รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
30 กันยายน 2567
ข่าวเด่น
ผู้เขียน สพล ไหลเวชพิทยา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาฯ
Job Hopping หรือการเปลี่ยนงานไปมาเป็นประจำ กำลังเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้มากขึ้นอย่างชัดเจนในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาชวนปวดหัวให้แก่ผู้ว่าจ้างในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ เนื่องจากการจ้างงานใหม่เพื่อทดแทนตำแหน่งเดิมย่อมมีต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงกว่า
ยกตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานปัจจุบันเพียง 5% อาจเพียงพอที่จะจูงใจให้พนักงานทำงานอยู่กับบริษัทต่อไป โดยที่การทำงานยังมีความต่อเนื่องอีกด้วย แต่การจ้างพนักงานรายใหม่ที่เข้ามาทดแทนตำแหน่งเดิมอาจสร้างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 10-15% โดยเฉลี่ย รวมถึงบริษัทยังมีความเสี่ยงที่พนักงานใหม่อาจมีทัศนคติหรือวิธีการทำงานที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่ และส่งผลกระทบเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมอีกด้วย
ดังนั้น หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารขององค์กรทุกแห่งต้องพิจารณาและวางระบบอย่างรอบคอบ คือ การรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร (Talent Retention) ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนขององค์กร
ในเชิงจิตวิทยา โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนย่อมมี “อคติทางความคิด” (Cognitive Bias) ที่เป็นกลไกทางความคิดที่ใช้เพื่อปกป้องความรู้สึกหรือเสริมสร้างความมั่นใจของตัวเอง ซึ่งในการทำงานนั้น เรามักพบรูปแบบของอคติทางความคิด คือ การคิดเข้าข้างตนเอง (Self-serving Bias) ซึ่งอคติทางความคิดดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาหลักที่ลดทอนแรงจูงใจและความทุ่มเทในการทำงานของพนักงานในองค์กร และทำให้เกิดช่องว่างหรือระยะห่างระหว่างพนักงานที่มีความสามารถ (กลุ่ม Talent) และพนักงานทั่วไป ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่ไม่ดีได้
สพล ไหลเวชพิยา ผู้จัดการโครงการ Sasin Management Consulting (SMC) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ว่าอัตราเงินเดือนและเงินโบนัสของตัวเองจะถือเป็นความลับขั้นสุดยอดที่ห้ามเปิดเผยให้บุคคลอื่นโดยเด็ดขาด เพื่อรักษาบรรยากาศการทำงานโดยรวมและหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบระหว่างพนักงานด้วยกัน แต่หลายองค์กรก็ยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบระหว่างอัตราเงินเดือนอยู่ดี ทั้งที่เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องผลตอบแทนที่คิดว่าตนเองควรได้รับกับภาระงานที่ตนเองรับผิดชอบหรือผลงานของตนเองในรอบปีประเมินที่ผ่านมา การเปรียบเทียบดังกล่าวอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อพนักงานมีอคติทางความคิด ยกตัวอย่างเช่น พนักงานทั่วไปที่อาจคิดเข้าข้างตนเองและมองว่า ทำไมภาระงานประจำวันและความรับผิดชอบของตัวเองถึงได้มีมากกว่าเพื่อนร่วมงานในแผนกที่มีตำแหน่งเท่ากัน (และอาจจะได้รับเงินเดือนที่เท่ากันด้วย) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ภาระงานและความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนอยู่ในระดับที่เท่ากันก็ตาม หรือในทางกลับกัน พนักงานกลุ่ม Talent อาจมองว่าตนเองที่ได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบงานที่หลากหลายและมากกว่าพนักงานคน อื่น ๆ จากผู้บริหาร รวมถึงมีผลงานที่โดดเด่น แต่กลับไม่ได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับพนักงานทั่วไป เป็นต้น
ทั้งนี้ในปัจจุบัน แนวคิดการวางโครงสร้างของผลตอบแทนจากการทำงานจะประกอบไปด้วยการประเมินหลัก 2 ส่วน ได้แก่ สมรรถนะ (Competency) และผลการปฏิบัติงาน (Performance) โดยสมรรถนะหมายถึงความสามารถหรือศักยภาพของตัวเองพนักงานในการทำงาน ซึ่งมักจะแปรผันโดยตรงต่อการกำหนดค่าจ้างหรืออัตราเงินเดือนประจำ ในขณะที่ผลการปฏิบัติงาน คือ ผลงานที่เกิดขึ้นในระหว่างรอบการประเมินที่ผ่านมา ซึ่งมักจะใช้เพื่อคำนวณเงินโบนัสที่พนักงานจะได้รับจากประสบการณ์ของผู้เขียน การประเมินสมรรถนะของพนักงานและกำหนดอัตราค่าจ้างหรือเงินเดือนที่เหมาะสมมีความซับซ้อนน้อยกว่าการประเมินผลงานของพนักงานเพื่อคำนวณเงินโบนัสที่พนักงานควรได้รับ
เนื่องจากการประเมินสมรรถนะจะมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลเป็นหลักซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องน้อยกว่าการประเมินผลงานที่ต้องพิจารณาปัจจัยทั้งในระดับรายบุคคล เช่น การมีส่วนร่วมของพนักงานแต่ละรายในการทำงานที่ช่วยทำให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และในระดับภาพรวม เช่น ผลประกอบการของบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่า พนักงานที่มีความสามารถ 1 คนในแผนกจะมีผลงานที่โดดเด่นอย่างมาก แต่ผลงานโดยรวมของแผนกหรือผลประกอบการโดยรวมขององค์กรกลับไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เงินโบนัสที่องค์กรสามารถจัดสรรให้แก่พนักงานแต่ละคนจึงไม่สะท้อนถึงผลงานจริงในระดับรายบุคคลได้อย่างรูปเต็มแบบ
ดังนั้นประเด็นความท้าทายดังกล่าวจึงนำไปสู่คำถามสำคัญว่าองค์กรควรมีแนวทางอย่างไรในการใช้ความสามารถของพนักงานกลุ่ม Talent ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกเหนือไปจากการทำงานของตัวพนักงานเองเพียงอย่างเดียว ให้สามารถขยายผลไปเป็นการช่วยส่งเสริมการทำงานของพนักงานคนอื่น ๆ ในทีม และบรรลุเป้าหมายในระดับองค์กรที่กำหนดไว้
คุณสพลได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างการจ่ายผลตอบแทนที่ประสบผลสำเร็จจากวงการกีฬาฟุตบอลอาชีพ Premier League ของประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลในแต่ละปี โดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างและเงินโบนัสมูลค่ามหาศาลของนักเตะ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของนักเตะที่ค้าแข้งกับสโมสรใน Premier League อยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อสัปดาห์ (60,000 ปอนด์) ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั่วไปในประเทศอังกฤษถึงกว่า 100 เท่า แต่ในกรณีของสโมสรชั้นนำ เช่น นักเตะของสโมสร Manchester United ที่ครองตำแหน่งค่าเหนื่อยนักเตะสูงที่สุดใน Premier League อยู่ที่เฉลี่ย 5.3 ล้านบาทต่อคนต่อสัปดาห์ (125,000 ปอนด์) ในขณะที่ Manchester City ที่คว้าแชมป์ Premier League ในปีล่าสุดตามมาอยู่ในอันดับที่ 2 โดยมีค่าเหนื่อยเฉลี่ยต่อนักเตะ 1 คนสูงถึง 4.6 ล้านบาทต่อสัปดาห์ (108,000 ปอนด์) แต่ถ้าพิจารณาค่าเหนื่อยของกลุ่มนักเตะที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของสโมสร (เทียบเท่าพนักงานกลุ่ม Talent ในบริษัท) ตัวเลขดังกล่าวสามารถพุ่งสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ย 3 เท่าไปถึงระดับ 15 ล้านบาทต่อสัปดาห์ (350,000 ปอนด์)
นอกเหนือจากเรื่องค่าจ้างแล้ว สโมสรฟุตบอลยังมีความท้าทายเกี่ยวเนื่องที่สำคัญอีกหนึ่งประเด็น คือ การบริหารจัดการและควบคุมทัศนคติของนักเตะทุกคนภายในสโมสร เนื่องจากค่าเหนื่อยของนักเตะแต่ละรายใน Premier League แทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้อมูลสาธารณะที่ปรากฏอยู่ตามสื่อและฐานข้อมูลด้านกีฬา ดังนั้น นักเตะทุกคนย่อมรู้สถานะของตัวเอง รวมถึงสถานะของเพื่อนร่วมทีมของตนเองและบรรดานักเตะจากสโมสรต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ข้อมูลดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองและนักเตะคนอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
ในทางกลับกัน วงการฟุตบอลที่ถือเป็นธุรกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจึงมีการบันทึกสถิติแทบจะทุกประเภทที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนประตูที่นักเตะทำได้ จำนวนนาทีที่นักเตะลงเล่นในสนาม อัตราความสำเร็จในการส่งบอลให้กับเพื่อนร่วมทีม จำนวนครั้งที่เข้าสกัดบอลจากฝ่ายตรงข้าม หรือแม้กระทั่งอัตราความน่าจะเป็นในการสร้างโอกาสทำประตูให้กับทีม เป็นต้น ดังนั้น ทั้งสโมสรและนักเตะจึงสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้อ้างอิงและกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมตามระดับความสามารถและประโยชน์ที่นักเตะสามารถสร้างให้แก่สโมสรได้ ซึ่งถือเป็นแนวคิดเดียวกับการประเมินสมรรถนะของพนักงานในองค์กร และอาจเรียกได้ว่า การประเมินค่าจ้างที่เหมาะสมของนักเตะในธุรกิจฟุตบอลมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่าการประเมินของบริษัททั่วไปเสียอีก ซึ่งการอ้างอิงระดับของค่าจ้างจากสถิติดังกล่าวจะช่วยแบ่งกลุ่มระหว่างนักเตะที่เป็นคนสำคัญและนักเตะคนอื่น ๆ ภายในทีม (เราอาจมองได้ว่า ระดับของค่าจ้างเปรียบเสมือนระดับตำแหน่งภายในบริษัท ซึ่งตำแหน่งที่สูงกว่าย่อมมีฐานเงินเดือนที่มากกว่า) และสร้างการยอมรับถึงความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพื่อนร่วมทีมได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี นักเตะที่มีฝีเท้าระดับโลกเพียงแค่ 1-2 คน จาก 11 คน (หรือ 25 คน เมื่อนับรวมกลุ่มนักเตะสำรองด้วย) ย่อมไม่สามารถสร้างความสำเร็จให้กับสโมสรได้อย่างแน่นอน เนื่องจากฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ต้องเล่นกันเป็นทีม และความเข้าใจและการประสานงานระหว่างนักเตะทุกคน รวมถึงทัศนคติและความมุ่งมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะในแต่ละเกมการแข่งขัน ดังนั้น เงินโบนัสจากผลงานในรอบฤดูกาลแข่งขันจึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้นักเตะมีแรงจูงใจที่จะทุ่มเททำเพื่อทีมควบคู่ไปกับการจ่ายค่าเหนื่อยมหาศาลนั่นเอง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รูปแบบเกมฟุตบอลในอังกฤษและยุโรปมีการวิวัฒนาการมากมาย โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ การเล่นเป็นทีม (Teamwork) ถือเป็นกุญแจสำคัญของฟุตบอลสมัยใหม่ (ไม่ต่างจากการทำงานในบริษัททั่วไป) ดังนั้น รูปแบบการจ่ายเงินโบนัส ย่อมต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบการเล่นเป็นทีมมากขึ้น โดยแต่เดิมสโมสรมักจะให้ความสำคัญกับผลงานส่วนตัวของนักเตะคนใดคนหนึ่งมากเกินไป (One-man Show) เช่น การจ่ายโบนัสสำหรับจำนวนประตูที่นักเตะแต่ละคนทำได้สำหรับผู้เล่นในเกมรุกหรือจำนวนเกมที่ทีมไม่เสียประตู (Clean Sheet) สำหรับผู้เล่นในเกมรับ แต่ในปัจจุบัน สโมสรชั้นนำใน Premier League จะใช้วิธีจ่ายเงินโบนัสให้แก่นักเตะในทีมเท่ากันทุกคน ตามความสำเร็จที่ทีมทำได้ เช่น จำนวนแชมป์ที่ทำได้ (โดยปกติ สโมสรจะลงแข่งขันรวมทั้งหมด 4 รายการในหนึ่งฤดูกาลแข่งขัน) ซึ่งตัวนักเตะเองจะต้องมีส่วนร่วมได้ลงเล่นอย่างน้อย 60% ของจำนวนเกมทั้งหมด เพื่อให้ได้รับส่วนแบ่งเงินโบนัสดังกล่าว
แนวทางดังกล่าวถือเป็นการส่งสารที่ชัดเจนให้กับนักเตะทุกคน ทั้งผู้เล่นตัวจริงและผู้เล่นตัวสำรองภายในทีมว่า หากใครสามารถทำผลงานในสนามซ้อมได้ดีและได้รับเลือกให้ลงเล่นในทีมอย่างสม่ำเสมอ และช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จ พวกเขาจะได้รับเงินมหาศาลเป็นการตอบแทน ซึ่งรูปแบบการจ่ายเงินโบนัสแบบใหม่นี้ช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการฝีกซ้อมและการแข่งขันจริง รวมถึงสร้างความสามัคคีภายในทีมได้เป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดสร้างความสำเร็จไปด้วยกัน และกลไกดังกล่าวช่วยทำให้นักเตะทุกคนที่ได้รับค่าเหนื่อยแตกต่างกันสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความสำเร็จให้กับสโมสร การถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาในธุรกิจฟุตบอลชี้ให้เห็นว่า การรักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรต่อถือเป็นการผสมผสานทั้งในแง่ศาสตร์ เช่น การกำหนดโครงสร้างเงินเดือนและการจ่ายเงินโบนัสที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถวัดผลได้จริงจากข้อมูลสถิติต่าง ๆ และในแง่ศิลป์ เช่น การทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับและเป็นคนสำคัญขององค์กร หรือสร้างความภูมิใจและความท้าทายในการทำงานและบรรลุเป้าหมาย และในทางกลับกัน ผู้บริหารยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงการรักษาสมดุลระหว่างการให้รางวัลหรือผลตอบแทนแก่พนักงานที่มีความสามารถและพนักงานทั่วไป และหลีกเลี่ยงการให้ความสำคัญกับพนักงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มากจนเกินไป (One-man Show) เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมและขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย (Teamwork) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทศกาลความสนุกส่งท้ายปี “Siam Street BIG RETURN 2024” 20-22 ธันวาคมนี้ที่สยามสแควร์ ชมฟรีตลอดงาน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จัดงานประกาศผลมูลค่าแบรนด์องค์กร ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2024 มอบรางวัลสุดยอดแบรนด์องค์กรและรางวัลหอเกียรติยศ
ผศ.ทพ.ดร.ศุภชัย ชื่นจิตรวงษา ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ได้รับยกย่องเป็นทันตแพทย์ดีเด่น ด้านพัฒนาวิชาชีพ
จุฬาฯ จัดงาน “Chula Townhall” เปิดวิสัยทัศน์พัฒนามหาวิทยาลัยรอบทิศโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง พร้อมส่งความสุขปีใหม่ให้ชาวจุฬาฯ
จุฬาฯ เสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการแก่ผู้บริหาร หลักสูตร The Leader Prospects รุ่นที่ 14
เชิญชวนชาวจุฬาฯ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2568
27 มกราคม – 7 มีนาคม 2568
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้