ข่าวสารจุฬาฯ

รศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 2568 กับงานวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุโรปศึกษา

            รศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยที่โดดเด่นทางด้านยุโรปศึกษา ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความรู้ใหม่ แต่ยังนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงนโยบาย เช่น การเสนอแนะแนวทางการเปิดตลาดใหม่ในยุโรป การวางกลยุทธ์การทูตสาธารณะ และการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง


            รศ.ดร.ณัฐนันท์ เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจและเส้นทางสู่ความสำเร็จในงานวิจัยว่า “งานวิจัยเปรียบเสมือนการเติมเต็มอาจารย์ให้เป็นนักวิชาการอย่างแท้จริง งานวิจัยทำให้เป็นนักวิชาการที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่เพียงช่วยพัฒนาตนเอง แต่ยังสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ”

            จุดเริ่มต้นของความสนใจในการวิจัยด้านยุโรปศึกษาเกิดขึ้นจากความต้องการเติมเต็มช่องว่างทางข้อมูลที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์และเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่มักมาจากประเทศในยุโรปตะวันตก เพื่อทำความเข้าใจว่าประเทศเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้นตรงกับทฤษฎีที่เราเรียนรู้มาหรือไม่ ซึ่งภาครัฐไทยยังขาดองค์ความรู้ในประเด็นนี้

            ในการดำเนินงานวิจัย รศ.ดร.ณัฐนันท์ ยึดหลักการสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

            มโนธรรมและจริยธรรมในงานวิจัย
            หลักการสำคัญที่อาจารย์ยึดมั่นคือการมีมโนธรรมในงานวิจัย อาจารย์อยู่ในหมวดของสังคมศาสตร์ซึ่งแตกต่างจากศาสตร์อื่นที่มีการทดลองในห้องปฏิบัติการ งานวิจัยในศาสตร์นี้จึงต้องเผชิญความท้าทายในการเลือกตัวแปรที่ปราศจากอคติให้มากที่สุด และการปฏิบัติตามจริยธรรมการวิจัย (Research Ethics) อย่างเคร่งครัด ไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น

            ทำสิ่งที่สนใจและถนัด
            รศ.ดร.ณัฐนันท์ เน้นถึงความสำคัญของการเลือกทำเรื่องที่ตนสนใจและมีความถนัด เช่น การศึกษายุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป (EU) ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยงานวิจัยดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ Green Transition (การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) Sustainable Ocean Management (การจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน) และ Human Security (ความมั่นคงมนุษย์) ซึ่งประเด็นเหล่านี้สะท้อนถึงความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยังสนับสนุนพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            การเคารพแหล่งข้อมูล
            รศ.ดร.ณัฐนันท์ ย้ำถึงความสำคัญของความรับผิดชอบในงานวิจัย โดยเฉพาะการเคารพผู้ให้ข้อมูล ปกปิดความลับกลุ่มตัวอย่าง การขอรับพิจารณาจริยธรรมการวิจัย (IRB) เพื่อรับรองว่าการดำเนินงานวิจัยเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และปฏิบัติต่อแหล่งข้อมูลด้วยความเคารพ เพื่อให้งานวิจัยมีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ในระยะยาว


            ผลงานวิจัยที่โดดเด่นของ รศ.ดร.ณัฐนันท์ ได้แก่ งานวิจัยสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปและเบร็กซิท, โครงการศึกษากลยุทธ์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศในรูปแบบของการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) สำหรับการขับเคลื่อนท่าทีไทยต่อประเทศมหาอำนาจและสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับนานาประเทศ เสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ, งานวิจัยข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ของไทยต่อสหภาพยุโรป สถาบันเอเชียศึกษา เสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และงานวิจัยข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ของไทยต่อรัสเซีย สถาบันเอเชียศึกษา เสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ

            รศ.ดร.ณัฐนันท์ ยังได้รับเกียรติเป็นศาสตราภิชานด้านยุโรปศึกษาเพียงหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากรัฐบาลฝรั่งเศส สิ่งเหล่านี้ยืนยันถึงคุณค่าของงานวิจัยที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสังคม แต่ยังสร้างความภูมิใจให้กับประเทศชาติ

            สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ รศ.ดร.ณัฐนันท์ แนะนำว่า “ควรเลือกหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจอย่างแท้จริง เพราะการวิจัยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน หากไม่ใช่เรื่องที่เราชอบหรือไม่ถนัด อาจทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้” อาจารย์ยังเน้นว่า งานวิจัยไม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีที่ซับซ้อน แต่ควรเป็นงานที่นำไปสู่การสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนในหลายภาคส่วน

            ท้ายที่สุด สำหรับผู้สนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุโรปศึกษา อาจารย์แนะนำให้ติดตามข้อมูลจากแพลตฟอร์มทางการเพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เลือกติดตามนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างผลกระทบในวงการวิชาการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมุมมองที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันในการต่อยอดความรู้งานวิจัยที่มีคุณค่า ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติ


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า