ข่าวสารจุฬาฯ

อาจารย์แพทย์จุฬาฯ วิจัย “ปัญญาประดิษฐ์ในการส่องกล้องสำหรับช่วยแพทย์ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่” คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2568 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์

การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยชีวิตคนไทยโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ เป็นแนวทางหลักในการทำงานวิจัยของ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ  และอาจารย์สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีศักยภาพทัดเทียมนวัตกรรมจากต่างประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ในวงการแพทย์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2568 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์

ศ.นพ.รังสรรค์ เล่าถึงเส้นทางการทำงานวิจัยว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการมุ่งมั่นดูแลผู้ป่วยทั่วไปจนถึงการต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะการตรวจและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร อันได้แก่ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน และท่อน้ำดี  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อศึกษาในต่างประเทศได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย ได้ค้นพบว่างานวิจัยได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีซึ่งสามารถนำมาพัฒนาการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยได้ จึงเป็นแรงผลักดันให้เริ่มต้นพัฒนาผลงานวิจัยเมื่อกลับมาปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยมุ่งเน้นที่การศึกษาผลการรักษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น              

“ประสบการณ์ในวงการแพทย์ได้สร้างความเข้าใจลึกซึ้งในปัญหาที่ผู้ป่วยไทยต้องเผชิญ ประเทศไทยพึ่งพาอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศ ต้องนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องมือหรือวิธีการรักษา แต่อุปกรณ์หรือวิธีการบางอย่างจากต่างประเทศไม่สามารถตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราได้ จึงเป็นโอกาสและความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ด้วยฝีมือแพทย์ไทยเพื่อตอบโจทย์ในการรักษาผู้ป่วยได้ตรงเป้าหมายให้มากที่สุด” ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าว

ปัญญาประดิษฐ์ในการส่องกล้องสำหรับตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผลงานวิจัยโดดเด่นนำไปใช้ประโยชน์ได้

หนึ่งในความสำเร็จที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากฝีมือของ ศ.นพ.รังสรรค์คือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการส่องกล้อง เพื่อช่วยแพทย์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการออกแบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถช่วยแพทย์ตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในประสิทธิผลของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จากแพทย์ผู้ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และยังมีความแม่นยำสูงกว่าอุปกรณ์ปัญญาประดิษฐ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผลงานวิจัยที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำระดับโลก และมีการนำไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลทั่วประเทศ นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยคนไทยในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถนำไปปรับใช้ในการตรวจคัดกรองโรคได้อีกด้วย

เคล็ดลับความสำเร็จของการวิจัยและการสร้างคนรุ่นใหม่

ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าวว่า “ความล้มเหลวเป็นครูที่ดีที่สุดในเส้นทางการเรียนรู้และวิจัย ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรเลย เราก็จะไม่มีวันล้มเหลว ให้ถือว่าความล้มเหลวคือโอกาสในการเรียนรู้ โดยเราต้องวิเคราะห์และปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำซาก นอกจากนี้การทำงานเป็นทีมคือหัวใจสำคัญ ไม่มีใครทำงานใหญ่สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกความสำเร็จที่ผ่านมาของผมเกิดจากทีมที่มีแพทย์รุ่นพี่รุ่นน้อง รุ่นเพื่อน อีกทั้งนิสิต รวมทั้งพยาบาล และนักวิจัยอื่นทำงานร่วมกัน”

 “เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้เก่งกว่าเรา” ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าวถึงเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของสถาบันหรือองค์กรที่ทำงานด้านการวิจัยคือการสร้างนักวิจัยรุ่นต่อไปให้เก่งกว่ารุ่นเรา สิ่งที่คนรุ่นเราควรจะต้องภูมิใจคือการเห็นคนรุ่นหลังสามารถสานต่อสิ่งที่เราเริ่มไว้และพัฒนาต่อไปให้ดีกว่าเดิม การส่งต่อองค์ความรู้ สร้างโอกาสและการสนับสนุนแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ จะทำให้วงการแพทย์ไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่องไปในอนาคต

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติที่สุดแห่งความภาคภูมิใจในชีวิต

ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเป็นอาจารย์แพทย์จุฬาฯ มานานกว่า 25 ปี ศ.นพ.รังสรรค์ เปิดใจถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลใหญ่ที่สุดในชีวิต แม้ตลอดระยะเวลาในการทำงานจะได้รับรางวัลมามากมาย แต่รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติยิ่ง เนื่องจากตนเองไม่ได้เป็นนักวิจัยสายตรง เลยคิดเอาเองว่าโอกาสที่จะได้รับรางวัลนั้นคงไม่ง่าย เพราะตัวเองเป็นแพทย์ที่เน้นการรักษาผู้ป่วยโดยการทำหัตถการเป็นหลักแต่มีโอกาสที่ได้นำข้อมูลและปัญหาจากการทำหัตถการมาทำการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางและสร้างนวัตกรรมในการรักษาผู้ป่วยด้วยหัตถการให้ดีขึ้น การได้รับรางวัลนี้เป็นเหมือนการยืนยันว่าผลงานวิจัยที่ผ่านมามีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งของชาติ  นอกจากนี้ยังภูมิใจที่ได้สร้างสมดุลระหว่างบทบาทการเป็นแพทย์ผู้รักษาและนักวิจัยที่มุ่งพัฒนาวงการแพทย์ในไทย รางวัลนี้ยังเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ในการเดินหน้าทำงานเพื่อคนไข้และประเทศชาติต่อไป

ศ.นพ.รังสรรค์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีนี้ ได้ฝากข้อคิดให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า “อย่าท้อถอย อย่าใจร้อน และอย่าเสียเวลากับความผิดหวังนานเกินไป เพราะทุกความสำเร็จมักเริ่มมาจากวิธีการที่ไม่ได้ผล งานวิจัยจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยการวิเคราะห์แก้ปัญหาที่ทำให้ล้มเหลวและนำมาสร้างแผนการวิจัยรอบถัดไปที่ดีขึ้น นอกจากนี้การทำงานเป็นทีม และความอดทนก็เป็นสิ่งสำคัญ กล่าวโดยสรุปสิ่งที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จคือการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และอย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะการล้มคือจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นไปอีกขั้น”

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า