รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
17 ตุลาคม 2567
ข่าวเด่น
ผู้เขียน สพล ไหลเวชพิทยา ผู้จัดการโครงการ Sasin Management Consulting
ในปี 2567 ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่ติดตามข่าวสารในวงการธุรกิจมักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับปัญหาการผิดชำระหนี้ของหุ้นกู้ของบริษัทหลายแห่ง ทางผู้เขียนจึงอยากหยิบยกสถานการณ์ดังกล่าวมาบอกเล่าและอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและสร้างความเข้าใจให้แก่นักลงทุนหลายท่านที่อาจรู้สึกไม่สบายใจกับการลงทุนของตัวเอง
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องราวของปัญหาการผิดชำระหนี้และความกังวลของนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ ผู้เขียนขอเริ่มจากการอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นภาพรวมได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้ว แหล่งเงินทุนของบริษัทจะมาจาก 2 แหล่งหลัก คือ 1) การขายสิทธิการเป็นเจ้าของหรือหุ้นของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอก (Equity) ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะหุ้นสามัญ (Common Stock) เท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และ 2) การกู้ยืม (Debts) ซึ่งอาจเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หรือเป็นการกู้ยืมจากตัวบุคคล เช่น การเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า หุ้นกู้ ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง
ความแตกต่างสำคัญระหว่างหุ้นและหุ้นกู้ คือ การจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน โดยบริษัทจะมีหน้าที่และภาระผูกพัน (Obligation) ที่ต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในอัตราที่ตกลงกันไว้ ไม่สามารถผิดสัญญาได้ ไม่ว่าสถานการณ์ของบริษัทจะเป็นอย่างไร บริษัทมีหน้าที่จะต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้แก่เจ้าของเงินทุนที่กู้ยืมมา ในขณะที่การจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มักจะอยู่ในรูปแบบเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่เจ้าของเงินทุนถือสิทธินั้น ทางบริษัทไม่มีภาระผูกพันใดๆ ที่จะต้องจ่ายผลตอบแทนดังกล่าว กล่าวคือ หากสถานการณ์ทางธุรกิจของบริษัทไม่ค่อยดีนัก เช่น บริษัทมีกำไรสุทธิที่ต่ำหรือประสบผลขาดทุน บริษัทสามารถเลือกที่จะไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้โดยไม่ละเมิดสัญญาที่ตกลงกันไว้และไม่มีความผิดใดๆ ทางกฎหมาย ต่างจากการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งหากมีการผิดชำระหนี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายดอกเบี้ยหรือการคืนเงินต้นที่กู้ยืมมา ทางบริษัทจะต้องรับโทษทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น หากพิจารณาในด้านอัตราผลตอบแทนแล้ว อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทจะต้องจัดสรรรายรับที่ได้มาให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ก่อนที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นตามภาระผูกพันตามโครงสร้างทางการเงินของบริษัท
ประเด็นพิจารณาสำคัญของบริษัท คือ หากหุ้นกู้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า แต่มาพร้อมกับภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นประจำตามรอบที่กำหนดไว้ ในขณะที่หุ้นมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่า แต่มีข้อดีในด้านความยืดหยุ่นในการจ่ายผลตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท บริษัทจึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างสัดส่วนการกู้ยืมเงินและการระดมทุนจากนักลงทุนอย่างไรที่จะทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ มีต้นทุนทางการเงินที่ไม่สูงจนเกินไปและมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 1.6 เท่า หรือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 7.4 เท่า เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีข้อได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือและจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่สูง จึงทำให้สามารถออกหุ้นกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัททั่วไป ส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินจากการออกหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำและกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน
ในทางกลับกัน ประเด็นสำคัญในมุมมองของนักลงทุน คือ การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดระหว่างหุ้นและหุ้นกู้ที่มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป หากพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงแล้ว หุ้นกู้อาจจะมีจุดเด่นในด้านผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Return) ที่แน่นอนมากกว่า จากการได้สิทธิในการได้รับผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ก่อนกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ต้องรอส่วนแบ่งเงินปันผลจากกำไรสุทธิของบริษัท และมีกำหนดการชำระคืนเงินต้นเต็มมูลค่าตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง เช่น ปตท. อยู่ที่ประมาณ 3-4% ต่อปี แต่ข้อเสียที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ คือ ในกรณีที่เกิดการผิดชำระหนี้ขึ้น (Default) อัตราการได้รับชำระคืนเงินต้นรวมถึงอัตราดอกเบี้ยมักจะเป็นศูนย์ กล่าวคือ ไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมาเลย ต่างจากการลงทุนในหุ้นที่ผู้ลงทุนอาจยังสามารถขายหุ้นในตลาดรองและได้รับเงินบางส่วนกลับมาบ้าง
ทางผู้อ่านหลายท่านอาจเริ่มกังวลว่า หุ้นกู้เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่ากลัว และมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้นทั้งหมดไปทันที แต่หากอ้างอิงถึงตัวเลขทางสถิติความน่าจะเป็นที่หุ้นกู้จะผิดชำระหนี้ภายใน 12 เดือนถัดไป (12-month Probability of Default) ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ เดือนมิถุนายน 2567 แล้ว หุ้นกู้ระดับลงทุน (Investment Grade) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุด (BBB-) ที่ทางหน่วยงานกำกับดูแลอนุญาตให้นักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้โดยไม่มีข้อจำกัด จะมีอัตราความน่าจะเป็นที่จะเกิดการผิดชำระหนี้เพียง 1.26% เท่านั้น ในขณะที่หุ้นกู้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงที่สุด (AAA) มีอัตราความน่าจะเป็นที่จะเกิดการผิดชำระหนี้ที่ 0.01% ซึ่งเทียบเท่ากับความน่าจะเป็นในการถูกรางวัลที่ 5 ของสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด (ถูกรางวัล 100 หมายเลข จากทั้งหมด 1,000,000 เลข)
นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว ทางผู้ถือหุ้นกู้มักมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจมีการขอผ่อนผันเลื่อนและขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปและปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงบางส่วนตามความสามารถและสถานการณ์ของบริษัท ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่น ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่มีมติอนุมัติการผ่อนผันให้ขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปประมาณ 1 ปี เป็นต้น แต่หากการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จ กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ยังมีคงสิทธิในการได้รับเงินคืนก่อนกลุ่มผู้ถือหุ้นภายหลังจากการยึดทรัพย์และนำมาขายทอดตลาด โดยสถิติจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ที่มีหลักประกันมักจะได้รับเงินต้นคืนประมาณ 60% และกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันจะได้รับเงินต้นคืนประมาณ 50%
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นักลงทุนบางกลุ่มยังคงเข้าใจผิด คือ การที่บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนจะส่งผลให้เกิดการผิดชำระหนี้ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนย่อมส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้แปลว่า บริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เสมอไป โดยตัวเลขทางการเงินที่สำคัญและมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ คือ กระแสเงินสดสุทธิของบริษัท เนื่องจากค่าใช้จ่ายบางรายการของบริษัท เช่น ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ที่มักปรากฎอยู่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทถือเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสด (Non-cash items) ดังนั้น บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนอาจยังคงมีเงินสดที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้ และนักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป หากบริษัทที่ตนเองมีหุ้นกู้อยู่มีผลประกอบการขาดทุน และควรพิจารณาถึงกระแสเงินสดของบริษัท รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกของบริษัท เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดของการลงทุน คือ ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลจากบริษัทให้แก่นักลงทุนภายนอก ทั้งในส่วนของข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน (Non-financial performance) หากหน่วยงานกำกับดูแล ผู้สอบบัญชี และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายและมีการตรวจสอบที่รัดกุมเพียงพอเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลต่างๆ ที่เปิดเผยโดยบริษัทแล้ว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสภาพตลาดย่อมลดน้อยถอยลง และเกิดปัญหาหลายด้านตามมา โดยเฉพาะการชะลอการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่ส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องในตลาดทุนและทำให้บริษัทที่ดีและน่าเชื่อถือหลายแห่งไม่สามารถระดมเงินทุนเพื่อนำไปชำระหนี้ของหุ้นกู้เดิมได้ (Roll Over) รวมถึงยังเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้แก่บริษัทโดยไม่จำเป็นจากความไม่มั่นใจในสภาพตลาดโดยรวมอีกด้วย ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้เปิดเผยข้อมูลว่า ยอดขายหุ้นกู้ใหม่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าลดลงโดยรวมถึง 12% ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลจึงควรมีการยกระดับการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาความมั่นคงของตลาดและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
จุฬาฯ จัดปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่และนักวิจัยใหม่ หลักสูตร “พัฒนาศักยภาพอาจารย์ใหม่และนักวิจัยใหม่” รุ่นที่ 30
คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาฯ กับงาน Night Museum at Chula
อาจารย์ นักวิจัยจุฬาฯ ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2568 : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จัดเทศกาล “มอบหนังสือเป็นสื่อแทนใจ”ชวนมอบหนังสือเป็นของขวัญปีใหม่
อธิการบดีจุฬาฯ มอบพระบรมรูปจำลองสองรัชกาล แก่ผู้บริจาคเงิน “จุฬาฯ ช่วยกาชาด บรรเทาทุกข์ 1,000 บาท 1 ถุงยังชีพ”
หน่วยบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One-Stop Service) สำหรับนิสิตและบุคลากรชาวต่างชาติ จุฬาฯ
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้