ข่าวสารจุฬาฯ

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมกับวิศวฯ จุฬาฯ จัดงาน iTIC Forum 2024 ครั้งที่ 5 เน้นความสำคัญการใช้เทคโนโลยี AI สร้างวินัยจราจร

           มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานสัมมนา “iTIC Forum 2024: Safe & Smart Mobility by Traffic Discipline” เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการพัฒนาวินัยจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนนจากผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย กล่าวรายงาน คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย กล่าวแนะนำมูลนิธิฯ และ ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร
อธิการบดีจุฬาฯ

           ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างวินัยจราจร ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการเดินทางในประเทศ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น เทคโนโลยีอัจฉริยะที่ใช้ในการตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดอุบัติเหตุและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัย งานสัมมนานี้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางที่สามารถเป็นต้นแบบให้แก่การพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะของไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาการจราจร แต่ยังมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยจัดการและป้องกันปัญหาในอนาคต”


คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ
ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย

           คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย เปิดเผยว่า การนำระบบ AI มาช่วยในการจัดการจราจรมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากการตรวจจับด้วยสายตามนุษย์นั้นไม่ทันต่อเหตุการณ์ และการบันทึกข้อมูลเป็นเวลานานยังเป็นไปได้ยาก การสัมมนาครั้งนี้เน้นเรื่องการตรวจจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย โดยใช้ AI เชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ในบริเวณจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จะสามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างละเอียด ช่วยเสริมการตรวจจับที่แม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี AI ในการจัดการจราจร โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นที่เทศบาลขอนแก่นและพัทยาเป็นที่แรก

           “งาน iTIC Forum 2024 เป็นการจัดสัมมนา  iTIC Forum เป็นครั้งที่ 5 โดยจัดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่นิสิต อาจารย์ และบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในอนาคต” คุณนินนาทกล่าว



           ทั้งนี้ นอกจากงานสัมมนาแล้ว ยังมีการจัดงานแสดงความยินดีกับคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดแห่งวงการระบบขนส่งอัจฉริยะ รางวัล “ITS Hall of Fame Lifetime Achievement Award  ในระหว่างงานประชุม ITS World Congress (Intelligent Transport System World Congress) ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  จัดโดยสามหน่วยงานนานาชาติ ได้แก่ ITS Asia-Pacific, ERTICO (ITS Europe) และ ITS America   คุณนินนาทเป็นนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นผู้นำที่ทรงคุณวุฒิผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในด้าน Intelligent Transport System (ITS)  ผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและบรรลุผลของวิสัยทัศน์ในวงการ ITS ในแต่ละภูมิภาค เป็นผู้บทบาทสำคัญในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งอย่างปลอดภัย และยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ เช่น ข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์ และเชื่อมต่อกล้องวงจรปิด จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองอัจฉริยะ” งานแสดงความยินดีดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้อง True Lab อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ




           กิจกรรมที่เป็นไฮไลท์สำคัญของงานสัมมนา “iTIC Forum 2024 ได้แก่ การบรรยายพิเศษโดย พันโท ดร.ต้องการ แก้วเฉลิมทอง นายกสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย ในหัวข้อ “ระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อการคมนาคมที่ชาญฉลาดและปลอดภัย” ซึ่งสะท้อนถึงการนำระบบ ITS (Intelligent Transport System) มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงความปลอดภัยและการจัดการจราจรในประเทศไทย

           อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจคือการบรรยายเรื่อง “อุบัติเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย และแนวทางการแก้ไข” โดย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นถึงความเสี่ยงของการไม่สวมหมวกนิรภัยและมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหานี้

           นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “การสร้างวินัยจราจร โดยใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย” โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ “ความสำคัญของวิธีการสร้างระเบียบวินัยขับขี่ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน” โดย พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย “การใช้เทคโนโลยีในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ” โดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร “เล่าถึงประสบการณ์ 4 Step ที่เคยทำมา” โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ “เล่าบทเรียนและประสบการณ์ในการช่วยเหลือด้านความปลอดภัย” โดยคุณประยูร ภู่แส  “การทำ Road Star Ratings ช่วยลดอุบัติได้อย่างไร”โดย ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล  และ“เล่าบทเรียนและประสบการณ์การจัดการจราจรและอุบัติเหตุเมืองพัทยา”โดย ดร.ศิวัช บุญเกิด ดำเนินรายการโดย ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจบัตรโดยสาร (MRTA)

           ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสัมมนาครั้งนี้ สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) เว็บไซต์ www.iticfoundation.org หรือ E-mail : iticfoundation@gmail.com




จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า