง ๆ นิสิตทุกคนว่า “การเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับนิสิต แต่กว่าที่เราจะจบการศึกษาไป ระหว่างทางนั้นมีโอกาสในการได้รับประสบการณ์มากมายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อยากให้น้อง ๆ ลองหันไปมองรอบข้าง และให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทางที่เราเดิน พอ ๆ กับการให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายของเรา อย่าลืมที่จะเก็บ Soft Skills เพื่อนำไปใช้กับ Hard Skills ที่เราได้จากการเรียนด้วย
ภูริพัฒน์ สันติสิริกุล บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง Influencer เผยความรู้สึกที่สำเร็จการศึกษาว่า ดีใจและภูมิใจมาก ไม่ใช่แค่เพราะเรียนจบ แต่เหมือนบรรลุเป้าหมายสำคัญในชีวิต จุฬาฯ ให้ทั้งความรู้ คอนเนคชั่น และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จคือการเปิดใจเรียนรู้จากทุกสิ่งรอบตัว กล้าลองผิดลองถูก และหมั่นขอคำแนะนำจากอาจารย์ ความรู้และประสบการณ์จากจุฬาฯ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในการทำงาน การใช้ชีวิต และการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร การคิดนอกกรอบ และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในโลกการทำงาน
สิริโรจน์ ศิลชัยทาน บัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 นักกีฬาทีมชาติไทยประเภทยูยิตสู คิกบ็อกซิ่ง และมิกซ์มาร์เชียลอาร์ต เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาไปอีกขั้น จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ตนใฝ่ฝันว่าอยากเข้ามาศึกษา ประทับใจจุฬาฯ ที่ไม่ได้ให้ความรู้ทางด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้การสนับสนุนทางด้านกีฬา และยังมีทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาที่มีความสามารถและทำชื่อเสียงให้กับจุฬาฯ ด้วย ตนในฐานะที่เป็นนักกีฬา หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จจะต้องแบ่งเวลาและจัดลำดับความสำคัญให้ดี ทั้งเรื่องเรียนควบคู่กับการซ้อมกีฬาให้สามารถทำพร้อมกันได้โดยไม่ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากให้น้อง ๆ มีเป้าหมายในชีวิตว่าตัวเรากำลังทำอะไรและทำเพื่อใคร บริหารจัดการชีวิตให้ดี แล้วความสำเร็จก็จะตามมาอย่างแน่นอน
ศิวกร หมึกทอง บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา นักกีฬาคาราเต้ทีมชาติไทย กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อจุฬาฯ ว่าประทับใจอาจารย์จุฬาฯ หลาย ๆ ท่านที่มีความเข้าใจนิสิตแต่ละคนที่อาจจะมีภาระที่ต่างกัน เช่น บางคนเป็นนักกีฬา หรือบางคนที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อาจารย์จะคอยช่วยเหลือนิสิตตลอด หลักในการเรียนที่ผ่านมาอาศัยการแบ่งเวลาอย่างชัดเจนระหว่างการเรียนและการฝึกซ้อมกีฬา ช่วงไหนที่ต้องซ้อมก็จะมีการทบทวนบทเรียนไปด้วย และพยายามบอกตัวเองเสมอว่าการเรียนเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญที่เราต้องทำให้ออกมาดี เพราะการศึกษาสามารถนำมาต่อยอดใช้ในการเล่นกีฬาได้ด้วย ยิ่งมีความรู้มากเท่าใดก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเล่นกีฬาได้มากเท่านั้น
จุฬาฯ จัดงาน “สยามานุสสติ ผสาน…ปณิธาน” การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมโดยนิสิตจุฬาฯ
นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Spark the Local 2024 by PTT
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เปิดอบรมหลักสูตร “เครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อม”
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ต้อนรับผู้แทนจาก Indiana University สหรัฐอเมริกา เจรจาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ
ศศินทร์จัด Open House แนะนำหลักสูตรต่างๆ วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567
30 พ.ย. 67 เวลา 10.00 น.
ศศินทร์ จุฬาฯ
เชิญฟังการบรรยาย Chula Lunch Talk หัวข้อ “Smart VET-Learning: นวัตกรรม AR สู่การศึกษาสัตวแพทย์ยุคดิจิทัล”
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้