นิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ ชนะเลิศการประกวด โครงการ “จากขยะ สู่งานศิลปะ” สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนหลอดใช้แล้วให้เป็นงานศิลปะ

ญาโณทัย ตรีรัตน์โชติกุล และ ยมนา มหาบัณฑุ นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดผลงานศิลปะในโครงการ “จากขยะ สู่งานศิลปะ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Dutch Sustainability Days ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย จัดขึ้น เพื่อให้นักศึกษาและศิลปินรุ่นใหม่สร้างงานศิลปะที่กระตุ้นเตือนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ภายใต้โจทย์หลักคือการนำขยะมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องความยั่งยืน โดยคณะกรรมการตัดสินเป็นศิลปินแห่งชาติ ร่วมด้วยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม
ผลงานของสองนิสิตจุฬาฯ มีชื่อว่า “38,000” เป็นงานศิลปะที่สร้างจากหลอดพลาสติกใช้แล้วทั้งหมดประมาณ 38,000 หลอด นำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วใช้ความร้อนทำให้เกิดสีและรูปร่างที่ต่างไป เกิดเป็นงานศิลปะที่ดึงดูดความสนใจจากรูปทรงใหม่ที่เกิดขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากจำนวนหลอดพลาสติกที่คนเราใช้ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ยากต่อการนำมารีไซเคิล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง การนำหลอดใช้แล้วมาเป็นวัสดุหลักในงานศิลปะจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเตือนให้คนได้ตระหนักถึงผลกระทบของขยะชิ้นเล็กที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ หลอดทั้งหมดที่นิสิตนำมาใช้การทำผลงานศิลปะชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือจากโครงการ Chula Zero Waste โครงการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่เมือง และแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการแยกขยะประเภทหลอดและรวบรวมจากโรงอาหารคณะต่างๆ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เชิญชมภาพผลงานศิลปะของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และผลงานอื่นๆ ที่ส่งร่วมประกวดงานศิลปะเพื่อสื่อสารถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ที่ www.dutchsustainabilitydays.com

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย