ข่าวสารจุฬาฯ

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมมือ สสส. – พม. สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน

            เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่ายจัดงานประชุม “หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อคนไร้บ้าน: จากการตั้งหลักสู่ความมั่นคง” เนื่องในโอกาสสัปดาห์วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาคนไร้บ้านและส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะของคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน พร้อมแถลงผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกสถานการณ์คนไร้บ้านปี 2566

            พิธีปิดการประชุมโดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ ได้แสดงความขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเวทีครั้งนี้ซึ่งมีการนำเสนอนวัตกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศูนย์พักพิงและที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน การใช้ฐานข้อมูลในการดำเนินงาน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนสุขภาพของคนไร้บ้าน สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน จุฬาฯ มีบทบาทเป็นผู้นำด้านการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางสังคมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

            รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานทางวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดันการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีที่จะร่วมเดินหน้ากับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง ด้วยความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน

            รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและเน้นย้ำถึงสถานการณ์ของคนไร้บ้านในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้จำนวนคนไร้บ้านอาจไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงด้านสุขภาพทางกายและจิตใจ รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ต้องการการทำงานอย่างต่อเนื่องและประสานงานกันในระดับนโยบายและปฏิบัติการ

            การประชุมในครั้งนี้เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานที่มีความสำเร็จ ทั้งในด้านการสร้างศูนย์พักพิง การใช้ฐานข้อมูล การส่งเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน และการพัฒนาอาสาสมัครทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูสุขภาพคนไร้บ้าน การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเวทีนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความยั่งยืนในอนาคต

            นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน สาเหตุหลักมาจากไม่มีงานทำ ตกงาน 44.72% รองลงมาคือปัญหาครอบครัว 35.18% ช่วงอายุคนไร้บ้านส่วนใหญ่คือวัยกลางคน อายุ 40-59 ปี 56.8% หรือ 1,419 คน รองลงมาคือวัยสูงอายุ 22% หรือ 553 คน ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดคือติดสุรา 18.1% มีปัญหาสุขภาพจิต 17.9% ในจำนวนนี้มีแนวโน้มความรุนแรงเพียง 1-2% นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะสวัสดิการสูงถึง 30% และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปีมากถึง 27% โดยในจำนวนนี้พบคนไร้บ้านเลือกอยู่ตามลำพังกว่า 74.1%

            สสส. ร่วมกับ พม. และภาคีเครือข่าย มุ่งสานต่อโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง พัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน พัฒนาระบบจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม รวมถึงสุขภาพคนไร้บ้าน มีเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์คนไร้บ้านสูงอายุที่มีสถิติแนวโน้มเพิ่มขึ้น การมีปัญหากับคนในครอบครัวและไม่มีอาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น จึงต้องมุ่งเน้นการหานวัตกรรมที่สามารถดูแลคนไร้บ้านสูงอายุได้อย่างครอบคลุม พร้อมขยายผลเชิงพื้นที่ใน กทม.และต่างจังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นทฎงานของคนไร้บ้านตามฤดูกาลมากที่สุด โดยการฟื้นฟูจิตใจ พัฒนาทักษะอาชีพ ให้เขาตั้งหลักชีวิตจนสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวของตนเองได้ และสนับสนุนโครงการคนไทยไร้สิทธิให้ครบทั้ง 13เขต ของ สปสช. ภายในปี 2570 เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย และไม่มีใครต้องไร้สิทธิพร้อมทั้งมีที่อยู่ มีอาชีพ และรายได้มั่นคงขึ้น

                 นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนและทำงานประเด็นคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมา ทั้งมิติการป้องกันและฟื้นฟู ชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านสัมพันธ์กับความเสี่ยงทางสังคม เศรษฐกิจมีมิติที่ซับซ้อนอย่างมาก หลังจากได้ข้อมูลประชากรคนไร้บ้านแล้ว จะนำไปออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจุฬาฯ และภาคีเครือข่ายจะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อวางแผนสำรวจคนไร้บ้าน ในวิธีสุ่มตัวอย่างนับจำนวน (capture-recapture method) ช่วยให้สามารถคาดการณ์จำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้อย่างแม่นยำ และสนับสนุนการออกแบบเชิงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า