ข่าวสารจุฬาฯ

บทความพิเศษ ศศินทร์ จุฬาฯ: ส่องการศึกษาไทยในยุคที่เด็กเกิดน้อย

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และระบบการศึกษาในหลายมิติ หนึ่งในคณะผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป” เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรในอนาคต การลดลงของประชากรวัยแรงงาน และการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ บทความนี้จะกล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรและผลกระทบ ความท้าทายในระบบการศึกษา และแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในโครงสร้างประชากร โดยข้อมูลจากบทความพิเศษ “จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทย ‘ตายมากกว่าเกิด’ ไปเรื่อย ๆ ” คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2083 จำนวนประชากรจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งในเวลาไม่ถึงศตวรรษ เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำกว่าการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” อย่างไรก็ตาม หากมองในระยะสั้น เช่น ปี 2050 พบว่าแนวโน้มประชากรยังขึ้นอยู่กับอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) โดยในสถานการณ์ Medium Variant TFR จะคงที่ที่ 1.16 ส่วน Low Variant TFR จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 และ High Variant TFR จะลดลงต่ำกว่า 1.16 อย่างต่อเนื่อง หากอยู่ใน High Variant ประชากรสูงวัยจะเกินร้อยละ 20 ภายในปี 2025 ในขณะที่หากอยู่ในระดับ Low และ Medium Variant จะยังไม่ถึงระดับดังกล่าว สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการวางแผนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

จากแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ High, Medium หรือ Low Variant ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับปัญหาจำนวนนักเรียนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลให้ห้องเรียนและครูมีจำนวนเกินความต้องการ สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ปัญหาการกระจายตัวของนักเรียนในสายสามัญและสายอาชีวะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ซึ่งกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ม.3 แบ่งเป็นครึ่งหนึ่งในสายสามัญและอีกครึ่งหนึ่งในสายอาชีวะ แม้ว่าในปัจจุบันเราจะอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แล้ว แต่ตัวเลขก็ยังสะท้อนว่าสายสามัญมีสัดส่วนสูงกว่าสายอาชีวะ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการขาดแคลนครูในสาขา STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ส่งผลให้นักเรียนมีแนวโน้มขาดพื้นฐานด้านนี้และเลือกเรียนสายสามัญมากกว่า นอกจากนี้ ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษายังคงเลือกเรียนสายสังคมศาสตร์มากกว่าสายวิทยาศาสตร์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัญหาเหล่านี้น่าจะทำให้เกิดคำถามสำคัญ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นหากสังคมไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ “ตายมากกว่าเกิด” ไปเรื่อย ๆ ? การวางแผนระยะยาวที่ครอบคลุมทุกมิติน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเผชิญความท้าทายนี้

ปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบการศึกษาของไทยอาจสามารถแก้ไขได้ หากเราปรับเปลี่ยนมุมมองและเน้นย้ำถึงการพัฒนาคุณภาพของเด็กแทนที่จะยึดติดกับจำนวนเพียงอย่างเดียว เด็กที่มีคุณภาพย่อมเกิดจากการได้รับ “การศึกษาที่ดี” ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูคือหัวใจสำคัญของทิศทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ครูที่เก่ง ดี และมีคุณภาพ จะเป็นรากฐานในการบ่มเพาะศักยภาพของเด็กและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพต่อประเทศในอนาคต

ปัญหาจำนวนเด็กที่มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้มีความจำเป็นในการลดจำนวนครูลง ทั้งนี้หากไม่มีการลดจำนวนครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ก็อาจกระทบต่อค่าตอบแทน สวัสดิการ และแรงจูงใจของครูได้ ซึ่งอาชีพครูอาจไม่ดึงดูดใจคนเก่งหรือผู้มีศักยภาพสูงอีกต่อไป หนึ่งในแนวทางสำคัญที่อาจช่วยยกระดับคุณภาพของครูในประเทศไทย คือการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่วิชาชีพครูมากขึ้น การเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมอาจช่วยสร้างความมั่นใจในความมั่นคงของอาชีพครู และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถ อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา นอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว การสร้างแรงจูงใจในการทำงานก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ครูควรได้รับโอกาสในการทำงานสอนอย่างเต็มที่ โดยปราศจากภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เพื่อให้สามารถทุ่มเทเวลาและพลังงานไปกับการพัฒนาเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนด้านทรัพยากร การอบรมพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง และการให้คุณค่ากับบทบาทของครูในสังคม ล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพครูในระยะยาว

นอกเหนือจากการพัฒนาครู หลักสูตรการศึกษาก็ต้องได้รับการปรับปรุงให้ตอบสนองต่อความต้องการของโลกอนาคต โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม เด็กจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในทักษะที่สำคัญ อาทิ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ ต่างจากทักษะบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกแทนที่ คณะผู้เขียนมีความเห็นว่า หากหลักสูตรการศึกษาสามารถก้าวข้ามการสอนเนื้อหาที่เน้นการจดจำหรือการสอบเพียงอย่างเดียว และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะ และความสามารถที่โลกในอนาคตต้องการ

ผู้เขียน 

ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน, นักวิชาการอิสระ อดีตศาสตราจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาฯ และสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์

รศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ ศศินทร์

พัชราวลัย วงศ์บุญสิน  นักวิจัยอิสระ

ศันสนีย์ พรสรรค์ศิริกุล เจ้าหน้าที่อาวุโส หน่วย Sasin Next

ศิวาพร สุขสิงห์ เจ้าหน้าที่ หน่วย Sasin Next

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า