ข่าวสารจุฬาฯ

เวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 21 นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมหาทางออก “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย”

สภาพการณ์ทางสังคมที่เป็นแบบแบ่งขั้ว ส่งผลให้เกิดความรุนแรง มีการคุกคามทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง การสื่อสารตอบโต้กันทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยการใช้คำพูดในลักษณะ Hate Speech  นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้เผยแพร่ความรู้จากที่เกี่ยวข้องร่วมวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบจากการเมืองในปัจจุบัน ในเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 21 เรื่อง “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” เมื่อวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ มีสื่อมวลชนให้ความสนใจมาร่วมงานจำนวนมาก

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาฯ กล่าวเปิดการเสวนาครั้งนี้ โดยกล่าวถึงในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาว่ามีการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาธิปไตย แต่ในเรื่องของความขัดแย้งอันเป็นพื้นฐานทางความคิดยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการจัดเวที   จุฬาฯ เสวนาครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันหาทางออกในการทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย

ศ.ดร.พิรงรอง ให้ข้อมูลว่า ประเด็นทางการเมืองในทุกวันนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวในสังคมไทย บางคนมองต้นทุนทางสังคมไทยเรื่องความเคารพสถาบันหลักในสังคมคือต้นทุนที่ดีงามมายาวนาน บางส่วนมองว่าประชาธิปไตยมีต้นทุนที่มีมายาวนานแต่ถูกทำให้อ่อนแอ (Disrupt) เมื่อมองกันคนละมุมของต้นทุนก็มักจะเกิดความไม่ลงรอยกัน ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดการแสดงออกถึงความเกลียดชังระหว่างคนที่มองจากคนละมุมของต้นทุนค่อนข้างชัดเจน

Hate Speech ไม่ใช่แค่คำสบถหรือว่าคำบริภาษ เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแบ่งแยกด้วยเผ่าพันธุ์ สีผิว ศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมือง มีการนำมาจุดประเด็นความเกลียดชังแล้วก็อ้างอิงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ต้องการในสังคม Hate Speech มีอยู่ 4 ระดับ ผลการวิจัยเมื่อปี 2553 พบว่า Hate Speech ที่ปรากฏในโลกออนไลน์ของสังคมไทย อยู่ในระดับที่ 3 คือการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง แต่ว่ายังไม่ถึงขั้นยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ในปี 2562 ถึงแม้จะยังไม่มีการทำวิจัย แต่ก็สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าในช่วงหลังเลือกตั้ง มีการใช้ Hate Speech บนพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นชัดเจนว่าแตกต่างไปจากช่วงก่อนรัฐประหารปี 2557 คือ Hate Speech จะปรากฏอยู่พร้อมกับ Disinformation กล่าวคือ การกุข่าวและข่าวลวงแต่มีวาระในแง่การสร้างผลกระทบที่ต่อเนื่องต่อมติมหาชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง รวมถึง Post-truth ซึ่งหมายถึง สถานการณ์การเมืองที่ไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงคืออะไร สนใจแค่ความเชื่อของตนเอง เมื่อมีอะไรที่ตรงกับความเชื่อของเราก็พร้อมจะเชื่อ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงอีกต่อไป และอีกสถานการณ์หนึ่งที่สังเกตได้คือ การแลกเปลี่ยนกันในวงล้อมของคนที่คิดเห็นเหมือนกัน ตอกย้ำสิ่งที่เชื่ออยู่แล้วเหมือนกัน ซึ่งในพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่น่าจะเต็มไปด้วยความเห็นที่หลากหลาย แต่ด้วยการเลือกเอาเฉพาะเนื้อหาจากที่เราชอบ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Echo Chamber หรือเสียงเดียวกันที่สะท้อนไปมาแล้วก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ จนกลบเสียงอื่น   ที่เห็นต่างออกไปหมด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ Hate Speech  ทวีความรุนแรงมากขึ้น

คุณปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้ฯ ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นกลางตลอดมา เช่น เรื่องคัดค้านโทษประหารชีวิต การรณรงค์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ฯลฯ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้จะปรับมาใช้กระบวนการรณรงค์ที่สร้างสรรค์ก็ตาม ยังถูกโจมตีและคุกคามโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ด้วยอคติ โดยมองว่าเป็นองค์กรที่เอาแต่ประท้วง ถูกด่าทอ ข่มขู่ วางพวงหรีด โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวจะถูกโจมตีหนักถึงเรื่องเพศด้วย การสร้างข่าวและเพจโจมตี มีเพจล้อเลียนต่างๆ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องความรุนแรงโดยตรง แต่กลายเป็นการชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่ความวิตกกังวล เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนและชี้นำให้เกิดความรุนแรงต่อไปได้

คุณปิยนุช ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันพบมีการทำความรุนแรงทางร่างกายแล้ว 15 ครั้ง โดยล่าสุดเกิดกับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงจากการใช้อคติทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็จะเป็นเช่นเดียวกัน โดยในครึ่งปีเเรกนี้มีการทำร้ายร่างกายเเละข่มขู่นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชนถึง 9 ครั้ง ส่งผลต่อความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ ถูกดึงไปสาดโคลนในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ฯ ไม่เลือกจะโต้ตอบ เพื่อโหมไฟให้ลุกขึ้น แต่พยายามทบทวนวิธีการสื่อสารใหม่ในยุคปัจจุบันแทน

คุณปิยนุช กล่าวว่า เสรีภาพการแสดงออกเป็นเรื่องจำเป็นและเรื่องสำคัญ  ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกิดการดีเบตกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในฐานะองค์กร คือการเคารพสิทธิคนอื่น อย่างกรณีจ่านิว อยากให้เห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา แต่เขาก็ไม่ควรถูกทำร้ายร่างกาย” และหากจับคนผิดไม่ได้ วันหนึ่งเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดกับคนอื่นๆได้ ทำให้สังคมตกอยู่ภายใต้ความกลัวและไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิต เพราะที่ผ่านมามีการทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมหลายครั้งโดยที่ยังไม่สามารถจับคนร้ายได้ ภาครัฐควรเปิดพื้นที่และต้องคุ้มครองการเคลื่อนไหว ตำรวจต้องทำงานอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นไปตามหลักสากลชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติของประชาชน

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง มุ่งร่วมกันแสวงหาความจริง เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกันแม้จะมีหวังเพียงริบหรี่ที่ละลดอคติที่รุนแรงในสังคมได้ แต่ก็ยืนยันในหลักคิดการทำงานที่ว่า “การจุดเทียนดีกว่าก่นด่าความมืด”

        

คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตไม่ว่าจะทางสังคม เศรษฐกิจหรือการเมือง สำหรับองค์กรสื่อสารมวลชนแล้วมี 2 ทางเลือก คือ การรายงานความจริงกับสื่อพยายามฆ่าความจริง จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มาจากสื่อที่ฆ่าความจริง พยายามสร้างเรื่อง หรือ “story” เนื่องจากคนไทยชอบดราม่าหรือเรื่องเล่า แทนที่จะค้นหาความจริง สื่อประเภทนี้มีหน้าที่แค่ส่งต่อข้อมูล หรือ forward mail ทำให้ข่าวที่เป็นวิกฤติถูกลดทอนเป็นแค่เรื่องดรามาที่กระพือไปได้ง่าย

คุณวันชัยชี้ว่า สาเหตุหนึ่งของความเกลียดชังเกิดจากวัฒนธรรมและความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ โดยฟังแล้วต้องเชื่อเลย ปราศจากข้อซักถาม ซึ่งความเป็นจริงเราควรจะฟังความคิดเห็นของทุกๆ คนก่อน ส่วนความเชื่อเป็นเรื่องของเรา สิ่งที่น่าสลดใจไปกว่านั้นคือการไม่ทันฟังก็เชื่อแล้ว อย่างสื่อบางสำนักพาดหัวข่าวกับเนื้อข่าวต่างกัน เมื่อคนเห็นเพียงพาดหัวข่าวก็เชื่อและส่งต่อทางออนไลน์ในทันที ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง จะมีเรื่องเล่าต่างๆ มากมายในโลกโซเชียลเพราะทุกคนพยายามสร้างเรื่องราวต่างๆ เพื่อรองรับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และสื่อเองก็นำข่าวนี้ไปใช้ต่อ

“สื่อมวลชนควรมีหน้าที่กลั่นกรองก่อนให้ข้อมูล รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่มีอำนาจเเละปกป้องผู้ที่อ่อนเเอกว่า เเต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อบางสื่อมีผลประโยชน์เข้ามาครอบงำ และวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นล้วนมาจากผลประโยชน์ ดังนั้นสื่อต้องกรองว่าสิ่งที่ฟังมานั้น มีความน่าเชื่อถือและเป็นข่าวได้หรือไม่ ไม่ใช่ให้ใครครอบงำสื่อ มิฉะนั้นเราจะทำหน้าที่เพียงแค่ส่งข้อมูลผ่านอีเมลเท่านั้น สุดท้ายความน่าเชื่อถือของสื่อคือภูมิคุ้มกันของสื่อเอง ยิ่งแสวงหาข้อเท็จจริงมากเท่าใด สื่อปลอมจะค่อย ๆ หายไป แล้วสามารถทุเลาความรุนแรงในสังคมได้” คุณวันชัย กล่าว

ในกรณีของนายสิรวิชญ์ คุณวันชัยมองว่ามีข้อดีเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะมี Hate Speech แต่ก็ยังมีคนทั้งสองฝ่ายที่มีสติพอที่ออกมาพูดประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เราอยู่ในยุคของสงครามข่าวสาร มีคนในสังคมที่ไม่เลือกข้างได้เเสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและมองว่าเป็นการล้ำเส้น และเป็นปัญหาการก้าวล่วงสิทธิมนุษยชนมากกว่าเรื่องทางการเมือง ทั้งนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นสื่อหลักมีบทบาทที่สามารถเป็นได้ทั้ง “ลม”คอยพัดความเกลียดชังให้กระพือไปไกล และเป็นได้ทั้ง “น้ำ” ที่ช่วยดับไฟให้มอดลง

         

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความขัดเเย้งในสังคมไทยเป็นความขัดเเย้งยืดเยื้อ ในบริบทความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันมาจากบริบทอำนาจเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการรังแกกันง่าย และออกจากกับดักนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในออนไลน์คนจะมีอีกลักษณะหนึ่ง แต่เวลาเจอกันซึ่งมองไปในดวงตาจะมีความเป็นมนุษย์ปรากฏชัด การแสดงความหยาบคายต่อหน้าต่อตาสามารถทำได้แต่ไม่ง่าย ขณะที่ในโลกออนไลน์ปัจจุบันทำได้ง่ายมากและเร็วขึ้น

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงกรณีนายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวที่ถูกทำร้ายร่างกายว่า คนกลุ่มหนึ่งจะเห็นว่าสิรวิชญ์เป็นนักต่อสู้ทางระบอบประชาธิปไตย ควรเป็นฮีโร่เพราะเสียสละ แต่อีกฝ่ายมองว่าพวกนี้รับเงิน ถูกกล่าวหาว่าทำตัวเอง สำหรับตนเห็นว่าทำไมจึงไม่มองเขาว่าเป็นลูกหลานของสังคมคนหนึ่งที่ถูกทำร้าย และเพราะคนเรามีหลายมิติ ในตัวตนคนคนหนึ่งไม่ได้มีเพียงมุมเดียว หากตัดเรื่องความเห็นทางการเมืองออกไป จ่านิวคือลูกหลานของสังคมคนหนึ่งที่ถูกทำร้าย และสิ่งที่เราควรค้นหาคือความจริง เพราะไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายร่างกายกัน หลายครั้งพอเกิดเรื่องแล้วคนเราจะไม่ได้ฟังเหตุผล เพราะอารมณ์ความรู้สึกที่บดบัง  ทุกอย่าง คนเราเห็นบางอย่างก็จะตัดสินใจได้เลยว่าชอบหรือไม่ชอบ ปัจจัยที่ทำให้มีการสุดโต่งเกิดขึ้นมาจากปัจจัยในครอบครัวหรือการรับรู้ซ้ำๆ ที่ทำให้ความเกลียดชังเติบโตขึ้น กลุ่มสุดขั้วที่ชอบความเกลียดชังมีทั่วโลก ในไทยเองหากใครแสดงความเห็นใจคนอีกฝ่ายหนึ่งก็จะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นควรมองคนๆ หนึ่งในหลายมิติ มองเห็นความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะลดทอนความเกลียดชังต่อกันลงได้

“หากทุกคนมองว่าความเกลียดชังคือยาพิษ ก็ควรช่วยกันแก้เเละศึกษาการหยุดเเพร่ระบาดความเกลียดนี้เพราะความเกลียดมีคุณสมบัติพิเศษที่ส่งต่อผ่านกันได้ เเพร่ต่อๆ กันได้เรื่อยๆ ทำให้สายสัมพันธ์ในสังคมกร่อนไปได้ทุกที หากสังคมลดความหยาบคายที่แสดงต่อคนที่คิดต่างได้ ปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพชน ให้เกียรติกัน มองให้เห็นความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งที่มีหลายมิติ จะช่วยทุเลาความเกลียดชังที่มีต่อกันได้”ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

         

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ  ให้ข้อมูลว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดปรากฎการณ์เสื้อสี พบว่าความขัดแย้งและความรุนเเรง เริ่มจากการโต้เถียงทางวาจา ขัดแย้ง มีการโต้ตอบกันด้วยภาษาที่รุนแรง ซึ่งยอมรับได้ในระดับการเมือง ต่อมาเป็นการทำร้ายร่างกายคนที่เห็นต่าง ระยะหลังพบว่าเริ่มมีแบบแผนของการทำร้ายมากขึ้น รูปแบบที่กำลังเริ่มจะเกิดขึ้นคือในบางประเทศถึงขั้นมีบัตรอนุญาตให้ทำร้ายร่างกายได้ หากเกิดขึ้นจริงถือว่าอันตรายมาก ความเกลียดเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่เหตุผล แต่เกิดจากประสบการณ์จริงก็ได้ เช่น โดนตีเรื่อย ๆ ก็เกลียด มีคนประท้วง ทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดความหวั่นไหว แต่ความเกลียดเนื่องจากความรู้สึกกลัวถูกคุกคาม อาจมาจากจินตนาการหรือมายาคติประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลากหลายในสังคม เช่น ทำให้เรารู้สึกกลัวผี หรือทำให้เรารู้สึกมีความไม่มั่นคงบางอย่าง กลัวสูญเสียสถาบันที่เคยมีมา ถูกสร้างขึ้นมาทำให้หวาดระแวงวิตก     สิ่งเหล่านี้สามารถส่งทอดกันได้

รศ.ดร.ฉันทนา ชี้ว่า กระบวนการแก้ไขความขัดเเย้งต้องใช้ “ยาดำ” 4 ชนิด คือ 1.ต้องไม่ใช้ความรุนแรง 2. สร้างความไว้วางใจ 3.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการ  4.มีความอดทนอดกลั้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขความขัดแย้ง เพราะเราอยู่ในสถานการณ์นี้มากว่า 10 ปี ซึ่งเกิดขึ้นจากการไม่สามารถทนได้จากความเห็นที่แตกต่างไปจากตัวเองหรือสังคมหรือเรียกว่าความเกลียดก็ได้ ความอดทนเป็นปัจจัยลดความขัดเเย้งที่น่าสนใจเพราะยิ่งในสังคมที่มีความหลากหลายมาก หากเริ่มไม่อดทนกับความเห็นต่างก็อาจจะเกิดความขัดเเย้งได้ง่าย

 

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า