ข่าวสารจุฬาฯ

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ร่วมกับ สสส. มอบรางวัลเชิดชู 11 องค์กรต้นแบบสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) โดยความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลเชิดชู 11 องค์กรดีเด่นที่เป็นต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้กับพนักงาน ภายใต้รางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 ณ หอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการดูแลสุขภาวะทางจิตของบุคลากรในองค์กรไทย ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และการดำเนินงานโครงการ จากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลสำหรับสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)และมอบรางวัลสำหรับองค์กรที่มีความโดดเด่นในมิติต่างๆ ของสุขภาวะ (The Honorable Mention Awards) ปิดท้ายด้วยการบรรยายเรื่อง การดูแลสุขภาวะของบุคลากรจุฬาฯ โดย ศ.ดร.คณพล จันทร์หอม รองอธิการบดีจุฬาฯ  และการเสวนาแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมขององค์กรที่ได้รับรางวัลโดยผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัล

องค์กรที่ได้รับรางวัล Thai Mind Awards ประกอบด้วย

               – รางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (The Excellence in Thai Mind Awards)  5 องค์กร ได้แก่  บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอไอเอ ประเทศไทย บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาปราจีนบุรี บริษัทยีอี เมดิคอล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และโรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา     

               – รางวัลพิเศษ (The Honorable Mention Awards) สำหรับองค์กรที่มีความโดดเด่นในมิติต่าง ๆ ของ GRACE 6 องค์กร ได้แก่  ดิ แอสเพนทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ บริษัท เอเอ็นซี โบรเกอเรจ จำกัด บริษัท ซีเมนส์ เฮลธ์แคร์ จำกัด  บริษัท ทีดีซีเอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด และ บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด (ในนามของ PASAYA)

               โครงการ “Thai Mind Awards” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) โดยความสนับสนุนของ สสส. ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตดีเด่น เพื่อเฟ้นหาและเชิดชูองค์กรต้นแบบสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้กับพนักงาน โดยมีเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 5 ด้าน ที่เรียกว่า “GRACE” ประกอบไปด้วย G = Growth & Development หรือการสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน R = Recognition หรือการแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน A = All for inclusion หรือการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน C = Care for health & safety หรือการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และ E = work-life Enrichment หรือการมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อมุ่งหวังที่จะผลักดันให้องค์กรในทุกระดับเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้กับพนักงาน

              ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) โดยความสนับสนุนของ สสส. เปิดตัวโครงการ “Thai Mind Awards” เพื่อยกระดับสุขภาวะจิตใจของคนไทย โดยเน้นการส่งเสริมสภาวะจิตที่ดีซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม บทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเพียงการมอบความรู้ ทางวิชาการ แต่ยังรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิตซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้โครงการ “Thai Mind Awards” ยังมีเป้าหมายในการสร้างแรงบันดาลใจและยกย่ององค์กรที่เป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาวะจิตใจของบุคลากร ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการสร้างพลังใจควบคู่กับพลังกาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาศักยภาพของคนไทย รวมทั้งยังถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่การพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน

              นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่าปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตเป็นภัยคุกคามต่อคนทำงาน ตลอดจนศักยภาพในการทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประเด็นสุขภาวะทางจิตในการทำงานจึงเป็นเรื่องที่คนทุกคนและทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดูแล รางวัล Thai Mind Awards จึงเป็นเสมือนการสร้างองค์กรต้นแบบด้านการดูแลสุขภาวะพนักงานให้แก่สังคมไทย เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการพัฒนาสุขภาวะของคนทำงาน

              ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า การจัดงานมอบรางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ให้กับทั้ง 11 องค์กรในครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้เพื่อดูแลสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานทุกองค์กรได้ต่อไป

              ตัวแทนจาก 5 สุดยอดองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ได้กล่าวถึงแนวทางขององค์กรในการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาวะทางจิต ดังนี้  

               นายเกรียงไกร อยู่ยืน Executive Vice President – People Director บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นฐานที่องค์กรของตนให้กับพนักงานทุกคนคือ Mindfulness in organization หรือการพัฒนาสติของคนในองค์กร โดยมุ่งเน้นให้พนักงานทุกระดับนำเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพัฒนาสติไปปรับใช้กับพนักงานทุกคนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสนใจของแต่ละคน

               นางศรัณยา เทียนถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการที่พนักงานมีสุขภาพใจที่ดี สุขภาพกายก็จะดีด้วย องค์กรของตนจึงมีโปรแกรมที่เรียกว่า Own your Mental Health โดยผสมผสานการทำกิจกรรมร่วมกัน การเชิญวิทยากรเข้ามาให้ความรู้ การเสนอทางออกต่าง ๆ ให้กับพนักงาน รวมถึงมีการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตให้กับพนักงานในองค์กร

               ดร.ไสว เชื้อสาวะถี Managing Director โรงงาน Western Digital ปราจีนบุรี กล่าวว่า โรงงานของตนให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเท่าเทียมกันภายในองค์กร โดยต้องการสร้างโรงงานให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คนมาทำงานอย่างมีความสุข ดังนั้น พนักงานในทุกระดับสามารถเข้ามานั่งพูดคุยเพื่อให้ feedback การทำงานได้อย่างเปิดเผยกับผู้บริหารทุกคนในทุกระดับเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

               น.ส.เทพสินี สันธนะลักษณ์ HR Manager ของ GE HealthCare กล่าวว่า องค์กรให้ความสำคัญกับคำว่า Care เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Self-care (การใส่ใจดูแลตัวเอง) ผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า Employee Assistance Program​ (EAP) โดยเปิดสาย Hotline ให้พนักงานรวมถึงคนในครอบครัวสามารถโทรมาปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงคำว่า Psychological Safety (ความปลอดภัยทางจิตใจในการทำงาน) โดยทำให้องค์กรเป็นสถานที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่คิดหรือพูดในสิ่งที่แตกต่างได้ โดยจะไม่มีการต่อว่าตำหนิกัน น.สพ.วิกรม เจตนาวณิชย์Cheif People Officer โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลส่งเสริมให้พนักงานทำการจดบันทึกเรื่องราว ผ่านสมุดบันทึกเหตุการณ์ที่เรียกว่า Growth book โดยระบุถึงเป้าหมายและกระบวนการทำงานในแต่ละเดือน เพื่อให้ผู้บริหารโรงพยาบาลสามารถเข้าใจถึงอุปสรรคและข้อจำกัดในการไปถึงเป้าหมายในชีวิตของพนักงาน และให้การสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า